Skip to main content

เก็บตกคลับเฮาส์ ร้านหนังสือ - แกลลอรี่ : แนวรบทางเลือกของการเมืองภาคสามัญชน

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์สามัญชนจัดคลับเฮาส์ชวนเจ้าของแกลลอรี่ และร้านหนังสืออิสระที่เคยเป็นเจ้าภาพจัดนิทรรศการให้เราเพื่อถอดบทเรียนนิทรรศการของเรา ทั้งการคิดไอเดียกิจกรรม การเตรียมการ การจัดการ และการรับมือกับเจ้าหน้าที่รัฐที่คอยมาติดตามกิจกรรมในแต่ละร้าน รวมถึงชวนมองอนาคตของร้านหนังสือ และแกลลอรี่ในฐานะพื้นที่สาธารณะ public space ในการพูดคุย แสดงออก หรือจัดกิจกรรมในประเด็นทางสังคม และการเมือง และร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางจากผู้ประกอบการให้แกลลอรี่ หรือร้านหนังสือเล็กๆ เหล่านี้ว่ามีช่องทางสนับสนุนให้พวกเขาอยู่รอดได้อย่างไร 

โดยมีผู้ร่วมสนทนาได้แก่ ปวินท์ ระมิงวงศ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยพะเยา จาก PYE Space พะเยา, อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ จาก Many Cuts Art Space  ฉะเชิงเทรา และ วีรวรรธน์ สมนึก จาก Abdul Book  ขอนแก่น โดยมี  ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw เป็นคนชวนคุย

 

แรงบันดาลใจของการเปิดแกลลอรี่ และร้านหนังสืออิสระของแต่ละคน? 

ปวินท์ ระมิงวงศ์ (อ.ปวินท์) เจ้าของ PYE Space แกลลอรี่อิสระในจังหวัดพะเยา แรงบันดาลใจในการเปิดแกลลอรี่ของเขาว่า ต้องการพื้นที่สำหรับจัดแสดงงานศิลปะของลูกศิษย์ของเขา เนื่องจากในพะเยาไม่มีพื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงาน เขาจึงปรับปรุงพื้นที่ของบ้านพักส่วนหนึ่งเป็นแกลลอรี่เพื่อให้ลูกศิษย์ หลังจากนั้นจึงเห็นว่างานหลายๆ ชิ้นมีคุณค่าที่จะเก็บรักษาไว้

ก่อนหน้านี้ อ.ปวินท์ อาจจะไม่ได้สนใจประเด็นการเมืองมากนัก จนกระทั่งได้ศึกษา visual culture และสัญญะต่างๆ ทำให้รู้สึกว่าตนเองถูกปลูกฝังให้เพิกเฉยต่อสถานการณ์การเมือง ในช่วงที่ย้ายแกลลอรี่ มีศิลปินมาร่วมจัดกิจกรรม บางกิจกรรมพูดถึงการเมือง และประเด็นอ่อนไหวในสังคม ทำให้อาจารย์ปวินหันมาสนใจศิลปะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง และคิดว่าอยากใช้พื้นที่ในแกลลอรี่จัดแสดงงานทางการเมืองบ้าง

ขณะที่ อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ (อ.โจ) เจ้าของ Many Cults Art Space แกลลอรี่อิสระ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีแรงบันดาลใจคล้ายกับอ.ปวินท์ คือต้องการให้ลูกศิษย์มีพื้นที่จัดแสดงงาน และงานบางชิ้นก็ไม่สามารถนำไปจัดแสดงในพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้าหรือหอศิลป์ได้ อาจารย์จึงอยากให้นักศึกษามีพื้นที่แสดงออก รวมถึงได้เห็นงานศิลปะอื่นๆที่น่าสนใจ

