Skip to main content

เอ็มพาวเวอร์ ก่อตั้งเมื่อปี 2528 โดยกลุ่มผู้หญิงค้าประเวณีในซอยพัฒน์พงษ์ที่รวมตัวกันเพื่อเรียนภาษาอังกฤษไว้สื่อสารกับลูกค้าท่ามกลางบริบทสังคมไทยและกฏหมายที่พยายามจำกัดสิทธิของผู้หญิงและกดปราบผู้ประกอบอาชีพบริการทางเพศราวกับเป็นอาชญากร ทำให้พวกเธอมักจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง จนนำมาสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและคืนศักดิ์ศรีของผู้หญิงค้าบริการทางเพศในรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลายมาอย่างยาวนาน โดยมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์มีศูนย์หลักประจำอยู่ที่ตัวเมืองเชียงใหม่

ที่มาของเอ็มพาวเวอร์: “โสเภณีเรียนหนังสือ”

ปิงปอง ทันตา  เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์  พื้นเพของเธอเป็นคนจังหวัดนครราชสีมาและอดีตพนักงานบริการที่ทำงานบาร์ในเมืองเชียงใหม่ เล่าถึงประวัติที่มาของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ให้ฟังว่าเอ็มพาวเวอร์เกิดจากการรวมตัวกันของเหล่าผู้หญิงบริการทางเพศในซอยพัฒน์พงษ์ที่ต้องการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารกับลูกค้าต่างชาติ

“ตอนแรกรวมตัวกันไม่กี่คนเพื่อเรียนภาษาอังกฤษเพราะสมัยนั้นผู้หญิงไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนเรื่องการศึกษาเท่าไหร่ ถ้าไม่มีฐานะ ก็เรียนจบกันแค่ประถม 4 - 6 เขาไม่เห็นความสำคัญการเรียนของผู้หญิง เพราะสมัยนั้นเชื่อว่าพอผู้หญิงแต่งงานไปก็แค่ดูแลลูก ดูแลผัวอยู่บ้าน”

“พอดีตอนนั้น พี่น้อย-จันทวิภา อภิสุข พึ่งกลับมาจากต่างประเทศ และเป็นเพื่อนกับลุงแมคฝรั่งใจดีพูดไทยที่คอยช่วยเขียนและแปลจดหมายให้ผู้หญิงในย่านพัฒน์พงษ์เวลาจะสื่อสารกับลูกค้า ทีนี้ผู้หญิงกลุ่มนี้เขาอยากเรียนภาษาอังกฤษจะได้คุยกับลูกค้าได้ ก็เห็นกันว่ามันไม่มีสถาบันสอนภาษา พี่น้อยเลยอาสามาสอนให้ ยุคแรกเริ่มเราเรียนกันที่ร้านส้มตำข้างถนน แล้วช่วงนั้นเป็นหน้าฝนก็เรียนไม่ได้อีก พอดีบาร์ในยุคนั้นเปิด 24 ชั่วโมง ช่วงบ่ายๆไม่มีลูกค้า ก็เลยชวนกันย้ายมานั่งเรียนข้างใน”

“ทีนี้ นักข่าวที่นั่งกินเบียร์อยู่ในบาร์พอดีก็เห็นแล้วไปทำข่าวลงหนังสือพิมพ์พาดหัวว่า “โสเภณีเรียนหนังสือ” ก็คือฮือฮามากในยุคสมัยนั้น เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าโสเภณีเป็นพวกไม่มีสมอง ข้อดีคือ sex worker ก็มาขอเรียนเพิ่มขึ้นเป็นการเปิดกระแสสังคม คนเห็นว่ามันก็ดีนะอยากสนับสนุน แล้วก็มีคนญี่ปุ่นโทรมาคุยแล้วถามว่าชื่อกลุ่มอะไร พี่น้อยที่เป็นคนรับโทรศัพท์ก็ถามเพื่อนๆว่าพวกเราชื่อกลุ่มอะไรหรอ แล้วก็มีคนตะโกนบอกว่า “เอ็มพาวเวอร์” เราก็เลยชื่อกลุ่มเอ็มพาวเวอร์ ตั้งแต่นั้นมา”

“หลังจากมีคนมาเรียนเพิ่มขึ้น เราก็ไปเช่าสถานที่สำหรับเรียนภาษาอังกฤษ สมัยรุ่นแรกยังไม่มีโต๊ะเรียนเลย มีแค่ห้องเปล่าๆห้องนึงกับกระติกน้ำแข็งเท่านั้น ”

