Skip to main content

เมื่อวันที่11 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์สามัญชน ร่วมกับ PYE Space Phayao จัดกิจกรรมบรรยาย และเสวนาในหัวข้อ "Artistic Activist & Resistance" ปฏิบัติการทางศิลปะแห่งการต่อต้าน และสัญญะทางการเมืองในยุคเผด็จการซ่อนรูป

วิทยากรหลัก ได้แก่ ถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์และนักเคลื่อนไหวทางศิลปะ และร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนกับศิลปินและนักวิชาการทางด้านศิลปะ
และมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, ธีระวัฒน์ มุลวิไล ศิลปินศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม B-Floor Theatre, ผศ.อาจิณ โจนาธาน อาจิณกิจ ศิลปินและนักวิชาการศิลปะ, Alex Wang ศิลปินและนักวิชาการศิลปะ

โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์สามัญชน Live in Phayao และโครงการ Phayao Arts & Creative Festival

 

"Artistic Activist & Resistance" ในมุมมองต่างๆ

ถนอม กล่าวถึง "Artistic Activist & Resistance"  หรือ "ปฏิบัติการทางศิลปะแห่งการต่อต้าน" ว่าไม่ใช่เรื่องที่ใหม่เพราะมีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณแล้ว ชนชั้นนำของกรีกพยายามอธิบายงานช่าง หรืองานศิลปะต่างๆ ด้วยความงาม ขณะที่คนที่เข้าไปเป็นพลเมืองได้ก็ต้องเรียนศิลปศาสตร์ ประชาชนส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงเกิดแนวคิด “สุนทรียสามัญชน” เหมือนกับทุกวันนี้ คนที่จะเข้าขบวนการณ์ศิลปะได้ ก็ต้องเรียน

“การต่อสู้แบบนี้มันมีมาตลอดแต่ก็ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ซึ่งตอนนี้เรากำลังสู้กับเผด็จการซ่อนรูป คำว่าactistic ไม่ได้หมายถึงศิลปิน ในโลกของการปฎิบัติการณ์ การเคลื่อนไหวต่อต้าน การที่ประชาชนเขียนป้ายด่า ประชดประชัน นี้ล่ะคือการปฎิบัติการณ์ต่อต้านจริงๆ” 

ถนอมกล่าวเพิ่มเติมว่า การต่อต้านของสามัญชน สิ่งแรกคือด้วยความที่คณะเผด็จการคิดว่าพวกมันเป็นของสูง การทำให้พวกมันอับอาย พวกมันจะคิดว่าเป็นการลบหลู่ และไม่อยากให้สามัญชนทำยังงั้น ประเด็นต่อมาคือการผลิตซ้ำ กล่าวคือช่วงปี 2530 เป็นต้นมา จะเห็น หมอลำ ลิเก มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์น้อยมาก เพราะถูกเซนเซอร์โดยภาครัฐ ประเด็นที่สามคือการทำลายรูปแบบที่ชาติพยายามบูรณาการณ์ให้เป็นศิลปะของชาติถนอมยกตัวอย่างของการต่อต้านในเชิงศิลปะบนท้องถนน เช่นการที่ชาวพะเยาเขียนภาษาล้านนา คนทั่วไปอาจจะมองถึงการสื่อสารที่จะต้องอ่านให้รู้เรื่องแต่เจตนาจริงๆของการเขียนภาษาล้านนาในแง่ของจิตวิทยาคือการไม่ใช้ภาษาไทย  


บัณฑิต กล่าวว่า สมัยก่อนโลกของศิลปะและโลกของการเมืองจะถูกแยกออกจากกัน ต่างจากปัจจุบันที่โลกทั้งสองอย่างรวมกัน ในประเทศไทย คนบางกลุ่มมองว่าศิลปะคือความงาม ความบริสุทธ์ เท่ากับว่าเป็นการจำกัดศิลปะไว้ในที่ที่เดียว ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ กล่าวเป็นอะไรที่นับเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่มีมูลค่า ก็เข้าไปในอาณาบริเวณศิลปะไม่ได้ การกีดกัดแบบนี้ ในทางรัฐศาสตร์เรียกว่า “การเมือง” กล่าวคือการไม่ลงรอยกัน การเห็นต่างกันคือจุดเริ่มต้นของ “การเมือง”

