Skip to main content

นริศ เริ่มต้นด้วยการแนะนำว่าวันนี้เป็นวันครบรอบ 124 ปี ชาตกาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือชื่อเดิม แปลก ขีตตะสังคะ ซึ่งเกิดในปี 2440 หรือ ร.ศ. 116 ตรงกับวันพุธ ปีระกา (สัญลักษณ์ของจอมพลท่านนี้มันใช้รูปไก่ และ สีเขียว) เป็นวันเข้าพรรษา และยังเป็นปีที่ รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกอีกด้วย

สำหรับหนังสือของสำนักพิมพ์มติชนในปีนี้ จะมีซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับ 2475 ออกมาทั้งหมด 3 เล่ม ได้แก่ ราษฎรพลิกแผ่นดิน 2475, การปฏิวัติสยาม 2475 ในทัศนะของพันโท อองรี รูซ์ และกองทัพคณะราษฎร ล้อมรั้วประชาธิปไตยยุคปฏิวัติ โดยนริศ เป็นเจ้าของหนังสือเล่มแรก และทำบทความประกอบขนาดยาวในเล่มสอง

จำเพาะหนังสือราษฎรพลิกแผ่นดิน 2475 เป็นการรวบรวมบทความของ นริศ ตลอดระยะเวลา 4 ปี (มิ.ย.60-64) ตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม โดยเลือกเฟ้นมาทั้งหมด 5 บทความและเขียนเพิ่มอีก 1 บท รวมทั้งสิ้น 6 บท เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จะเป็นการลงลึกสมาชิกราษฎรเป็นรายบุคคล

นริศเล่าถึงที่มาของชื่อราษฎรพลิกแผ่นดินว่า คำว่า “พลิกแผ่นดิน” มาจากคำแปล Revolution ที่ รัชกาลที่ 7 ทรงนิยามไว้เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2470 ในหนังสือชื่อว่า “พระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน” ส่วนคำว่า “ปฏิวัติ” ที่เราคุ้นเคยกันดีนั้น ในเช้าวันที่ 24 ยังไม่เกิดคำนี้ขึ้น คณะราษฎรใช้เพียง “เปลี่ยนแปลงการปกครอง” แต่มีการบัญญัติหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านพ้นไปแล้ว 2 เดือนโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือพระองค์วรรณ โดยปรีดีภายหลังแลเหมือนไม่ค่อยจะนิยมนิยามปฏิวัติมากนัก ต่อมาจึงบัญญัติศัพท์ใหม่ว่า “อภิวัฒน์” แทนที่ แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

ส่วนคำว่า “ราษฎร”นั้น นริศเห็นว่าปรีดีเลือกใช้ได้ถูกต้อง เพราะเป็นคำที่ให้ความรู้สึกมีพลังมากกว่าคำว่า “ประชาชน” เพราะตามสันสกฤต (Monier-Williams Sanskrit –English Dictionary, 1899) คำว่า prajā ประชา นั้นฟังดูแล้วเป็นเด็ก children, offspring ซึ่งมีนัยยะของ “ผู้ถูกปกครอง” เป็นความหมายที่ด้อยกว่า rāṣṭra ราษฎร ที่ให้ความหมายความเป็นพลเมืองหรือ citizen และให้ความรู้สึกว่ามีอำนาจและเป็นรัฐในตัวมากกว่า

นริศ เล่าต่อว่า ในจักรวาลที่กว้างใหญ่ของงานเขียนเกี่ยวกับ 2475 หนังสือราษฎรพลิกแผ่นดิน จะเข้าไปเติมเต็มด้วยการกลับไปหาหลักฐานชั้นต้น เอกสารร่วมสมัย ชีวประวัติต่าง ๆ ของบุคคลในสมัยนั้น กระแสการศึกษาช่วงที่ผ่านนั้นให้ความสำคัญกับการกลับไปเอกสารจำพวกนี้มากขึ้นผ่านเทคโนโลยีที่ทำให้การเข้าถึงเอกสารสะดวกสบายมากขึ้น

ความสำคัญของหลักฐานชั้นต้นคือการได้ข้อมูลที่บอกเล่าจากปากของผู้ก่อการหรือแม้แต่ฝ่ายตรงข้ามที่เป็นปฏิปักษ์กับคณะราษฎรก็ตาม ทำให้เราในฐานะผู้ศึกษาหรือผู้อ่านได้อรรถรส การอ่านหนังสือตำราต่าง ๆ ชั้นรองที่เคยเขียนขึ้นมาเพียงอย่างเดียวนั้นย่อมไม่เพียงพอในการทำความเข้าใจหรือก้าวข้ามอคติบ้าง การตีความบ้าง ของผู้เขียนในเวลาต่อมา การกลับไปหาหลักฐานชั้นต้นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งและมีส่วนให้กระแสการศึกษาเปลี่ยนไปด้วย

โดยเฉพาะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา กระแสการศึกษาได้เริ่มข้ามพ้นตัวปรีดีแบบบูชาบุคคลไปสู่การศึกษาคณะราษฎรศึกษาจนยกขึ้นสู่การศึกษา “อภิวัฒน์ 2475” ทั้งขบวนการแบบรอบด้านจนถึงผลพวงต่างๆที่บังเกิดขึ้นหลังจากนั้น