ภาพจาก: เพจเฟซบุ๊ก Empower Foundation

“ส่วนตัวพี่ก็เป็นนักเรียนของเอ็มพาวเวอร์เหมือนกัน ตอนนั้นเอ็มพาวเวอร์มาเปิดศูนย์ในเชียงใหม่เมื่อปี 2535 พี่มาสมัครเรียนตอนปี 2539 แรกๆก็ไม่กล้าเข้าร่วม เพราะกลัวว่าจะเป็นพวกองค์กรศาสนารึเปล่า (หัวเราะ) จนเพื่อนพี่ที่เข้าเอ็มพาวเวอร์ก่อนมาเล่าให้ฟังว่าไม่ใช่ ละเราก็เห็นว่าเพื่อนเอาวุฒิไปต่อมหาลัย เราก็เริ่มสนใจอยากเรียนด้วย จนต่อมาพี่เคยมาเป็นอาสาสมัครของเอ็มพาวเวอร์สอนภาษาไทยให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เชียงใหม่ ส่วนคนทำงานบาร์เขาก็มาเรียนภาษาอังกฤษกัน สมัยนั้นมีเรียนทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ พิมพ์ดีดและก็มีทำกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อนที่เป็น Sex worker ”

“เหตุผลที่เอ็มพาวเวอร์เปิดสอนวิชาอื่นนอกเหนือจากภาษาอังกฤษด้วยเพราะว่าเอ็มพาวเวอร์เปิดเป็นศูนย์เรียน กศน.ในเวลาต่อมา เราไม่ได้มีโอกาสเรียนหนังสือในโรงเรียนตามปกติเหมือนคนอื่น  ผู้หญิงเหล่านีก็เลยอยากเรียน แล้วในยุคนั้น โห กว่าเราจะทำงานเสร็จก็รุ่งเช้าของอีกวัน กศน. เปิด 8 โมง เรายังไม่ได้นอนเลย คิดดู สภาพกลิ่นเหล้าหึ่ง บางที่ศูนย์ กศน. ไม่ให้เราเข้าห้องน้ำด้วยซ้ำ เพราะรังเกียจแล้วก็ตีตราเรา เอ็มพาวเวอร์ก็เลยเปิดเป็นศูนย์กศน. เอง เข้าเรียนบ่ายโมงถึงบ่ายสาม ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะกับอาชีพ sex worker แบบเรา”

“นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเอ็มพาวเวอร์อยู่ได้นาน เพราะว่าตอบสนองความต้องการของชุมชน เปิดศูนย์กศน. สอนตั้งแต่ระดับประถม ม.ต้น ม.ปลาย แล้วก็มีใบรับรองกระทรวงศึกษาธิการด้วยเมื่อจบตามหลักสูตรก็ไปเรียนต่อในระดับมหาลัยได้ ตอนนี้ก็มีจบมหาลัยไปหลายคนแล้ว”

Honey Bee การ์ตูนภาษาอังกฤษสู่ละครเวทีขับเคลื่อนสังคมระดับโลก

“หลังจากจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่ม sex worker เพื่อเรียนภาษา พี่น้อย(จันทวิภา) กับพี่จุ๋มที่เป็นศิลปิน Performance Art ก็ออกไอเดียกันอีกว่าเราทำหนังสือพิมพ์ที่แทรกเนื้อหาเป็นการ์ตูนสามช่องไว้สอนภาษาอังกฤษแจกคนในชุมชนดีมั้ย เราก็เลยมีการ์ตูนสอนภาษาอังกฤษ ชื่อการ์ตูนฮันนี่บี เมื่อราวๆปี 2529-30

“ พร้อมกับละครฮันนี่บีที่เป็นละครข้างถนนขับเคลื่อนสังคม สร้างความตระหนักรู้ให้คนในสังคมเกี่ยวกับ sex worker โดยละครมิวสิคัลเรื่องแรกชื่อ “รุ้งหลังฝน” แสดงที่เวทีอะโกโก้ ย่านพัฒน์พงษ์ เมื่อปี 2530 ซึ่งต่อมาทางกลุ่มก็มีการถูกเชิญให้ไปแสดงที่หอศิลป์พีระศรีด้วย”

