Skip to main content

นิทรรศการซ่อน(ไม่)หา(ย) ชวนผู้ชมสวมบทบาทนักสืบ ค้นหาสิ่งที่ถูกซ่อนไว้ในสังคม เพราะบางครั้งสิ่งที่มองไม่เห็นก็ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้นจริง  นิทรรศการค่อย ๆ นำผู้ชมเข้าสู่ชีวิตของผู้คนส่วนหนึ่งที่สูญหายไปจากสังคมไทยหลังจากพวกเขาออกมาแสดงออกทางการเมืองให้ได้เห็นมุมมองและสัมผัสประสบการณ์ที่พวกเขาเหล่านั้นต้องเผชิญ เสน่ห์ของนิทรรศการนี้คือการให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ รวมถึงรับรู้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับคนที่แสดงออกทางการเมืองโดยเฉพาะในประเด็นอ่อนไหว ผ่านเรื่องเล่าของนิทรรศการแต่ละส่วนที่สร้างขึ้นมาจากเรื่องราวและประสบการณ์ตรงของนักกิจกรรมสามคนที่ต่างประสบชะตากรรมเดียวกันคือถูกดำเนินคดีเพราะการแสดงออกทางการเมือง  

นิทรรศการนี้จัดแสดงระหว่างวันที่ 28 กันยายน - 27 ตุลาคม 2567สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ตั้งแต่เวลา 12:00 - 20:00น.ยกเว้นวันจันทร์
ณ  Kinjai Contemporary ใกล้ MRT สิรินธร ทางออก 3F

เมื่อเข้ามาในนิทรรศการ ผู้ชมจะได้รับกระดาษ Crossword และดินสอเพื่อไปตามหาคำที่หายไปและเรื่องราวที่ถูกสังคมซ่อนเอาไว้ กระดาษ Crossword ที่มี 19 ข้อนี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้ชมได้โฟกัสกับสิ่งที่นิทรรศการอยากสื่อได้อย่างไม่รู้ตัว ในแต่ละโซนจัดแสดงของนิทรรศการจะมีคำบอกใบ้ที่เป็นคำพูดหรือคำบอกเล่าเหตุการณ์ ทำให้ผู้ชมเข้าถึงความคิดของเจ้าของเรื่องเล่าทั้งสามคนผ่านทางผัสสะต่าง ๆ ทั้งสิ่งที่ได้เห็นและเสียงที่ได้ยิน  

ชั้นแรกของนิทรรศการจะพาผู้ชมไปดูเรื่องราวในบ้านหลังหนึ่งซึ่งมีเรื่องราวที่แสนอึดอัด ทั้งเรื่องที่มีคนในบ้านถูกดำเนินคดี สถานการณ์ความลำบากทางการเงินของที่บ้านที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางด้านซ้ายจะจัดวางด้วยโต๊ะไม้พร้อมกรอบรูปครอบครัวทั่วไป และมีพวงมาลัยวันแม่วางประดับไว้ พร้อมข้อความที่บอกว่า “เราสนิทกับพ่อแม่นะ ตอนเราโดนคดี ที่บ้านเคยบอกว่าสิ่งที่เราทำไม่ผิด เลือกทางนี้แล้วจะเกิดอะไรก็ต้องเข้มแข็ง” และทางด้านขวาของนิทรรศการจะเห็นบรรยากาศบ้านที่มีโทรทัศน์ไร้สัญญาณ และโต๊ะญี่ปุ่นปูด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หลายแผ่น ซึ่งข้างบนหนังสือพิมพ์นั้นก็มีใบแจ้งตัดค่าไฟฟ้าวางเอาไว้ พร้อมทั้งจานที่มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเรียงเป็นคำว่า “ไม่มีจะแดก” ชั้นนี้ตัวผู้เขียนประทับใจในรายละเอียดของสิ่งของแต่ละอย่างที่นำมาใส่ในการจัดแสดง โดยเฉพาะส่วนของใบแจ้งตัดไฟฟ้าที่ตัดส่วนชื่อทำให้เห็นข้อความบนหนังสือพิมพ์ข้างล่างที่เขียนว่า “รองนายกรัฐมนตรี” อย่างพอดี 


