ระหว่างวันที่ 10 - 11 กันยายนนี้ พิพิธภัณฑ์สามัญชนได้รับความอนุเคราะห์จากคุณรุ้งให้ยืมเสื้อสีแดงที่เธอสวมในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่เธออ่านแถลงการณ์ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม - United Front of Thammasat and Demonstration ฉบับที่ 1 สิบข้อเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปสถาบัน ไปแสดงที่ PYE Space พะเยา ในนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์สามัญชน Live in Phayao
ในโอกาสนี้เราได้ถือโอกาสพูดคุยเบื้องลึกเบื้องหลังเกี่ยวกับเสื้อตัวนี้ และแมสเสจ ที่คุณรุ้งอยากฝากถึงผู้ที่ได้มาชมเสื้อตัวนี้
เสื้อสีแดงตัวนี้มีอะไรเป็นพิเศษถึงเลือกใส่ขึ้นเวทีในวันที่ 10 สิงหาคม 2564?
รุ้ง: เสื้อตัวนี้ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ แต่ว่าที่ใส่เพราะว่ามันเป็นสีแดง คือตั้งแต่เราทำกิจกรรมมาเราเริ่มจากการเข้าร่วมกับกลุ่มโดมปฏิวัติก่อน แล้วสีของพรรคโดมปฏิวัติก็มีสีประจำพรรคเป็นสีแดง
พอไปอยู่ สนท. (สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย) ก็ใช้สีแดงเป็นสีของกลุ่มเหมือนกัน เราก็แค่อยากแสดงตัวว่ามาจากทั้งสององค์กรนี้ ก็พยายามหาเสื้อที่เป็นสีเดียวกับสีขององค์กร
แล้วเสื้อตัวนี้เป็นเสื้อสีแดงที่เราคิดว่ามันดูดีที่สุดที่มีแล้ว เพราะว่าเสื้อสีแดงสวยๆ หายากมาก ก็เลยเลือกตัวนี้
พอหลังจากวันขึ้นปราศรัย 10 สิงหาคม 2563 เราก็ใส่เสื้อตัวนี้เป็นประจำเลย ใส่บ่อยจนมีเพื่อนแซวประมาณว่า “มึงเป็นดอกกุหลาบเหรอ” อะไรแบบนั้นเลย
หลังจากนั้นเพราะอะไรถึงเลือกใส่เสื้อสีแดงในการขึ้นปราศรัยตลอด?
เสื้อตัวนี้ไม่ใช่ตัวที่ใส่ขึ้นปราศรัยในวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่สนามหลวง แต่เราพยายามจะใส่เสื้อสีแดงตลอดเพราะเป็นสีประจำกลุ่มองค์กรของเรา และคิดว่าสีแดงมันเป็นสีของการต่อสู้ รวมไปถึงดอกกุหลาบสีแดงก็เป็นดอกไม้ที่เราชอบ เนื่องจากเราเคยได้รับมันตอนที่เราชนะเลือกตั้งในพรรคโดมปฏิวัติแล้วก็มีคนในพรรคนำดอกกุหลาบแดงมาให้เด็กๆ ภายในพรรค เพื่อเป็นกำลังใจ และเป็นความหวังในการต่อสู้ ซึ่งเราคิดว่ามันมีความหมายในสีแดงของเรา
ความรู้สึกจากวันที่เริ่มอ่านแถลงการณ์ 10 สิงหาคม 2563 จนถึงตอนนี้ (กันยายน 2564) ชีวิตเปลี่ยนไปมากน้อยอย่างไร?