ละครฮันนี่บีที่แสดงโดยกลุ่มเอ็มพาวเวอร์ถือเป็นหนึ่งในผลงานอันโดดเด่นที่นอกจากจะได้แสดงในไทยแล้วยังได้ออกสู่สายตานานาชาติ ซึ่งเนื้อหาหลักของละครจะมุ่งเน้นในการสร้างความตระหนักรู้ในสังคมยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ละครใบ้เรื่องแรกที่จัดแสดงในปี 2535 นำเสนอถึงการใช้ถุงยางอนามัยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในขณะนั้น

“เมื่อประมาณ 2527 โรคเอดส์เริ่มเข้ามาในไทย ผู้หญิงทำงานบาร์ก็มีลูกค้าต่างชาติเตือนว่าให้ใส่ถุงยาง แต่ตอนนั้นสาธารณสุขไทยบอกว่าเป็นโรคของต่างประเทศ ไม่มาในไทยหรอก จนกระทั่งมีคนไทยคนแรกที่กลับมาจากอเมริกาประกาศว่าติดเชื้อเอดส์ที่ว่าเขาเป็นเกย์ จากนั้นก็มีกระแสสังคมที่ตีตราว่า Sex worker เป็นตัวแพร่เชื้อ HIV เพราะมีพฤติกรรมมั่วเซ็ก ถ้ารักเดียวใจเดียวก็ไม่เป็นหรอก”

“ เราก็เลยทำละครใบ้ฮันนี่บีเพื่อที่จะสื่อว่า ไม่ว่าใครก็ตามก็ต้องใส่ถุงยางขณะมีเพศสัมพันธ์ ฝรั่งดูก็เข้าใจแล้วก็ถูกเชิญไปแสดงในต่างประเทศทั่วโลก เช่น แคนาดา แม็กซิโก ออสเตรเลีย ส่วนมากจะเป็นงานประชุมโรคเอดส์ปีละครั้ง เขาซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายให้ เราก็ไปแสดงกว่า 30 ปี จนพี่บ่นกับเพื่อนว่าเบื่อแล้วไรงี้ (หัวเราะ) แล้วเราก็เลิกไปแสดง เพราะว่ากลุ่มของเราไม่ได้มุ่งเน้นด้าน HIV เป็นหลัก ”

“เราทำละครฮันนี่บีก็เพื่อช่วยบอกเตือนเพื่อนของเรา และก็ลดในเรื่องการตีตรา จนผลลัพธ์ก็คือ sex worker ตอนนี้กลายเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อ HIV น้อยที่สุดเป็น 2 เปอร์เซ็นต์”

“ถ้าถามถึงสมาชิกกลุ่มเอ็มพาวเวอร์จาก 7-8 คนก็ค่อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆนะจนปี 2560 จำนวนสมาชิกที่อยู่กับเรามีประมาณ 50,000 คน ส่วนมากก็จะเป็นผู้หญิงประกอบอาชีพค้าบริการ อายุเฉลี่ย 23 ปี แต่สมัยก่อนอายุน้อย เมื่อก่อนคนแต่งงานไว อายุ 14-16 ก็มีลูกแล้ว พอสามีทิ้งไม่มีที่ไปก็มาทำงานนี้ บางที่ในยุคนั้นอายุต่ำกว่า 18 ปีก็มี แต่สมัยนี้ ไม่ได้ เพราะเท่ากับการค้ามนุษย์ หลายๆร้านก็ไม่รับเพราะกลัวเดือดร้อน”

“พอดีว่า นักเต้นอะโกโก้ชื่อ ผึ้ง หนึ่งในสมาชิกเอ็มพาวเวอร์เป็นคนแรกๆเลยที่ชอบตั้งคำถามว่าทำไมเราถูกเอาเปรียบ กดขี่ จากนายจ้าง ถูกปฏิบัติไม่เหมือนคนทำงานเลย ก็คุยกันในกลุ่มว่าปัญหามันมาจากไหน ก็มาค้นพบว่าปัญหามาจากตัวกฏหมายนี่เองที่บอกว่าเราผิด ”