นิทรรศการส่วนต่อมาซึ่งอยู่บนชั้นลอยเล่าเรื่องของหนึ่งในสามนักกิจกรรมขณะที่ยังเป็นนักเรียน โดยมีการจัดแสดงป้ายแสดงความยินดีที่เจ้าของเรื่องได้รับรางวัลการแข่งโครงงานคณิตศาสตร์ และบรรยากาศในงานวันแม่ที่โรงเรียน ตัวผู้เขียนคิดว่าทางนิทรรศการต้องการจะแสดงให้เห็นว่าเจ้าของเรื่องเล่าสมัยเป็นนักเรียนก็ไม่ต่างอะไรจากนักเรียนทั่วไป แถมยังมีความสามารถเป็นถึงตัวแทนโรงเรียนได้แข่งทักษะโครงงานคณิตศาสตร์ระดับภูมิภาค ถือว่าเป็นเยาวชนที่มีอนาคตไกลอีกคน และส่วนที่เป็นงานวันแม่ก็ทำให้ผู้ชมได้เห็นถึงพื้นฐานนิสัยที่เป็นคนรักความยุติธรรมเพราะเจ้าของเรื่องเล่าได้รับอิทธิพลจากแม่ของตัวเอง


แม้ว่านิทรรศการที่ชั้นลอยจะไม่ได้มีรายละเอียดให้ผู้ชมค้นหามากเท่ากับพื้นที่จัดแสดงชั้นหนึ่ง แต่ผู้เขียนก็สังเกตเห็นสิ่งที่น่าสนใจคือระหว่างทางเดินจากชั้นลอยไปถึงชั้นสอง จะมีหุ่นทหารของเล่นตัวเล็ก ๆ ตั้งเรียงกันคล้ายทหารยืนเรียงแถวซึ่งครั้งแรกตัวผู้เขียนไม่รู้ว่าหุ่นทหารเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการแต่เมื่อเดินไปในงานส่วนอื่น ๆ ทั้งบันไดชั้นลอยขึ้นไปชั้นสอง หรือบริเวณที่จัดแสดงชั้นหนึ่ง จึงได้รู้หุ่นทหารเป็นองค์ประกอบหนึ่งของนิทรรศการด้วย จึงรู้สึกประทับใจในการนำหุ่นใส่เข้ามาแบบไม่ทันให้ผู้ชมสังเกต  มารู้ตัวอีกทีก็มีทหารอยู่เต็มไปหมดเสียแล้ว


เมื่อขึ้นมาถึงชั้นสอง ผู้ชมจะพบกับบอร์ดแสดงความคิดเห็นเรื่อง‘สวัสดิการที่อยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทย’ ซึ่งมีตัวเลือกได้แก่ สวัสดิการของขวัญแรกเกิดจากรัฐ สวัสดิการพ่อและแม่มีสิทธิลาคลอดพร้อมเงินช่วยเหลือจากรัฐ สวัสดิการเรียนฟรีในระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาและยกเลิกหนี้ก.ย.ศ. สวัสดิการเงินช่วยเหลือเมื่อว่างงาน และสวัสดิการบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า 3,000 บาทและปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ โดยผู้ชมจะสามารถมีส่วนร่วมในการติดสติกเกอร์แสดงความเห็นบนกระดาน และเมื่อหันหลังก็จะพบกับชั้นหนังสือขนาดใหญ่ที่มีหนังสืออัดแน่นโดยเฉพาะหนังสือการเมือง บนชั้นยังมีหนังสือ ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย’ ของ กุลดา เกษมบุญชู มี้ดซึ่งคำบรรยายประกอบนิทรรศการระบุว่าเจ้าของเรื่องได้รับแรงบันดาลใจให้เริ่มมาสนใจการเมืองมากขึ้นหลังได้อ่านหนังสือเล่มดังกล่าว และเมื่อผู้ชมจะเดินไปทางบันไดขึ้นชั้นสามก็จะพบกับปฏิทินที่ถูกปิดเรียงบนผนังอยู่ในเงามืด และได้อ่านเรื่องราวที่เจ้าของเรื่องพูดถึงการที่ตัวเจ้าของเรื่องตอนถูกคดีทางการเมือง ทำให้เขาต้องใช้ทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อจะให้ศาลพิพากษายกฟ้อง และหากผู้ชมเพ่งมองปฏิทินที่ถูกแขวนเรียงอยู่ในความมืดให้ดีก็จะพบว่าปฏิทินของเจ้าของเรื่องเริ่มต้นในปี 2003 ทำให้ตัวผู้เขียนคาดว่าในปัจจุบัน (2024) เจ้าของเรื่องคงเพิ่งจะมีอายุเพียงแค่ 21 ปีเท่านั้น 