อ.โจ คิดว่าอาร์ทแกลลอรี่เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย ช่วงแรกคนในบริเวณรอบข้างยังไม่เข้าใจการมีอยู่ของแกลลอรี่อิสระ ทำให้ไม่ค่อยมีคนเข้าชมนิทรรศการ ต่อมากลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ในฉะเชิงเทรามีมากขึ้น แต่ไม่มีพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนหรือแสดงนิทรรศการ อาร์ทสเปซจึงสามารถเป็นพื้นที่ให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้ร่วมแสดงนิทรรศการในบ้านเกิดของตัวเอง

นอกจากอ.โจจะสนใจประเด็นศิลปะในท้องถิ่นแล้ว ยังสนใจประเด็นร่วมสมัยทางสังคม และวิกฤตทางการเมือง เช่นเรื่องเพศ การเกณฑ์ทหาร สถาบันอีกด้วย ซึ่ง อ.โจ ก็ตั้งใจให้ Many Cults Art Space เป็นสถานที่ที่ผู้คนสามารถพูดคุยประเด็นเหล่านี้ได้

คุณวีรวรรธน์ สมนึก (แนค) เจ้าของร้าน  Abdul Book จังหวัดขอนแก่น ได้เล่าถึงที่มาของการเปิดร้านหนังสืออิสระที่ไม่ได้มีจุดประสงค์แค่ขายหนังสือเอาไว้ว่า ความเข้าใจแรก ของการมีร้านหนังสือในเมืองก็คือร้านหนังสือแบบเรียน ที่อาจพ่วง หนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารแปลกๆบ้าง พอโตขึ้นมาถึงรู้ว่า ร้านหนังสือมันมีอะไรมากกว่าการขายหนังสือก็ได้ รวมถึงยังสามารถใช้เป็นที่จัดงานเสวนาประเด็นที่สังคมกำลังสนใจ  หรือฉายภาพยนต์เกี่ยวกับประเด็นที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ

การทำร้านหนังสืออิสระของแนคเริ่มจากถึงจุดที่เบื่อกับร้านหนังสือทุนใหญ่ในห้าง และเป็นความต้องการควบคุมคอนเซปต์ของร้านโดยเจ้าของพื้นที่เอง เช่น มีหนังสือที่อยากนำเสนอ หรือคัดสรรไว้แล้ว  มีนักเขียนที่อยากส่งเสริม หรือมีประเด็นน่าถกเถียงในสังคมที่น่าสนใจ ร้านหนังสืออิสระจะมีจุดเด่นบางอย่างที่พ่วงมามากกว่าการขายหนังสือ เช่น ร้านหนังสือบุ๊กโมบี้ เราก็จะนึกถึงหนังสือของปราบดา หยุ่น หรือร้านฟิลาเดลเฟีย ก็จะหางานของนักเขียนอีสานได้ที่นั่น

Abdul Book ก็มีจุดประสงค์คล้ายกับร้านหนังสืออิสระที่กล่าวมาข้างต้น แนคเล่าเพิ่มเติมอีกว่า หลายคนในพื้นที่สนับสนุนข้อเรียกร้องของการชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาแต่ไม่มีเวลา หรือไม่สะดวกไปเข้าร่วม จึงอยากใช้พื้นที่ร้านเพื่อแสดงออก ให้คนมาพูดคุยถกเถียง หรือมาบอกเล่าประเด็นที่กำลังสนใจ ผ่านการจัดนิทรรศการ งานเสวนา รวมถึงตั้งใจบอกเล่าเรื่องราวผ่านหนังสือที่อยู่บนชั้น

 

เมื่อเปิดแกลลอรี่ และร้านหนังสือมาระยะหนึ่งแล้ว ผลลัพท์เป็นไปตามที่ตั้งใจหรือไม่ และมีโมเดลทางธุรกิจอย่างไรบ้าง?