สำหรับหนังสือราษฎรพลิกแผ่นดิน 2475 นั้นใช้อนุสรณ์งานศพของสมาชิกคณะราษฎรเท่าที่มีทั้งหมดราว 70 คนเป็นตัวดำเนินเรื่องหลัก นอกจากนี้ยังมีเรื่องบทบาทของสมาชิกมุสลิมของคณะราษฎรที่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้จักหรือไม่ทราบว่า 2475 มีชาวมุสลิมเข้าร่วมด้วย เรื่องราวเบื้องหลังของภาพอันโด่งดังของคณะราษฎรที่ถ่ายที่กรุงปารีส รวมไปถึงความพยายามหลอมนิกายธรรมยุตเข้ากับมหานิกายของคณะราษฎร หลักฐานส่วนใหญ่ที่ใช้ในการเขียนเล่มนี้มีอนุสรณ์งานศพที่ไม่ใช่แค่ของฝั่งราษฎรเท่านั้น แต่มีอนุสรณ์ของฝั่งบวรเดชหรือฝั่งที่เป็นปฏิปักษ์ด้วย นอกจากนี้ยังมีหลักฐานจากหนังสือพิมพ์ร่วมสมัย อัตชีวประวัติของ 4 ทหารเสือคณะราษฎรที่เล่าเกี่ยวกับวันที่ 24 มิถุนายน หรือที่อาจะเรียกได้ว่าเป็นสารคดีการเมืองร่วมสมัย

ทั้งนี้ นริศเห็นว่าการอ่านหนังสือเหล่านี้จำเพาะเนื้อหาอย่างเดียวยังคงไม่เพียงพอ ตัวหนังสือแต่ละเล่มเองต่างก็มีชีวประวัติของตนเอง โดยมีบริบททางการเมืองช่วงที่ตีพิมพ์เข้ามากำกับเนื้อหาหรือแง่มุมทั้งสิ้น หนังสือบางเล่มแต่งโดยคนเดียวกัน แต่พิมพ์คนละครั้งในช่วงเวลาต่างกัน ก็อาจจะมีเนื้อหาต่างกันได้ การจะได้ข้อมูลที่ครบด้านจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงสถานการณ์การทางเมืองช่วงที่หนังสือตีพิมพ์ด้วย นริศเสริมว่า การศึกษา 2475 ไม่จำเป็นต้องศึกษาในฐานะประวัติศาสตร์ก็ได้ เราอาจจะศึกษาในฐานะวรรณกรรมทางประวัติศาสตร์ เพราะเรื่องราวเหล่านี้ก็เป็นเสมือนวรรณคดีชั้นดีชิ้นหนึ่งได้เช่นกัน

ความเปลี่ยนแปลงหลังเหตุการณ์ 2475 ได้นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ เช่นการนำเสนอเรื่องสถาปัตยกรรมในยุคสมัยของคณะราษฎรเป็นต้น หรือ 2475 เองก็เป็นหมุดหมายที่สำคัญในความเปลี่ยนแปลงทางดนตรี ทำให้เกิดกระแสดนตรีแจ๊สขึ้นในสยามด้วย เรื่องของวรรณกรรมก็มีความเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน

ในช่วง 25 ปีของคณะราษฎร เป็นช่วงที่วรรณกรรมมีความก้าวหน้าและแหวกแนวอย่างมาก ใครที่เป็นนักสะสมหนังสือเก่าจะทราบดีว่าหนังสือในช่วงที่คณะราษฎรมีอำนาจเป็นวัตถุสะสมที่ต้องใจตลาดของเก่าอย่างมาก แต่พอสฤษดิ์ขึ้นมามีอำนาจหลังปี 2500 ทุกอย่างก็ถูกเซ็นเซอร์ไปหมด ประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรนั้นมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากวาทกรรม “ปีศาจปรีดี” บ้าง “ชิงสุกก่อนห่าม” บ้าง ที่ถูกอำนาจนำในสังคมครหาในฐานะผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ แต่ครั้นถึงการรัฐประหาร 2549 กลับเกิดการคืนความหมายและใช้สัญลักษณ์ของคณะราษฎรเรื่อยมาถึงการชุมนุมของกลุ่มคนที่เรียกว่าคณะราษฎรในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการทำหมุดคณะราษฎรอันใหม่ มีการจำลองฉากพระยาพหลฯ กลับมาอ่านประกาศคณะราษฎรอีกครั้งในรูปแบบโฮโลแกรม

นริศเห็นว่าเทคโนโลยีมีผลอย่างมากที่ทำให้คณะราษฎรกลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง รวมถึงการรับรู้ของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป นักศึกษาเริ่มมองประวัติศาสตร์ไม่ใช่เป็นเส้นตรงอีกต่อไป skeptical ในการแสวงหาความรู้ มุมมองต่อตัวละครในประวัติศาสตร์มีลักษณะเป็นสีเทา มีดีมีแย่เป็นปกติตามปุถุชนวิสัย เรื่องราวของ 2475 ในตัวเองก็มีเสน่ห์ที่ดึงดูดคนให้มาสนใจ ผู้ก่อการเมื่อก่อการสำเร็จนั้นก็ยังหนุ่มมาก ทำให้เรื่องราวของพวกเขายังไม่จบหลังจากวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่ยังคงมีเรื่องราวให้ติดตามต่อ แต่

ทั้งนี้ เราก็ต้องยอมรับว่าเรื่องของคณะราษฎรและ 2475 ยังอยู่ในวงที่ค่อนข้างจำกัดอยู่ดี หากเทียบสัดส่วนต่อประชากรทั้งหมด ยังนับว่าไม่มากมายจนสามารถเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลัก นริศ สรุปว่าบทเรียนจากคณะราษฎรที่สำคัญที่สุดและสามารถนำมาปรับใช้กับการเมืองในปัจจุบัน คือในแง่ของหลักการและการทำหน้าที่ของผู้แทนราษฎร หากเราลองย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญฉบับปี 2489 นั้นถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีมากและนับว่าเป็นจุดสูงสุดของคณะราษฎรตามอุดมคติที่เคยวางเอาไว้หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เรียบเรียงโดย รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล
ภาพผู้แต่งจากเฟซบุ๊กของผู้แต่ง