 

ในส่วนของชั้นที่สอง ตัวผู้เขียนเห็นว่าแม้เรื่องเล่าและชิ้นงานที่จัดแสดงจะไม่ได้มีความหวือหวา แต่ก็เปิดให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับนิทรรศการด้วยการทำโพล ซึ่งหากผู้ชมมาดูงานด้วยกันมากกว่าหนึ่งคนก็อาจมีโอกาสได้ถกเถียงกันว่าทำไมแต่ละคนถึงเลือกตอบคำถามโพลเรื่องรัฐสวัสดิการในลักษณะที่แตกต่างกัน


เมื่อเดินขึ้นบันไดไปที่ส่วนจัดแสดงต่อไป คาดว่าผู้ชมที่มานิทรรศการคงจะได้ยินเสียงปราศรัยดังก้องลงมาตั้งแต่ก่อนที่ตัวจะถึงชั้นสาม ผู้เขียนเลยพอจะเดาได้ว่าไฮไลท์ของงานน่าจะอยู่ที่ชั้นนี้  เมื่อเดินพ้นบันไดมาถึงสิ่งแรกที่เห็นคือห้องที่ดูคล้ายสถานีตำรวจ ภายในมีแสงไฟไซเรนของรถตำรวจและเสียงตะโกนเหมือนมีคนกำลังปราศรัย ที่หน้าห้องมีข้อความติดไว้ว่า ‘เมื่อทำสิ่งนี้แล้วจึงโดนคดี 112’ ผู้ชมนิทรรศการสามารถเปิดประตูห้องเพื่อเข้าไปฟังเสียงชัด ๆ ภายในห้องได้ ซึ่งข้างในจะเป็นห้องสีแดงที่มาจากแสงไฟไซเรน ขณะที่โทรโข่งที่แขวนอยู่กลางห้องก็เปิดคำปราศรัย    ตอนหนึ่งของทนายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนที่ขณะนี้ถูกคุมขังด้วยคดีมาตรา 112 โดยคำปราศรัยที่ถูกตัดมา เป็นคำปราศรัยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ที่ทนายอานนท์ประกาศว่าจะปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา ผู้เขียนเมื่อได้เข้าไปฟังคำปราศรัยก็รู้สึกถึงความหนักแน่นในอุดมการณ์และความกล้าหาญของผู้ปราศรัย


เมื่อออกมาจากห้องผู้ชมจะพบกับส่วนจัดแสดงที่จัดเป็นตู้โทรศัพท์  บนเครื่องมีโน๊ตเขียนกำกับว่า ‘ยกหูฟัง นี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้คุยกัน’ เมื่อยกหู ผู้ชมจะได้ยินบทสัมภาษณ์ของคนที่น่าจะเป็นเพื่อนของเจ้าของเรื่อง กำลังเล่าถึงนิสัยและแนวคิดในการดำเนินชีวิตของเจ้าของเรื่องที่ต้องการต่อสู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม รวมถึงประสบการณ์ของคนให้สัมภาษณ์และเจ้าของเรื่องขณะถูกคุมขังในเรือนจำ 


ส่วนตัวแล้วผู้เขียนขอยกให้พื้นที่จัดแสดงนี้เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของนิทรรศการและอยากชวนให้ผู้ชมท่านอื่นยกหูโทรศัพท์เพื่อฟังบทสัมภาษณ์นี้ ตัวผู้เขียนเองเมื่อได้ฟังเรื่องเล่านี้ก็รู้สึกเห็นใจและสะเทือนใจกับเรื่องที่ได้รับฟังเป็นอย่างมากโดยเฉพาะเรื่องราวที่พูดถึงความเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงสังคมแม้จะยังอยู่ในเรือนจำ