อ.ปวินท์ มองว่ารายได้หลักของแกลลอรี่ คือค่าเข้าชมนิทรรศการ แต่ในพะเยานั้น แกลลอรี่เป็นสิ่งที่ใหม่มาก และยังอยู่ในช่วงเริ่มทำความเข้าใจร่วมกันคนที่เข้ามาดูงานด้วย ทั้งในเรื่องการสัมผัสชิ้นงาน รวมถึงการเก็บเงินค่าเข้าชม ผู้เข้าชมนิทรรศการบางคนก็ไม่เข้าใจการมีอยู่ของแกลลอรี่ บางคนมองภาพของแกลลอรี่เป็นพื้นที่จัดแสดงเฉพาะภาพวาดเท่านั้น ในช่วง 2-3 เดือนแรกผู้เข้าชมหลักๆคือพระ และเณร เนื่องจาก Pye Space อยู่หลังวัด หลังจากนั้นอีกสักระยะถึงเริ่มผู้คนในพื้นที่ให้ความสนใจมากขึ้น

อ.ปวินท์ ได้เล่าเพิ่มเติมว่าใช้เวลาพอสมควรที่จะทำงานกับคนในพื้นที่ จนในปัจจุบันมีคนให้ความสนใจ โดยเฉพาะเด็ก และคนรุ่นใหม่ แกลลอรี่เองก็ปรับตัวให้มีกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ในพื้นที่ และมีกิจกรรมที่เน้นให้ผู้เข้าร่วมสนุกสนาน มีส่วนกลางเป็น Co- working  space เพื่อให้คนในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้

ในส่วนของโมเดลธุรกิจ อ.ปวินมองว่า ช่วงแรกเช่าพื้นที่เพื่ออยู่อาศัย จึงไม่จำเป็นต้องหารายได้จากแกลลอรี่ และยังใช้ทุนโฆษณาน้อย เนื่องจากพะเยาเป็นจังหวัดเล็ก แต่ช่วงหลังคิดว่าสเปซเป็นจุดดึงดูดคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน ถึงไม่ได้ประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ก็ได้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมร่วมสมัยในสังคม
 
นิทรรศการที่จัดในช่วงปี 2563 มีคนเข้าร่วมงานเกินความคาดหมาย อ.ปวินคิดว่าอาจจะเป็นเพราะพะเยาไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นจากช่วงแรก Pye Space จึงกลายเป็นเทศกาลเดียวที่สามารถจัดได้ รวมถึงมีร้านต่างๆ ร่วมกิจกรรม เช่น ร้านเหล้า ร้านกาแฟ งานศิลปะ เวิร์คชอป ทำให้คนในพื้นและนอกพื้นทีให้ความสนใจมากขึ้น

อ.โจ เล่าเสริมว่าการเปิดแกลลอรี่ หรือร้านหนังสืออิสระนั้นยากต่อการทำกำไร โดยเฉพาะการจัดนิทรรศการในประเด็นสังคมร่วมสมัยมักมีชิ้นงานที่ขายได้น้อย แต่พื้นที่เหล่านี้ทำให้คนสามารถเข้ามาพูดคุยเรื่องอ่อนไหว เช่น ศาสนา การเมือง ปัญหาสังคม และสามารถสร้างศิลปินหน้าใหม่ ทำให้คนในพื้นที่มีกำลังใจทำงานศิลปะเพื่อจัดแสดงต่อไป จึงคิดว่า Many Cult Art Space ค่อนข้างประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้

ส่วนปัญหา และอุปสรรคหลักๆ จะเป็นเรื่องงบประมาณ เนื่องจากลักษณะของอาร์ทแกลลอรี่นั้น ไม่สามารถเข้ามาร่วมกิจกรรมได้ทุกวันเหมือนร้านอาหาร หรือร้านกาแฟ ทำให้มีรายรับน้อย และคิดว่าถ้าไม่ได้รับทุนจากรัฐก็ต้องขวนขวายพอสมควร อีกปัญหานึงคือจำนวนผู้ชม ซึ่งเป็นปัญหาทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด เพราะคนยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับแกลลอรี่อิสระมากนัก

