Skip to main content

ธิกานต์เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงความสนใจของเขาที่มีต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ว่า เริ่มจากความชื่นชอบแบบเด็ก ๆ ไปสู่ความสนใจแบบวิชาการ

ในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 กิจกรรมของกลับมานักศึกษาเฟื่องฟู นักศึกษาในยุคนั้นบางส่วนยังใช้วิธีการทำงานแบบที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเคยใช้ ธิกานต์ที่ขณะนั้นศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงก็รู้สึกชื่นชอบ พคท. ทั้งจากการสัมผัสเรื่องราวเกี่ยวกับพคท.ผ่านการทำกิจกรรม และจากการอ่านหนังสือ

สมรภูมิภูพานและหนังสือของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ พคท. คืองานเขียนที่ทำให้ธิกานต์ได้ทำความรู้จักกับพคท.อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นก่อนที่เขาจะทำความรู้จักกับพคท.อย่างเป็นวิทยาศาสตร์และวิชาการเมื่อได้มาเป็นลูกศิษย์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการที่ศึกษาและวิพากษ์พคท.อย่างจริงจัง สมศักดิ์มักจะ “วิพากษ์” พคท. ว่าสิ่งไหนเป็นเรื่องจริง สิ่งไหนไม่จริง ซึ่งการเรียนกับสมศักดิ์ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อวิธีการศึกษาของเขาในปัจจุบัน

ความขัดแย้งภายในของพคท. โดยเฉพาะนักศึกษาที่เข้าป่ากับฝ่ายนำของพรรคคือประเด็นปัญหาที่ธิกานต์มีความสนใจเป็นพิเศษในการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับพคท.

หนังสือ “หลัง 6 ตุลา: ว่าด้วยความขัดแย้งทางความคิดระหว่างขบวนการนักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” ซึ่งปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของเขา คือผลผลิตจากการตกผลึกในการศึกษาเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างปัญญาชนที่เข้าป่าหลัง 6 ตุลา กับผู้อาวุโสภายในพรรค

แรงบันดาลใจที่ทำให้ธิกานต์ตัดสินใจศึกษาประเด็นความขัดแย้งข้างต้น เกิดขึ้นหลังเขามีโอกาสศึกษาเอกสารชั้นต้นเกี่ยวกับ พคท. แล้วเขาพบว่าสิ่งที่ค้นพบขัดแย้งกับสิ่งที่เสกสรรค์เคยเขียนเล่ามา ตัวเขาจึงอยากที่จะศึกษาและเขียนความทรงจำเกี่ยวกับพคท. ขึ้นมาใหม่

ความรู้สึกนึกคิดและผลงานของปัญญาชนฝ่ายซ้ายทั้งในและนอกพคท.ซึ่งมีความเคลื่อนไหวตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2490 เช่น อัสนี พลจันทร์ และกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นอีกประเด็นที่ธิกานต์ให้ความสนใจและพยายามศึกษาเรื่องราวของพวกเขาเหล่านี้ผ่านเอกสารสิ่งพิมพ์ร่วมสมัยต่าง ๆ และแนวคิดเหล่านี้อิทธิพลอย่างไรบ้างต่อความคิดของนักศึกษาระหว่าง 14 ตุลาถึง 6 ตุลา

สำหรับหนังสือ “รักและการปฏิวัติ” เล่าถึงสายธารความคิดและการต่อสู้เรื่องมโนทัศน์เกี่ยวกับความรักในหมู่นักปฏิวัติไทยที่ต้องการถอนรากถอนโคนเปลี่ยนแปลงสังคม การต่อสู้นี้เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายซ้ายและชนชั้นสูงซึ่งเป็นตัวแทนของศักดินาและฝ่ายนายทุนเพื่อแย่งชิงความหมายของความรัก

ฝ่ายซ้ายมองว่าชนชั้นสูงและนายทุนผูกขาดนิยามของความรักและวิถีปฏิบัติมาเนิ่นนาน พวกเขาก็เลยพยายามต่อสู้แย่งชิงความหมายของความรักกลับมา โดยให้มีความหมายใหม่ที่ก้าวหน้า และพยายามขบคิดว่าความรักที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมจะต้องเป็นอย่างไร โดยเสนอให้มีเสรีภาพในการเลือกคู่ครองและในขณะเดียวกันก็ต้องคิดในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นด้วย

ธิกานต์แบ่งงานที่ศึกษา พคท. ที่ผ่านมาสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ งานประเภทแรกคือบันทึกของบุคคลที่เคยเป็น พคท. ส่วนงานประเภทที่สองคืองานวิชาการ แต่แง่มุมหนึ่งที่ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนักในงานศึกษา พคท. คือด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ความคิดด้านความรักของ พคท. ดังเช่นในหนังสือ “รักและการปฏิวัติ” จะเข้ามาเติมเต็มงานด้านความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น เวลาคนหนุ่มสาวเข้าป่าในสมัยนั้น พวกเขาจัดความสัมพันธ์ด้านความรักกันอย่างไร หรือองค์กรมีความพยายามจะเข้ามาควบคุมความสัมพันธ์อย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ ผู้เขียนหนังสือ “รักและการปฏิวัติ” มองว่าปัญหาอย่างหนึ่งของความทรงจำเกี่ยวกับ พคท. ที่ผ่านมาเป็นการมองผ่านสายตาของนักศึกษาที่เข้าป่าไปหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นหลัก เพราะคนเหล่านี้รู้หนังสือและสามารถเขียนได้ ทำให้เมื่อออกจากป่ามา ความทรงจำของคนเหล่านี้จึงอยู่ในกระแสหลักคนบางคนเข้าใจผิดว่า พคท. พึ่งจะมีมาหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ทั้งที่ในความจริงแล้วการเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์ในสยามเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการปกครองเสียด้วยซ้ำ