นาทีที่เราเอาศิลปะไปใส่ในอาณาบริเวณของคำว่า ความดี ความงาม นั้นก็คือ “การเมือง” แบบหนึ่ง เพราะคุณพยายามดันสิ่งเหล่านั้นให้อยู่นอกเหนือการวิพากท์วิจารณ์ ไปลบหลู่ไม่ได้ เหมือนที่กระทรวงวัฒนธรรมระบุว่าศิลปินแห่งชาติต้องประพฤติตัวแบบนี้ แล้วถ้าคุณเบี่ยงเบนจากสิ่งที่กำหนดไว้ คุณจะถูกจับไปกองอีกที่หนึ่ง มันทำให้เราเห็นว่าคุณไม่มีทางแยกสิ่งที่เรียกว่า การเมืองและศิลปะได้เด็ดขาด

“การที่คุณบอกว่า ศิลปะที่ทำในที่ประท้วงมันไม่ใช่ศิลปะ มันด้อยค่า มันไม่ได้ทำโดยศิลปิน มันหมดยุคไปแล้ว” บัณฑิตกล่าวทิ้งท้ายในช่วงแรก

 

อาจิณ กล่าวเพิ่มเติมจากถนอมว่า อาจารย์กับศิลปินเป็นกลุ่มเดียวกันทำให้เราไม่สามารถทำอะไรได้เลย โดยเฉพาะวันที่รัฐไม่ได้เข้าข้างเรา รวมไปถึงศิลปะรอบนอกกรุงเทพที่ไม่ได้บอกว่า “เราเป็นไทย” ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเข้าใจ เข้ามาเคลื่อนไหวแล้วมีแรงกระทบมาก อย่างโปสเตอร์ของกลุ่มนักจัดกิจกรรมต่าง เห็นภาษาถิ่น หมอลำ เพลงแปลง ซึ่งไม่เคยมีแบบนี้ในกลุ่ม กปปส. ซึ่งเป็นม็อบคนเมือง มันเป็นการแสดงออกของกลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อย รวมไปถึงกลุ่มพระ, LGBT หรือกลุ่มแรงงาน ซึ่งเราไม่เคยเจอมาก่อน โดยในม็อบช่วงหลัง เราจะเจอวัฒนธรรมท้องถิ่นจากภาคต่างๆมากมาย มันเป็นสิ่งที่เราแสดงออกยังไงก็ได้ที่เป็นตัวเรา โดยที่คนอาจจะไม่ได้สนใจด้วยว่าเป็นศิลปะหรือไม่ 

อาจิณ ตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงเวลาที่สถานการณ์บ้านเมืองปกติ เราไม่มีพื้นที่สำหรับแสดงศิลปะแบบนี้ มันไม่ใช่แค่เรื่องงานศิลปะปะทะกันทางความคิด สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะหลัง กลุ่มศิลปิน กลุ่มคนที่สนับสนุนมีความกล้าหาญมากขึ้น กล้าที่จะแสดงผลงานออกมา อาจเป็นเพราะเรามองเห็นเหมือนกันว่า ต้องมีพื้นที่ให้กลุ่มศิลปินในการแสดงออก หลังปี 2557 มีการเซนเซอร์งานศิลปะ กลายเป็นว่าพื้นที่ในการแสดงศิลปะไม่ปลอดภัย ทั้งภาพยนตร์ งานศิลปะต่างๆ ต่างถูกห้ามไม่ให้ฉายหรือถูกยึด จึงมองว่า ควรจะมีอาร์ตแกลลอรี่ หรือโรงหนัง ที่สนับสนุนรูปแบบการทำงานของศิลปินในรูปแบบต่างๆ 

อาจิณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่มีวิธีไหนที่งานศิลปะต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองจะอยู่ได้จนกว่ามันจะ “โด่งดัง” ตราบใดที่คนในประเทศยังมีความขัดแย้งและยังเห็นว่างานศิลปะแบบนี้เกื้อหนุนอำนาจเฉพาะฝ่าย ยังไงศิลปินก็ยังลำบาก อะไรก็ตามที่ทำให้ผลงานมันโด่งดังได้ มันมีความจำเป็นมากๆที่เราจะต้องผลักดันกัน

 