แนค เล่าไปถึงผู้คนในจังหวัดขอนแก่นว่ามีต้นทุนของรสนิยมทางการเมือง ที่ไปในทิศทางเดียวกับร้าน และยกตัวอย่างเรื่องผลเลือกตั้งที่สะท้อนว่าคนส่วนใหญ่ที่นี่เห็นด้วยกับประชาธิปไตย แต่อัตราการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง หรือในร้านหนังสือ ยังอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าที่คาดไว้ ร้านหนังสือในอีกหลายที่ก็น่าจะประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน

แนคทราบดีว่าร้านหนังสืออิสระไม่ใช่พื้นที่ทำกำไร พอไม่ห่วงเรื่องกำไรก็มีความอิสระมากขึ้น ทางร้าน Abdul Book พยายามจัดกิจกรรมใหม่ๆ บางงานก็จัดเพื่อสนองความต้องการของตนเอง เช่น อยากให้เยาวชนได้แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนพูดคุย เรื่องการเมือง ศาสนา รวมถึงกิจกรรมอื่นที่คนในชุมชนสนใจ เช่น การจัดคอนเสิร์ต หรืองานฉายหนังที่จัดขึ้นเพราะอยากให้คนที่ชอบหนังและดนตรีแนวเดียวกันได้มีพื้นที่แสดงออก ซึ่งก็ได้รับกระแสตอบรับดีกว่าที่คิดไว้

 

ผลตอบรับและข้อเสนอแนะต่อนิทรรศการที่ร่วมจัดกับพิพิธภัณฑ์สามัญชน?

อ.โจ เล่าถึงนิทรรศการเมื่อปี2563 ว่าวัตถุที่พิพิธภัณฑ์นำมาจัดแสดงมีความสำคัญกับประวัตศาสตร์การเมืองไทย และเป็นนิทรรศการที่ยังไม่เคยทำมาก่อน ในช่วงที่จัดแสดงมีคนให้ความสนใจทั้งจากในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดใกล้เคียง และผู้เข้าชมนิทรรศการมีความรู้สึกร่วมกับวัตถุต่างๆ ระหว่างการจัดกิจกรมก็มีคนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนและเล่าเรื่องสิ่งที่มีอยู่ในนิรรศการ ทำให้ อ.โจ รู้สึกว่าสิ่งของที่นำมาจัดแสดงนั้นเข้าใกล้กับชีวิตของคน โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้คนกำลังส่งเสียงให้ถึงรัฐบาล

วัตถุหลายชิ้นที่นำมาจัดแสดงมีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาสอบถาม และติดตามการจัดงาน อ.โจ ก็ได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตามจริง เพราะสิ่งที่นำเสนอควรถูกพูดถึงอย่างตรงไปตรงมาทั้งกับเจ้าหน้าที่และประชาชน

ร้าน Abdul Book มีโอกาสร่วมจัดนิทรรศการ เล่าเรื่อง2475 ผ่านตัวหนังสือ และของสะสม ทางร้านให้ข้อมูลว่ามีหนังสือที่เกี่ยวกับคณะราษฎร์จำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เคยมีงานเสวนา และฉายหนังในประเด็นนี้ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี แต่ก็มีความเคลื่อนไหวจากเจ้าหน้าที่รัฐในขอนแก่น ในช่วงแรกก็รู้สึกถึงความไม่สะดวกและไม่สบายใจ แต่การผลิตงานที่ทำให้เจ้าหน้าที่รู้สึกได้ก็คือประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

แนค เสนอว่าในอนาคตอยากจัดนิทรรศการร่วมกับพิพิธภัณฑ์สามัญชนต่อไป โดยเฉพาะประเด็นเชิงประวัติศาสตร์ในขอนแก่น เช่น เรื่องกบฎผีบุญ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจแต่ไม่ถูกนำมาพูดถึงเท่าที่ควร

