ที่ PYE Space จังหวัดพะเยา มีการจัดนิทรรศการ "พิพิธภัณฑ์สามัญชน live in Phayao" ระหว่างวันที่ 9 - 29 สิงหาคม 2564 โดยนิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Phayao Arts & Creative Festival พิพิธภัณฑ์สามัญชนจึงถือโอกาสนี้พูดคุยกับอาจารย์ปวินท์ ระมิงค์วงศ์ จากมหาวิทยาลัยพะเยาซึ่งเป็นผู้ติดต่อนำของสะสมของเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะครั้งใหญ่ประจำปีของเมืองพะเยา เมืองเล็กที่โอบล้อมด้วยขุนเขาและทะเลสาบน้ำจืดอย่าง กว๊านพะเยา
ทำไมถึงตัดสินใจยกพิพิธภัณฑ์สามัญชนไปไว้ที่เมืองพะเยา?
ปวินท์:
นิทรรศการครั้งนี้ จริงๆ แล้วเริ่มคุยกับทางพิพิทภัณฑ์ฯตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ว่าอยากจะจัดนิทรรศการแสดงของจากทางพิพิทภัณฑ์ฯ เนื่องจากเห็นว่าทางพิพิธภัณฑ์ได้เก็บของที่บันทึกประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยไว้
ตัวเราทำแกลลอรีแสดงงานศิลปะ แล้วก็สนใจการเมืองอยู่แล้วด้วย จากที่เห็นสิ่งของที่ทางพิพิธภัณฑ์เก็บก็เห็นว่าของแต่ละชิ้นมีเรื่องราว และมีไทม์ไลน์บ่งบอกชัดเจนในตัวของแต่ละชิ้นเอง และละชิ้นต่างก็มีเรื่องราวของการต่อสู้ของประชาชนเป็นเบื้องหลัง แต่ด้วยเรื่องสถานการณ์โควิด และความสะดวกเรื่องงบประมาณต่างๆ จึงยังไม่ได้จัดงานเสียที
หลังจากนั้นก็เห็นว่าทางพิพิทภัณฑ์ฯไปจัดงานที่แกลอรี่ที่ฉะเชิงเทราแล้วงานน่าสนใจ พอมาถึงช่วงเดือนสิงหาคมเราได้งบประมาณในการจัดกิจกรรมในจังหวัดพะเยา เราจึงได้ทำงานเทศกาลศิลปะจัดแสดงงานทั้งหมด 5 ที่ในจังหวัดพะเยา แล้วจึงได้รวมงานของทางพิพิธภัณฑ์ฯ เป็นหนึ่งในเทศกาลนี้ด้วย
แนวคิดในการ Curate ของสะสมของพิพิธภัณฑ์ในนิทรรศการ "พิพิธภัณฑ์สามัญชน Live in Phayao"
ปวินท์
ของที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ เราจัดวางตามไทม์ไลน์ของมันจากอดีตไปสู่ปัจจุบันแล้วให้คนไล่ดูไปทีละชิ้นตามกาลเวลา ตอนแรกเราคิดว่จะจัดของไว้เป็นหมวดหมู่ เช่นกลุ่มพันธมิตรกลุ่มหนึ่ง นปช. กลุ่มหนึ่ง กปปส. กลุ่มหนึ่ง คนอยากเลือกตั้งกลุ่มหนึ่ง เป็นต้น แต่พอจะจัดแบบนั้นแล้วเรากลัวว่าคนจะไม่เห็นภาพของยุคสมัย หรือช่วงเวลาที่ร้อยเรียงกันมา พอเราจัดเป็นไทม์ไลน์แล้วไกด์ปี พ.ศ. ให้คนก็จะเห็นภาพจากสิ่งของโดยอัตโนมัติ และสามารถย่อยเรื่องราวได้ง่ายกว่า