กระบวนการสร้าง “ผู้หญิงที่ดี” ภายใต้กฏหมายปราบปรามการค้าประเวณี

ทันตาเล่าต่อไปว่า “กฏหมาย พรบ. ปราบปรามการค้าประเวณีปี 2503 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นกฏหมายที่แรงนะ ถ้าเจ้าหน้าที่เห็นว่าใครเป็น Sex worker ก็จะถูกจับ เอาไปขังที่บ้านเกร็ดตระการ เกาะเกร็ด แถวจังหวัดนนทบุรี เพื่อเอาเราไปเรียนเย็บผ้า จักรสาน เรียนวิชาชีพ เรียกว่าเป็นโครงการล้างให้กลายเป็นผู้หญิงที่ดีคืนสู่สังคมน่ะ  ประมาณ1-2 ปีจนกว่าจะเป็นผู้หญิงสะอาด ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่นะ แต่ว่าตอนนี้เปลี่ยนกลายเป็นสถานสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กแล้ว”

ทันตาเล่าว่ากฏหมายดังกล่าวเป็นช่องโหว่นำไปสู่การกดขี่และเอาเปรียบผู้ประกอบอาชีพค้าบริการส่งผลให้ร้านต่างๆ ต้องจ่ายส่วยในการทำกิจการ ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้มีเงินจ่ายส่วย นายจ้างหลายร้านจึงมีกาสร้างกฏระเบียบที่เอาเปรียบด้วยการหักรายได้ของพวกเธอ เช่น  วางแก้วเสียงดังหักเงิน 200 บาท มาสายหักเงินนาทีละ 5 บาท ลางานหรือขาดงานวันศุกร์-เสาร์ก็จะถูกหักเงินวันละ 500 บาท รายได้จริงของพวกเธอจะมากหรือน้อยจึงขึ้นอยู่กับว่าพวกเธอได้ออกไปต่อกับลูกค้าหรือเปล่า

ภาพจาก: เพจเฟซบุ๊ก Empower Foundation

รวมไปถึงปัญหาการล่อซื้อโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือคนที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ หรือคนที่อ้างว่าอยากช่วยเหลือสังคมก็มาล่อซื้อด้วยการร่วมหลับนอนกับผู้หญิงค้าบริการจากน้ันจะใช้ถุงยางอนามัยและเงินเป็นหลักฐานดำเนินคดี

Can do bar บาร์ยุติธรรม ทำเองได้ กับสถานะแรงงานที่ไม่ถูกยอมรับ

ทันตาเล่าว่า การรวมตัวใช้เวลาร่วมกันของกลุ่มผู้หญิงบริการทำให้พวกเธอได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถูกเอารัดเอาเปรียบในร้านจากทั้งนายจ้างและลูกค้า

รวมไปถึงปัญหาสภาพแวดล้อมภายในร้านที่มีกลิ่นบุหรี่ เสียงเพลงที่ดังเกินไป ไฟสว่างไม่เพียงพอทำให้มองไม่เห็นเวลาต้องรับออเดอร์ลูกค้า ตลอดจนการทำงานเกินเวลาโดยเฉพาะเมื่อลูกค้ายังไม่กลับบ้านจนถึงตีสามแต่พวกเธอก็ไม่ได้เงินพิเศษ บางคนไม่สามารถลางานไปดูแลแม่ที่ป่วยได้เพราะจะถูกหักเงิน และที่สำคัญคือสิทธิประกันสังคมที่ไม่รองรับสำหรับกลุ่มอาชีพพนักงานบริการ ส่งผลให้พวกเธอต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลในราคาแพง ซึ่งประสบการณ์ดังกล่าวจึงนำไปสู่ไอเดียในการสร้างบาร์เป็นของตนเองในเชียงใหม่

“Can do bar ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานของเราโดยผู้หญิงที่ทำงานในบาร์ ร้านอาบอบนวด อะโกโก้มาเจอกันที่เอ็มพาวเวอร์แล้วก็พูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกันว่าทำไมไม่มีร้านไหนที่ยุติธรรมกับเราเลย ก็มีคนเสนอว่าอยากทำบาร์ เราทุกคนก็เลยเอาเงินมาลงขันกันเปิดบาร์เป็นของตัวเอง”

“เหตุผลที่เปิด Can do bar ในเชียงใหม่แลนด์ เพราะยุคนั้นช่วงรัฐบาลทักษิณเขาก็อยากจัดพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นย่านสถานบันเทิงประกอบกับย่านนี้มันมีแต่ไนท์คลับ ร้านคาราโอเกะ ร้านเหล้า ผับ ยังไม่มีบาร์ ส่วนมากบาร์จะไปอยู่แถวประตูท่าแพ เราก็เลยมาเริ่มต้นเปิดที่นี่แล้วก็เพื่อจะได้ไม่ถูกไล่ที่ด้วย”