ในส่วนของ อ.ปวินท์ กล่าวว่าผลตอบรับจาก Pye Space ที่ได้ร่วมจัดนิทรรศการพิพิธภัณฑ์สามัญชน Live in Phayao คือได้ผู้เข้าชมหน้าใหม่เป็นคนกลุ่มที่สนใจการเมือง ผู้ชมส่วนมากเป็นเด็กนักเรียนมัธยมที่สนใจของสะสมจากพื้นที่จริง เช่น ปลอกกระสุนยาง เสื้อยืด ซึ่งเด็กในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมการชุมนุมในกรุงเทพ นอกจากประชาชนแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐก็ให้ความสนใจด้วยเช่นกัน อ.ปวินท์ เล่าย้อนให้ฟังถึงช่วงที่แกลลอรี่แจกสติ๊กเกอร์สามนิ้ว ทำให้ถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่ และหลังจากนั้นแกลลอรี่ก็มักจะถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่เสมอ

 

เป็นไปได้ไหมว่าแกลลอรี่และร้านหนังสืออิสระจะเป็นสื่อกลางทางการเมืองที่สามารถทำให้เสียงของคนในพื้นที่ดังไปถึงส่วนกลาง?

แนค เชื่อว่าหลังจากนี้น่าจะมีงานศิลปะที่พูดถึงการเมืองมากขึ้น ร้าน Abdul Book เองก็สนใจจัดงานเกี่ยวกับการต่อสู้โดยผ่านบทกวี เพราะในปัจจุบันกวีเป็นสิ่งที่ถูกหลงลืมไป ในอนาคตมีสิ่งที่อยากทำในท้องถิ่น เช่น การถ่ายภาพขอนแก่นในมุมมองของคนท้องถิ่น เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้เรียนศิลปะโดยตรงแต่สนใจสร้างผลงานได้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็นในประ เด็นต่างๆ ที่ยังไม่ถูกพูดถึงในวงกว้าง เช่น ปัญหาคนไร้บ้าน หรือผลกระทบจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่

อ.ปวินท์ เล่าเพิ่มเติมเรื่องประวัติศาสตร์ของจังหวัดพะเยาที่เคยเป็นพื้นที่สีแดง และเป็นหมู่บ้านเป้าหมายของคอมมิวนิสต์มาก่อน Pye Space ก็มีความสนใจจัดนิทรรศการ manifesto พะเยา และตอนนี้เริ่มมีผู้กำกับหนังหนังลงพื้นที่เก็บข้อมูลและสัมภาษณ์คนในหมู่บ้าน ในอนาคตก็คิดว่าอยากสะท้อนประเด็นเหล่านี้ เนื่องจากเป็นประเด็นที่อยู่ในประวัติศาสตร์ของไทยแต่อาจจะถูกหลงลืมไป ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือของคนในพื้นที่เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว ผ่านมุมมองของนักคิดนักสร้างสรรค์ในพื้นที่

ก่อนจบบทสนทนา อ.โจ ได้ฝากถึงผู้ที่สนใจสนับสนุนแกลลอรี่ และร้านหนังสืออิสระในต่างจังหวัดให้กดไลค์เพจและเยี่ยมชม เว็บไซต์ เนื่องจากในปัจจุบันสื่อออนไลน์ก็เป็นส่วนสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และผู้สนใจยังสามารถซื้องานศิลปะหรือติดต่อสอบถามข้อมูลผ่านทางเพจได้อีกด้วย

ในระหว่างการสนทนา ผู้เข้าร่วมคลับเฮาส์ท่านหนึ่งได้ฝากข้อเสนอแนะถึงพิพิธภัณฑ์สามัญชนให้ลองรวบรวมงานศิลปะที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายมารักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ได้ เช่น บทกวีที่เพนกวิ้นเขียนทิ้งไว้บนกำแพงเรือนจำ หรือสิ่งของประกอบฉากที่ได้จาก Performance Art ในการชุมนุม

 

ถอดความและเรียบเรียงโดย: วรกมล องค์วานิชย์

*** งานเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์สามัญชน Live in Phayao ซึ่งเป็นหนึ่งในนิทรรศการของ phayao arts & creative festival