สิ่งที่ดีอีกอย่างหนึ่งคือเรามีของจากทุกฝ่ายทางการเมือง พันธมิตร กปปส. นปช. กลุ่มวิ่งไล่ลุง หรือเดินเชียร์ลุงก็มีหมด ทำให้เด็กๆ วัยรุ่นที่มาดูเขาได้เห็นจริงๆ ว่าประเทศไทยมันดำเนินมาอย่างไร ได้เติมความรู้ส่วนที่เขาเกิดไม่ทันให้กับเขาไป แล้วยังทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไม่มายุ่งกับงานของเรามาก (ฮ่าๆ) เพราะเราไม่ได้จัดแสดงงานแต่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล คสช. แต่ฝ่ายรอยัลลิสต์ ฝ่ายสนับสนุนก็มี
ความประทับใจระหว่างจัดแสดงงาน
ในการจัดงานทางเราได้เก็บสถิติผู้เข้าร่วมชมงานด้วย แล้วพบว่าส่วนใหญ่กลายเป็นเด็ก และเยาวชนเป็นกลุ่มที่มาชมงานมากที่สุด ในช่วงสัปดาห์แรกที่จัดงานเราเจอกับเด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่งอายุ 15 ปี มาชมงานแล้วร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยเกี่ยวกับงานที่จัดแสดงได้ เราก็เสริมในส่วนประวัติศาสตร์ที่น้องเขาเกิดไม่ทัน เพราะเหตุการณ์ทางการเมืองที่เริ่มหลังปี 2549 น้องเขายังอายุ 2-3 ขวบเลยด้วยซ้ำ
แต่เรื่องในยุคปัจจุบันน้องเขาก็รู้หมด รู้เท่าเราหรือรู้ดีกว่าเราด้วย อย่างเช่นม็อบเขายกเพดานข้อเรียกร้องกันวันไหน น้องคนนี้เขาก็รู้ ซึ่งทำให้เราอึ้งมากว่าเด็กสมัยนี้เขาศึกษาอะไรด้วยตัวเองอย่างจริงจัง และยังสามารถรับรู้ข้อมูลได้อย่างครบถ้วนด้วย แถมยังมีข้อเรียกร้องของตัวเองอีกด้วย อย่างเรื่องที่ทนายอานนท์ หรือ อ.ปิยบุตร พูดเรื่องอะไร น้องคนนี้ก็รู้ และสามารถแลกเปลี่ยนได้หมด ทำให้ผมประทับใจมาก แล้วงานของเราไม่ใช่งานที่จัดแสดงในเนื้อหาทั่วไป พอเป็นเนื้อหาทางการเมืองก็ทำให้ดึงคนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นวัยรุ่น หรือนิสิต นักศึกษา เข้ามาหาเรามาก ทำให้อาจจะเกิดการรวมตัว หรือน่าจะทำกิจกรรมในจังหวัดได้ในอนาคต
การจัดงานท่ามกลางสถานการณ์โควิททำอย่างไร
ทางเรามีวิธีป้องกันโควิดโดยให้คนที่จะเข้ามาชมงานทุกคนต้องโทรมาแจ้ง หรือติดต่อเข้ามาทางเพจเราก่อน เพื่อเป็นการลงทะเบียนกลายๆ เนื่องจากปกติเราจะให้คนเข้ามาชมงานโดยมีทางทีมงานเราให้ความรู้ในของแต่ละชิ้นด้วย และป้องกันการหยิบจับสิ่งของซึ่งอาจจะทำให้เชื้อโรคติดอยู่กับสิ่งของที่จัดแสดงได้ แล้วเป็นผลพลอยได้ว่าเราจะได้จัดคิวให้คนเข้ามาชมโดยไม่แออัดเกินไป ในส่วนอื่นก็กำชับให้คนมาดูสวมหน้ากากอนามัย ก่อนเข้าก็มีการวัดอุณหภูมิ รวมไปถึงจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ล้างมือไว้ให้อย่างเพียงพออีกด้วย แต่ในจังหวัดพะเยาเรื่องการระบาดของโควิดยังไม่ได้หนักมาก และเมืองไม่ได้แออัด เราก็เลยยังพอมั่นใจที่จะจัดแสดงงานต่อไป