ธีระวัฒน์ กล่าวถึงการทำงานในระบบที่ถูกรัฐกำหนดไว้ ที่ถูกตีกรอบที่เราจะต้องสรรเสริญเขาคนนั้น ในภายหลังจึงต้องออกมาเพราะมันไม่เป็นการซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ถึงแม้ว่าจะทำให้เรามีกินมีใช้ ธีระวัฒน์กล่าวยกตัวอย่างของศิลปิน นักจัดละครของอินโดนิเซียที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมการทำงาน ทำให้พวกเขาต้องจัดการแสดงนอกโรงละคร รวมไปถึงแปลงบทพูดให้ดูไม่มีอะไรแต่ การแสดงออกทางกายภาพเป็นการด่าหรือวิจารณ์ จากละครที่เคยมีบทกลายเป็นการแสดงละครโดยใช้การใช้การเคลื่อนไหว ท่าทางในการสื่อสารมากขึ้น อย่างไรก็ตามศิลปะมันเป็นตัวระบายอย่างหนึ่ง เช่นปรากฏการณ์ทะลุแก็ส ที่มีคนจุดพลุ มีการต่อต้านโดยใช้การโต้กลับ ในภาพมันดูสวยแต่มันก็ยังเป็นภาพของการต่อต้าน แต่ยังใดก็ตาม สิ่งที่สำคัฐสำหรับศิลปะก็คือพื้นที่ในการแสดง การที่ศิลปินหลายๆกลุ่มเข้าไปใช้พื้นที่นั้นๆ มันเป็นการบ่มเพาะความคิดหรือแนวคิดต่างๆ การทำงานแต่ละชิ้น มันจะสร้างมุมมองใหม่ในการนำเสนอด้วย ช่วงการเคลื่อนไหวแรกๆ มีการใช้สื่อ ศิลปิน หลายๆอย่างเพื่อเอามาล้อเลียน, ท้าทาย 

ธีระวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แล้วศิลปะเพื่อการต่อต้านมันจะอยู่ได้ไหม ในแง่ของรายได้ ศิลปะที่เป็นการละครมักไม่ค่อยจะได้ออกไปนอกประเทศเลย แต่เราจะเห็นแต่ศิลปะในเชิงวัฒนธรรมที่มีคนสนับสนุน 

 

หลังจากที่ผู้ร่วมเสวนาทั้ง 4 คนได้พูดถึงแนวคิดของการต่อต้านด้วยศิลปะแล้ว ผู้ดำเนินรายการได้ถามคำถามแบบเจาะจงถึงผู้ร่วมเสวนาทั้งสี่คน

การศึกษาศิลปะในไทยควรมีทิศทางอย่างใด จะทำยังไงให้มันอยู่รอดในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต

ถนอม กล่าวว่าเขาใช้แนวคิดของสแกนดิเนเวียในลักษณะของการทำกิจกรรมควบคู่ไปกับการปฏิบัติด้วย ด้วยความที่ว่าลักษณะสังคมที่แตกกระจาย มีความซับซ้อนในตัวเอง โดยถนอมยกตัวอย่างของผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่งที่เดินทางมาจากพระประแดงแล้วมาอาศัยอยู่ย่านแฟลชดินแดง จนเกิดเป็นมิตรภาพในชุมชนดินแดง กล่าวคือลักษณะของการทำกิจกรรมควบคู่ไปกับการปฏิบัติ คือการเข้าไปในพื้นที่ เข้าไปเข้าใจกลุ่มคนในพื้นที่ ซึ่งเมื่อโลกศิลปะมันเปลี่ยน ความเป็นศิลปะมันหายไป บริบทที่จะมารองรับความรู้ไม่ได้มีแค่เรื่องของศิลปะ มันมีทั้งเรื่องของสังคมวิทยา มานุษยวิทยา วัฒนธรรมศึกษา การเข้าไปในพื้นที่จะช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้น ทำให้ได้แนวคิดในเชิงความรู้สึกร่วม

สิ่งสำคัญที่สุดคือสถาบันศิลปะต้องเข้าใจกระบวนการตีความหมาย แปลความหมายให้ได้ ถูกต้องที่ว่าการรู้ทักษะเป็นพื้นฐานแต่การเปิดโลกเพื่อให้เข้าใจ เพื่อตีความให้ได้ เป็นการขับเคลื่อนตัวเองด้วย เพราะฉะนั้นวิธีการคิดแบบทำกิจกรรมควบคู่ไปกับการปฏิบัติและแนวคิดในเชิงความรู้สึกร่วมจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

ความเป็นรัฐศาสตร์กับศิลปกรรมมีความเชื่อมโยงกันได้ยังไง

บัณฑิต กล่าวถึง การเมืองทัศนา เป็นที่แน่นอนว่านักรัฐศาสตร์สนใจการเมืองในมิติต่างๆที่ถูกซ่อนเอาไว้ ศิลปะได้ประโยชน์หรือประเด็นจากที่กล่าวไว้ว่าอาณาบริเวณมันซ้อนทับกันหมด ทุกสิ่งมีการเชื่อมโยงกันโดยตรง เมื่อศิลปินมองออกมารอบตัวเอง ทำให้ศิลปะของคนนั้นมีความหลากหลาย มีความสัมพันธ์กับคนในโลก การที่คุณบอกว่าคุณหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง คิดค้นด้วยตัวเองมันไม่มีแล้วในยุคนี้ ศิลปินยุคนี้สัมพันธ์กับโลกให้มากขึ้น เพราะฉะนั้นประโยชน์ที่ได้จากการเรียนรู้เรื่องราวทางการเมือง ก็เพื่อทำให้ศิลปินตระหนักเรื่องความละเอียดอ่อนในการนำเสนองานมากขึ้น  เพราะในยุคนี้มีหลายประเด็นที่ค่อนข้างเปราะบาง เรื่องของความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ ความถูกต้องทางวัฒนธรรม เรื่องชาติพันธุ์ ต้องอาศัยความรู้ประเภทนี้