นอกจากส่วนจัดแสดงข้างต้นแล้วบนชั้นสามยังมีพื้นที่จัดแสดงที่เป็นห้องขนาดใหญ่อีกห้องหนึ่งเมื่อผู้ชมเดินเข้าไปจะพบกับหุ่นทหารที่ตั้งแถวในลักษณะเป็นขบวนและมีรถตำรวจอยู่ตรงกลาง กับข้อความที่บอกว่า “เรายืนอยู่ในที่เกิดเหตุตอนจังหวะปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เลยมีปากเสียง และกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดจนโดนคดี 112” เมื่อเดินเลยจากส่วนจัดแสดงนี้ไปก็จะมีพื้นที่จัดแสดงอีกส่วนหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายแนวกำแพงชั้นนอกของวัดพระแก้ว พื้นที่จัดแสดงนี้ยังมีลูกเล่นที่น่าสนใจคือเมื่อมองผ่านตัวกำแพงไปจะเห็นกับกรอบรูปสีทองที่อยู่ในพื้นแสดงอีกฝั่งหนึ่งได้พอดี


ตัวผู้เขียนเมื่อได้เห็นส่วนจัดแสดงที่คล้ายเป็นกำแพงวัดพระแก้วกับกรอบรูปเปล่าสีทองก็อดไม่ได้ที่จะหวนนึกถึงการชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร ในปี 2563 ที่มีการชุมนุมกันที่สนามหลวง ที่มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้อง  เพื่อให้ประชาชนสามารถพูดหรือแสดงความคิดเห็นต่อพระมหากษัตริย์ได้อย่างตรงไปตรงมา ทว่าระยะห่างระหว่างส่วนจัดแสดงที่เป็นกำแพงกับกรอบสีทองที่อยู่ห่างกันคนละฝั่งก็ทำให้ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่าข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯดูจะอยู่ห่างไกลจากความเป็นจริง เพราะคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นก็ยังถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 คนในสังคมอีกส่วนหนึ่งก็ดูจะปฏิเสธแนวคิดดังกล่าวไปตั้งแต่ต้นโดยไม่ต้องการพูดคุยถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังข้อเสนอเหล่านั้น 


ในห้องจัดแสดงนี้ยังมีพื้นที่จัดแสดงอีกส่วนหนึ่งที่ตัวผู้เขียนเองค่อนข้างมีความรู้สึกเป็นพิเศษคือจดหมายจากเรือนจำของสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือ ขนุน ที่ถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลาสองปีจากการถูกกล่าวหาว่าปราศรัยพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563และในวันที่ผู้เขียนเข้าชมนิทรรศการ ขนุนยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ท่ามกลางจดหมายของขนุนหลายๆฉบับที่ถูกนำมาจัดแสดง ฉบับที่มีภาพวาดของหมูเด้ง ฮิปโปแคระที่เพิ่งเกิดใหม่และเป็นกระแสอยู่ในสวนสัตว์เขาเขียวเป็นฉบับที่ผู้เขียนให้ความสนใจเป็นพิเศษเพราะแม้รูปวาดของหมูเด้งจะถูกวาดขึ้นอย่างน่ารัก แต่ผู้เขียนกลับรู้สึกถึงความเศร้าที่แฝงมากับรูปวาดที่แสนน่ารักนั้น


เมื่อผู้ชมเดินขึ้นบันไดมาที่ชั้น 4 ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของนิทรรศการ จะมีภาพของผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ติดรวมๆกันอยู่ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเรื่องราวที่เพิ่งได้รับชมในนิทรรศการ อาจเป็นเรื่องราวของคนในภาพคนไหนสักคนหนึ่ง บนชั้นนี้ผู้ชมยังสามารถมีส่วนร่วมกับนิทรรศการได้โดยการติดสติกเกอร์แสดงความคิดเห็นว่าเพื่อไม่ให้มีใครต้องถูกสังคมเอาไปซ่อนไว้อีก ทางออกที่ควรเป็นคืออะไร ซึ่งสามารถเลือกตอบได้ทั้ง ไม่ต้องแก้ไขอะไรเลย, ให้สิทธิประกันตัวผู้ต้องหา, ออกกฏหมายนิรโทษกรรม, แก้ไขบางส่วนของตัวประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งผู้ชมนิทรรศการสามารถเลือกสีกระดาษโพสต์อิทตามช่วงวัยของผู้เข้าชมไปติด และเขียนแสดงความเห็นของตัวเองประกอบได้