และการนำเสนอแนวคิดว่าด้วยความรักที่ต้องขยายจากแค่ความรักของคนสองคนไปสู่ความรักและการยังประโยชชน์ต่อเพื่อนมนุษย์โดยนักคิดฝ่ายก้าวหน้าทั้งคนที่เป็นสมาชิก และไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค เพื่อแข่งแนวหรือวิพากษ์มุมมองความรักของชนชั้นนำจารีตที่เสนอว่าความรักเป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ในหมู่ชนชั้น และความรักของชนชั้นกระฎุมพีที่เสนอว่าความรักเป็นเรื่องอิสรเสรีของคนสองคน ก็เกิดขึ้นตั้งช่วงทศวรรษ 2490 แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาเกิดหลัง 6 ตุลา 2519

เพื่อให้ผู้ที่สนใจโดยเฉพาะมือใหม่ได้เข้าถึงแง่มุมต่างๆที่ครบถ้วนเกี่ยวกับ พคท. ธิกานต์แนะนำหนังสือที่ควรเริ่มต้นอ่าน เช่น งานของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเรื่องประวิติ พคท. โดย พคท. ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารฟ้าเดียวกัน และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในกระบวนการสันติภาพ นอกจากนี้ ธิกานต์ยังแนะนำงานเกี่ยวกับ พคท. ช่วงก่อน 2490 เรื่องกำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์สยามของ เออิจิ มูราชิมา ส่วนงานสุดท้ายคือหนังสือแผนชิงชาติไทยซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ของสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ขบวนการ พคท. เป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมซึ่งที่ผ่านมาถูกครอบงำโดยพวกขุนศึก ศักดินา และนายทุนจนถึงราก ดังนั้น สำหรับรัฐไทย ขบวนการที่เป็นปฏิปักษ์แม้จะตายไปแล้วก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่น่าจดจำ พคท. เองก็เป็นอีกขบวนการหนึ่งที่รัฐและชนชั้นนำไทยอยากให้ลืม ธิกานต์เสริมว่าแท้จริงแล้ว กรณีของ พคท. อาจจะแย่เสียยิ่งกว่า 6 ตุลาด้วยซ้ำ เนื่องจากถูกกดทับด้วยอคติหลายชั้นจนไม่ได้รับความสนใจจากสังคม

ตั้งแต่ที่มาจากคนที่เคยเข้าป่าด้วยกันเอง ปัญญาชนที่กลัวความทรงจำจะทำให้สังคมวุ่นวาย อคติที่ถูกสร้างขึ้นผ่านความล้มเหลวของคอมมิวนิสต์สากล ไปจนถึง “การแปลงร่าง” ของคนที่เคยเข้าร่วมขบวนการที่เปลี่ยนจุดยืน

นอกจากนี้ พคท. ยังเป็นขบวนการที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2470 แต่คนส่วนใหญ่กับไม่ค่อยรู้จัก พคท. มากนัก ถ้ารู้จักก็จะเป็นช่วงหลัง 6 ตุลาเท่านั้น ทั้งที่ พคท. เป็นขบวนการที่มีผู้เข้าร่วมจากชนชั้นล่างจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากนักวิชาการที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของชนชั้นล่างเท่าที่ควร เรื่องราวของ พคท. จึงถือว่าน่า “อาภัพ” มาก ดังนั้น การศึกษา พคท. จะทำให้เห็นว่าการต่อต้านอำนาจชนชั้นสูงไม่ได้มีแต่กบฏผู้มีบุญหรือคนเสื้อแดง แต่ยังมีขบวนการที่เคลื่อนไหวมาอย่างยาวนานมากอย่าง พคท. ด้วย

ธิกานต์ปิดท้ายว่า แม้ขบวนการ พคท. กับขบวนการนักศึกษาในยุคปัจจุบันจะต่างยุคสมัยกัน แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันในบางแง่มุม คนทั้งสองยุคต่างมีความฝันและอุดมคติที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีกว่าเดิมเช่นเดียวกัน นักศึกษาหลายคนในปัจจุบันเองก็คิดว่าตนเองกำลังสืบทอดเจตนารมณ์การต่อสู้ของคนรุ่นก่อน ๆ โดยอุดมคติเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยไหนก็ยังคงไม่ไปไหน แต่ยังคงเหมือนเดิมเหนือกาลเวลา

หากจะให้กล่าวถึงจุดอ่อนของ พคท. ธิกานต์เห็นว่าข้อหนึ่งที่สำคัญคือการไม่เป็นอิสระจากอิทธิพลจากจีน ด้วยเหตุนี้กรอบในการวิเคราะห์สังคมของ พคท. เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 2520 จึงล้าหลังไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่ก้าวไปสู่สังคมทุนนิยม

ในทางกลับกัน จุดแข็งหลักของ พคท. คือความมีวินัยในการปฏิบัติงาน การทำงานอย่างไม่เปิดเผยตัวและเก็บความลับไปกับตัวจนตาย ไม่ว่าจะยากลำบากแค่ไหนหรือถูกจับติดคุกอย่างไร หลายคนพอออกจากคุกออกมาก็กลับมาเข้าร่วมพรรคเหมือนเดิม อีกทั้ง พคท. ยังมีความสามารถในการจัดตั้งมากทั้งในด้านองค์กรและความคิด และมีเครือข่ายที่กว้างขวางกับต่างประเทศ ในมุมมองของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ไม่มีพรรคการเมืองไหนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เข้มแข็งเท่ากับ พคท. อีกแล้ว

เรียบเรียงโดย รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล

ภาพผู้แต่งได้รับจากผู้แต่ง