รุ้ง: เรารู้สึกว่าชีวิตเราเปลี่ยนไปทุกๆ ด้านเลย แต่มันไม่ได้เป็นด้านที่เสียหายอะไรกับเรา และเราไม่ได้รู้สึกเสียใจอะไรเลยที่ตัดสินใจทำลงไปในวันนั้น แต่ตอนนี้เรากำลังมองหาความหวังในการต่อสู้ต่อไป เราคิดว่าที่เราทำไปมันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การพูดถึงสถาบันฯบนพื้นดินได้ มันก็ถือว่าเป็นตัวเร่งที่ดีตัวหนึ่ง แล้วเราภูมิใจกับในมากๆ
ถ้าสมมุติว่าตอนนี้การเมืองดี คนหนุ่มสาวอย่างรุ้งไม่ต้องออกมาเรียกร้องอะไรบนท้องถนน อยากจะใส่เสื้อตัวนี้ไปทำอะไร หรือเที่ยวที่ไหน?
รุ้ง: ถ้าคิดถึงตอนนี้เหรอ เราอยากใส่เสื้อตัวนี้ไปทะเล เพราะสีมันตัดกันดี ถ่ายรูปออกมาน่าจะสวยดี
แล้วรู้สึกแปลกใจไหมที่วันดีคืนดีเสื้อของรุ้งได้ไปแขวนโชว์ให้คนดูในนิทรรศการสักแห่งหนึ่ง
รุ้ง: รู้สึกประหลาดนิดหน่อย แต่เอาจริงๆเสื้อตัวนี้มันก็ไม่ใช่เสื้อแดงธรรมดาๆ ของเราแล้วเหมือนกัน แต่มันมีความหมายกับเรามากกว่านั้น เดี๋ยวนี้เราไม่ใส่มันทุกวันแล้ว แต่ถ้าวันไหนเราเอาจริง เราจะใส่เสื้อตัวนี้ไปในที่นั้น แล้วก็อยากให้มันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าพวกเรากำลังต่อสู้อย่างมีความหวัง และเด็กผู้หญิงบนเวทีในวันนั้นยังคงยืนยันที่จะต่อสู้ไปพร้อมๆ กับทุกคน
ถ้ามีผู้ชมสักคนหนึ่งกำลังยืนดูเสื้อของรุ้งอยู่อยากจะบอกอะไรกับเขา?
เราอยากจะบอกคนที่กำลังจ้องดูเสื้อตัวนี้อยู่ว่า “เสื้อตัวนี้มันเป็นเหมือนหลักฐานชิ้นหนึ่งนะ ว่าเราได้ผ่านการต่อสู้มาโดยภาคประชาชนที่เป็นนักศึกษามาเป็นเวลาปีกว่าๆ แล้ว แล้วมันมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นทุกวันนะ โดยวันที่ 10 สิงหาคม มันก็เป็นจุดเริ่มต้นของอะไรหลายๆ อย่าง แล้วก็เป็นความหวังให้กับคนหลายๆ คน รวมถึงตัวเราเองด้วย
เราก็อยากจะให้คนที่มองดูเสื้อตัวนี้อยู่ยังมีความหวังในการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีของตัวเอง แล้วก็อยากจะให้มองดูแล้วระลึกไว้ด้วยว่าตอนนี้สิ่งที่รัฐกำลังกระทำอยู่กับเยาวชน และประชาชนทุกคนมันคือสิ่งที่สำคัญ และมันทุกข์ระทมมากแค่ไหน อยากให้ระลึกถึงข้อนี้ไว้แล้วให้ทุกคนมีใจที่จะต่อสู้ไปพร้อมๆ กัน เพื่อที่มันจะได้ไม่มีใครต้องมาเจ็บปวด หรือว่ามาถูกดำเนินคดี หรือถูกคุมขัง เพียงเพราะแค่อยากมีชีวิตที่ดีขึ้นอีกแล้ว
ถอดความและเรียบเรียงโดย อภิรักษ์ นันทาเสรี
สำหรับชาวพะเยาสามารถเข้าชมเสื้อตัวนี้แบบใกล้ชิดได้ที่ Pye Space ระหว่างวันที่ 10 - 11 กันยายน 2564
ภาพรุ้งปนัสยาเมื่อ 10 สค 63 โดย iLaw
commonmuze
3 September 2021