 

นิทรรศการนี้ หากใช้เวลาเดินสำรวจทั้งหมดแบบไม่รีบจะใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง แต่สำหรับคนที่มีเวลาชมไม่มาก ผู้เขียนอยากแนะนำให้ขึ้นมาที่ชั้นสาม เพื่อดูไฮไลต์ของงานที่อยู่ในห้องปราศรัย ในสายโทรศัพท์และส่วนจัดแสดงจดหมายของขนุน เพียงเท่านี้ผู้เขียนก็คิดว่าตัวผู้ชมน่าจะได้ซึมซับบรรยากาศและใจความสำคัญที่นิทรรศการต้องการนำเสนอได้เป็นอย่างดีได้เป็นอย่างดี


สำหรับผู้เขียน จุดเด่นของนิทรรศนี้อยู่ที่การคือการค่อย ๆ พาผู้ชมให้หลุดเข้าไปในชีวิตของนักกิจกรรมที่เป็นตัวเดินเรื่อง เมื่อตัวนิทรรศการไม่ได้เฉลยตรงๆการจัดแสดงแต่ละส่วนสร้างขึ้นมาจากชีวิตของใครคนใดคนหนึ่งก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเรื่องที่นำมาเล่าเป็นชะตากรรมร่วมของคนที่ถูกสังคมพาไปซ่อนไว้ ตัวผู้เขียนเองเมื่อได้ลองเดินชม จากชั้นแรกก็เกิดความตื่นเต้นในความสมจริง และชื่นชมความนัยที่ซ่อนอยู่ในการจัดวางของนิทรรศการ เมื่อเดินชมไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มเข้าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เหมือนได้ดูภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องของผู้คนเหล่านี้ในแต่ละช่วงชีวิต ทำให้ในท้ายที่สุดเมื่อถึงชั้นสุดท้ายเลยเป็นเหมือนคนที่เดินออกจากโรงภาพยนตร์โดยมีตะกอนความคิดและความรู้สึกที่หลงเหลือเอาไว้ ทั้งสะเทือนใจในสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงประทับใจในตัวตนของผู้คนที่อยู่ในเรื่องเล่า


สำหรับกระดาษ Crossword ที่ได้มาในตอนต้นของนิทรรศการ ตัวผู้เขียนไม่สามารถตอบได้ครบแต่ก็ตอบได้เกินครึ่ง บางข้อก็มีคำตอบเขียนไว้ในคำใบ้หรือมีสิ่งของที่เป็นคำตอบปรากฏในพื้นที่จัดแสดงอย่างชัดเจน แต่บางข้อก็จำเป็นต้องใช้ความคิดตัวเองในการวิเคราะห์ ทำให้หลาย ๆ ครั้งก็เกิดยอมแพ้ไปเสียก่อน แต่การที่ให้ผู้ชมได้พยายามลองคิดถึงคำที่เว้นว่างไว้ ทำให้ตัวผู้ชมได้ลองคิดสิเคราะห์กับประเด็นดังกล่าวแล้ว จึงคิดว่าแม้จะตอบไม่ได้ทุกข้อ แต่อย่างน้อยก็ทำให้ผู้ชมนิทรรศการได้ลองเพ่งความคิดเพื่อหาคำตอบเรียบร้อยแล้ว 


พอถึงตอนท้ายสุดของนิทรรศการ แม้บางคนจะไม่ได้เขียนแสดงความคิดเห็นแต่เชื่อว่าทุกคนจะต้องหลงเหลือความรู้สึกบางอย่างเอาไว้ในใจ และนั่นคือจุดมุ่งหมายของนิทรรศการ ‘ซ่อน(ไม่)หา(ย)’ เพราะสุดท้ายแล้วสังคมก็ไม่อาจซ่อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นและความจริงไว้ได้ทั้งหมด

 

เรื่องและภาพ โดย รุ่งอรุณ