ในงาน 48 ปี 6 ตุลา กระจกส่องสังคมไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ พิพิธภัณฑ์สามัญชนได้รับความอนุเคราะห์พื้นที่จัดแสดงภายในหอประชุมศรีบูรพาซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน เราจึงนำคอลเลคชันส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา และการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ไปร่วมจัดแสดงโดยคอลเลคชันที่เรานำไปร่วมจัดแสดงในงานนี้เป็นครั้งแรก ได้แก่ หนังสือพิมพ์ฉบับหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เราเพิ่งได้รับบริจาคมา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์และดาวสยามที่จัดพิมพ์ระหว่างปี 2517 - 2518 ที่เราเพิ่งทำการจัดซื้อมา รวมถึงกล่องฟ้าสาง นิทรรศการบรรจุกล่องที่เราจัดซื้อมาตั้งแต่ปี 2564 นอกจากนั้นเรายังได้รับความอนุเคราะห์จากคุณทะเล นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่นำหนังสือพิมพ์ดาวสยามฉบับวันที่ 7 ตุลาคม 2519 และ ไทยรัฐฉบับวันที่ 9 ตุลาคม 2519 มาให้เราจัดแสดงในงานด้วย
กล่องฟ้าสาง
ในนิทรรศการนี้ พิพิธภัณฑ์สามัญชนพาผู้ชมไปสำรวจหน้าหนังสือพิมพ์ที่บันทึกปรากฎการณ์ความอึดอัดคับข้องใจต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่ สภาพการจ้างงานและค่าตอบแทนผู้คนต่างสาขาอาชีพ เช่น กลุ่มกรรมกรและครูที่ปะทุออกมาเป็นการประท้วงหลังถูกจำกัดเสรีภาพการแสดงออกในยุคที่จอมพลถนอมครองอำนาจ
ขณะเดียวการเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นของกลุ่มพลังต่างๆที่ปะทุออกมาก็ถูกรายงานข่าวโดยสื่อบางสำนักในลักษณะการสร้างภาพให้เป็นผู้ก่อความวุ่นวายหรือมีความเชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ในขณะนั้นถูกเรียกขานว่าเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ซึ่งส่งผลให้เกิดการตีตราคนบางกลุ่มว่าเป็นภัยคุกคามหรือผู้ไม่หวังดี และปูทางไปสู่การยอมรับต่อการใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับผู้ถูกตีตราในเวลาต่อมา
นิทรรศการนี้ มีผู้ชมหมุนเวียนเข้ามาชมงานอย่างน้อย 200 คน สำหรับคอลเลคชันที่ผู้ชมให้ความสนใจเป็นพิเศษได้แก่ สำเนาสมุดบันทึกของอส.แจ้ง มุกสง ที่จดบันทึกการอบรมปฏิบัติการจิตวิทยาและการโฆษณาชวนเชื่อโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิธีการและแนวคิดที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมีต่อผู้ที่พวกเขาเห็นว่าเป็นคอมมิวนิสต์ รวมถึงกล่องฟ้าสางที่ชวนผู้ชมมองเหตุการณ์ 6 ตุลาผ่านการทำงานของหนักเคลื่อนไหวในฝ่ายต่างๆ
สมุดบันทึกของอส.แจ้ง มุกสง (ของจริง)
ระหว่างชมนิทรรศการยังมีผู้ชมคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตด้วยว่าหนังสือพิมพ์ดาวสยามมีการปรับคำขวัญที่ปรากฎอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ จากฉบับที่พิมพ์ในปี 2518 ใช้คำขวัญว่าหนังสือพิมพ์เพื่อประชาชน ไปใช้คำคำขวัญ เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในฉบับที่ 7 ตุลาคม 2519 อย่างไรก็ตามที่พิพิธภัณฑ์ไม่มีข้อมูลว่าคำขวัญดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนเป็นครั้งแรกในฉบับใด
เรื่องโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์
ภาพโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์ และอานนท์ ชวาลาวัณย์