บรรยากาศการเคลื่อนไหวทางการเมืองในจังหวัดพะเยา
บรรยากาศความสนใจทางการเมืองที่พะเยาจะอยู่ในกลุ่มเด็กมหาวิทยาลัย กับวัยรุ่นมากกว่า เราคิดว่าเด็กอินไปกับม็อบในช่วงแรก (ปี 2563) ที่พะเยามีความตื่นตัวมากๆ มหาวิทยาลัยพะเยาเองก็มีการจัดปราศรัยหน้ามหาวิทยาลัย มีคนดังๆ อย่างทนายอานนท์ และเพนกวินมา ช่วงนั้นถือว่าความตื่นตัวสูงมาก แต่หลังจากนั้นต้นปี 2564 รู้สึกว่าความตื่นตัวทางการเมืองในจังหวัดพะเยาแผ่วลง อาจจะด้วยสถานการณ์โควิดในประเทศทำให้รวมตัวกันยากขึ้น คนก็แอคทีฟน้อยลง อย่างเช่นคาร์ม็อบของจังหวัดพะเยาก็ยกทีมไปรวมกันกับจังหวัดเชียงราย เพราะรวมกันที่พะเยาทีนึงแล้วคนมันน้อยมันก็จะขาดในเรื่องของพลังไป แต่เราไม่รู้ว่าหลังจากเราจัดงานนี้ขึ้นมาจะช่วยกระตุ้นความตื่นตัวให้คนในจังหวัดพะเยาหรือไม่ ย้อนไปช่วงที่ม็อบยกเพดาน มีการทำหมุดเราก็ทำสติกเกอร์แจกในจังหวัดพะเยา ช่วงนั้นถึงกับมีตำรวจนอกเครื่องแบบมาสอบถามว่าแจกทำไม นายเขาไม่สบายใจ แต่หลังจากช่วงนั้นก็เงียบลงไป
เรื่องความมั่นคงอย่างทางมหาวิทยาลัยเองก็มีการมอนิเตอร์อาจารย์แต่ละคณะว่าใครมีความคิดเห็นทางการเมืองไปในทางไหน ส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยพะเยาจะไม่แสดงออกทางการเมืองกันเยอะ ก็จะมีเรากับเพื่อนอาจารย์คณะทางสังคม กฎหมายก็มีคนที่ถูกเฝ้าระวังอยู่บ้าง ซึ่งเราก็คุยๆ กันตลอด
กิจกรรมอื่นๆ ในงาน
ในงานเราพยายามจะให้มีกิจกรรมอื่นๆ อย่างเช่นสัปดาห์ที่ผ่านมา (เสาร์ 14 สิงหาคม 2564) เราก็ได้ฉายหนัง Democracy After Death ของ “ปรวย” ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับลุงนวมทอง และมีการพูดคุยกับทางพิพิธภัณฑ์สามัญชน ในส่วนกิจกรรมอื่นๆ เราก็คิดกันเป็นรายสัปดาห์ไปแต่ก็จะพยายามจัดกิจกรรมเพิ่มเติมให้ได้มากที่สุด
หมายเหตุ นิทรรศการ พิพิธภัณฑ์สามัญชน Live in Phayao เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทศกาล Phayao Arts & Creative Festival เท่านั้น นอกจากนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์แล้วยังมีงานศิลปะ อาหารการกินและงานวัฒนธรรมอื่นๆกระจากยไปตามจุดต่างๆตลอดเดือน สามารถดูรายละเอียดเทศการได้ที่เพจอย่างเป็นทางการตามลิงค์ด้านบนหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก PYE Space
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย อภิรักษ์ นันทาเสรี
ภาพถ่ายจาก PYE Space และ Wut Mark III