“เราเปิดร้าน Can do bar วันแรกเมื่อ 15 กันยายน 2549 ก่อนทักษิณโดนรัฐประหารไม่กี่วัน”

“ก่อนเปิดบาร์นี้ เราก็คิดนะว่าจะทำไงให้ร้านมีอาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมสถานที่ทำงานเราก็ช่วยกันหาข้อมูลจากสาธารณสุขมาใช้กับบาร์ของเรา ก็คือเสียงห้ามเกิน 91 เดซิเบล มีทางระบายอากาศ มีทางหนีไฟ แสงไฟสว่างเพียงพอ  ห้องน้ำแยกระหว่างชายหญิง ห้ามสูบบุหรี่ในร้าน เราก็ช่วยกัน มีสมาชิกทำกัน 10 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีพี่ด้วย มันก็ท้าทายอยู่นะว่าจะทำได้ไหม เพราะบาร์ของเราพยายามทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฏหมาย และที่สำคัญคือ เราอยากมีประกันสังคม”

Sex work is work

“เพราะการมีประกันสังคมแปลว่าเราถูกยอมรับว่าเป็นแรงงาน เราอยากมีสวัสดิการที่ดีเวลาไปหาหมอ อย่าลืมว่า พนักงานบริการแบบเรากินนอนไม่เหมือนคนอื่น อยู่กับความเสี่ยง อยู่แต่กับเหล้า แอลกอฮอล์ ถ้าออกไปกับลูกค้าถุงยางแตกทำไง จะมีเงินพอดูแลตัวเองหรอ แต่หลายที่เขาไม่ทำประกันให้เราเพราะพรบ.ปราบปรามการค้าประเวณีระบุว่า sex worker เป็นแรงงานผิดกฏหมาย การเป็นแรงงานต้องไม่ผิดต่อศีลธรรมอันดี ถามว่าศีลธรรมของใคร”

“เราตั้งใจว่าคนทำงานที่ Can do bar ทุกคนจะต้องมีประกันสังคม จำได้เลย พี่ไปยื่นเรื่องที่ศาลากลางเชียงใหม่เพื่อขอจดทะเบียนประกันสังคม เราก็ใจเต้นมากว่าเขาจะยอมให้จดมั้ย  ปรากฏว่าจดได้ พวกเราทำหน้าเอ๋อ งงเลย แล้วทุกคนก็กรี๊ดใหญ่เลย ว่าจดได้ๆ (หัวเราะ) ก็มาขอจดกันเกือบ 50 คน”

“ด้วยความที่ร้านเราไม่อยากจ่ายส่วยเหมือนสถานบริการอื่น ก่อนเปิดร้านเราก็มีการเชิญผู้สื่อข่าว ศิลปิน รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมาร่วมวันเปิดร้านด้วย เพื่อประกาศเลยว่าบาร์ของเราคือบาร์ยุติธรรม ถูกต้องตามกฏหมาย ไม่เอาเปรียบทั้งพนักงานและลูกค้า ต่อให้ลูกค้าเป็นผู้หญิงเมาหลับฟุบโต๊ะไปเราก็จะดูแลความปลอดภัยอย่างดี ไม่เอาเปรียบผู้หญิง ส่วนถ้าพนักงานบริการจะออกไปต่อกับลูกค้า อันนี้เป็นสิทธิ เรื่องส่วนตัวของคุณ เราจะไม่เก็บค่าเพย์บาร์หรือผลประโยชน์อะไร”

“ในวันนั้น คุณหญิงอัมพร มีศุข หนึ่งในคณะกรรมการสิทธิฯก็ชวนหัวหน้าตำรวจแห่งชาติ อธิบดีศาลอาญา หรือคนระดับใหญ่ๆมาหมดเลย เราก็ให้ทุกคนร่วมเซ็นชื่อที่ผนังห้องน้ำบาร์ของเรา แล้วเราก็ถ่ายรูปกัน ทีนี้เวลาถ้าตำรวจอื่นมาตรวจร้านเราเขาก็ไม่กล้าเอาเรื่องไรเรา เพราะเขาเห็นลายเซ็นอธิบดีกรมตำรวจ หรือคนใหญ่คนโต(หัวเราะ)”