งานที่เกี่ยวข้องกับการเมืองจะมีทางไปได้อย่างไรสำหรับคนที่ทำงานประเภทนี้

อาจิณ กล่าวถึงสภาวะปัจจุบันที่หลักสูตรทางศิลปะไม่สามรถที่จะยืนโดดเดี่ยวในแง่ของทักษะอย่างเดียวได้ จำเป็นต้องมีความรู้องค์อื่นๆ ซึ่งการทำหลักสูตรแบนี้มันทำได้ยากมาก แต่ถึงแม้ว่าจะเขียนหลักสูตรดีแค่ไหน จิตสำนึกของอาจารย์ผู้สอนเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลิตศิลปินที่ดี อะไรที่เป็นแบบอย่างในความเป็นระบบการศึกษา ช่วยให้เห็นว่าปฏิบัติแบบนี้ได้

ถ้าพูดถึงพื้นที่ทางศิลปะเรายังไม่มีประวัติศาสตร์ของตัวเองในลักษณะเจาะจงทางพื้นที่หรือที่เกิดขึ้นผ่านทางสังคม, บริบททางการเมือง, ศิลปวัฒนธรรม หากย้อนไปดูการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์ เราจะเห็นการสร้างผลงานจากหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก มันไม่ใช่การทำงานจากบริบททางสังคมเหมือนทุกวันนี้ 

ผศ.อาจิณ มองว่า สิ่งที่จะต้องเปลี่ยนคือต้องมองความเป็นท้องถิ่น ร่วมสมัยมากขึ้นเพื่อให้วิธีคิดของคนทำงานศิลปะเปลี่ยนไปจากเดิมที่เน้นแค่ทักษะ ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางศิลปะตรงที่วิธีคิดส่วนใหญ่ก็มาจากวิธีคิดของสถาบันศิลปะแบบนี้ กลายเป็นว่าศิลปะที่พูดถึงการวิจารณ์ของการเมืองหรือขนมธรรมเนียมต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นหรือช้ามาก พองานพวกนี้ไม่เกิดขึ้น ศิลปินที่แสดงงานพวกนี้ก็กลายเป็นคนกลุ่มน้อย ดูแปลกแยกในสังคม เมื่อมันไม่ดัง มันก็อยู่ต่อได้ยาก  ไอเดียของศิลปะคือมันต้องวิพากษ์วิจารณ์ สภาพสังคมได้ ฉะนั้นหากเรายอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ จะทำให้โมเดลด้านธุรกิจมันทำได้ ไปต่อได้ 

 

ด้านธีระวัฒน์ กล่าวถึงการทำละครหน้ากากที่ปกปิดตัวตนและงานสามารถแสดงได้ ทำให้คนกล้าที่จะแสดง พอผ่านไปช่วงหนึ่ง คนเริ่มกล้าที่จะเปิดเผยตัวตนออกมา ความกลัวถูกทำลายจากการเคลื่อนไหวของมวลชน การแสดงงานชิ้นหนึ่ง มองในฐานะผู้กำกับมันก็คือเผด็จการดีๆ นี่เอง สั่งให้ทำอย่างงั้นสิ ทำอย่างงี้สิ ตามที่ผู้กำกับต้องการ 

ดังนั้นการทำงานเอง เราก็อยากจำลองความประชาธิปไตยในเนื้องานด้วย แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันในทีม ดังนั้นตัวงานมันก็เริ่มจากศิลปะแบบนี้ล่ะ แชร์กัน ถกเถียงกันเพื่อหาสิ่งที่ดี และเหมาะสม เป็นกระบวนการที่ทำให้เราคิดมากขึ้น วิพากษ์วิจารณ์กัน และกันได้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวหรือออกไปท้องถนน ก็ต้องการส่วนร่วม การมีส่วนร่วมมันสร้างอารมณ์ร่วมอยู่แล้ว นี้คือศิลปะที่จะช่วยให้คนระบายออกมาได้ แต่ระหว่างทางมันคือการมีส่วนร่วม