“Can do bar เราประกาศเจตนารมณ์ว่าไม่ได้ทำเพื่อหวังผลกำไร จนสุดท้าย Can do bar มีชื่อเสียงไปทั่วโลกเมื่อปี 2562 คณะกรรมการแผนกกิจการผู้อพยพคนหนึ่งเคยพูดบนเวทียูเอ็น ที่เมืองเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ว่าถ้าคุณต้องการยุติการค้ามนุษย์ คุณต้องทำเหมือนมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ หรือ Can do bar เพราะเป็นการคืนอำนาจให้ผู้หญิงสามารถจัดการตัวเองได้ซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุด”

“ตอนปี 2561 เราเคยไปอัมสเตอร์ดัม เนเธอแลนด์ที่ว่ามีย่าน Red light district บรรดา sex workers เขาก็ได้ไอเดียจะทำคล้ายๆ Can do bar เหมือนกัน แต่ต่างกันที่เงินทุนที่ใช้ก่อตั้งของเขามาจากรัฐบาล แต่ของเราถือว่าเป็นบาร์หนึ่งเดียวในโลกที่ก่อตั้งโดยเงินทุนของพวกเราเองที่เป็น Sex worker ”

“ที่มาของสัญลักษณ์ Can do bar ก็เลยเป็นรูปกระป๋องทำท่าเปิดตัวเอง เพราะว่านอกจาก Can ภาษาอังกฤษจะแปลว่า กระป๋องแล้วยังสื่อถึงความสามารถในการทำสิ่งต่างๆด้วยตัวของเราเองด้วย”  

กฏหมายล็อกผู้หญิงค้าบริการให้เป็นอาชญากร

“นอกจาก Can do bar ส่วนมากเราก็จะไปทำการแสดง ผลงานเด่นของเราเลยคือการแสดงเมื่อปี 2561 ในงานประชุมเอดส์ AIDS Conference ที่เมืองอัมเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยได้รับเงินทุนมาจาก Global fund”

“เราก็ไปแสดงเหตุการณ์ปราบปรามการค้าประเวณีที่เกิดขึ้นจริงในไทยด้วยการแต่งกายสวมบทบาทเป็นตำรวจในงานประชุมเอดส์ เดินขบวนแล้วจับทุกคนที่มีถุงยางอนามัยข้อหาค้าประเวณี ซึ่งเป็นการชวนตั้งคำถามว่าผู้หญิงค้าประเวณีไม่มีสิทธิพกถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันตัวเองเลยหรอ เราก็แสดงด้วยการไปจับแม้กระทั่งประธานใหญ่ Global fund ในงานเลี้ยงท่ามกลางบอดีการ์ดเต็มไปหมด (หัวเราะ) แต่เขาก็เข้าใจว่าเป็นการแสดงจนกลายเป็นข่าวฮือฮาในปีนั้น ประธานใหญ่คนดังกล่าวก็บอกเลยว่าการแสดงของเอ็มพาวเวอร์เป็นกิจกรรมที่ดีที่สุด ”

ภาพจาก: เพจเฟซบุ๊ก Empower Foundation

ทันตาเล่าว่าแม้ภาพลักษณ์ของหญิงค้าประเวณีในปัจจุบันถือว่าเป็นไปในทิศทางบวกมากขึ้น หลายคนเข้าใจว่าพวกเธอคือหัวหน้าครอบครัว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีใจเปิดกว้าง ตระหนักรู้เรื่องสิทธิ และเข้าใจอาชีพค้าบริการมากขึ้น แตกต่างจากสมัยก่อนที่กฏหมายระบุว่าผู้หญิงค้าประเวณีเป็นพวกด้อยซึ่งสติปัญญา และอ่อนแอ

แต่ในด้านกฏหมายปัจจุบัน (2567) ก็ยังคงมีการบังคับใช้พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีของปี 2539 โดยรัฐบาลชวน หลีกภัยซึ่งปรับมาจากกฏหมายในยุครัฐบาลสฤษดิ์ซึ่งตัวเนื้อหาก็ยังคงไม่ได้ยอมรับว่า sex worker เป็นอาชีพหนึ่งเหมือนกับแรงงานทั่วไป เพียงแต่ปรับให้โทษเบาลงจากเดิมที่มีโทษจับขังที่บ้านเกร็ดตระการ เปลี่ยนเป็นปรับเงิน 1,000 บาท”

“อย่างไรก็ตาม แม้จะลดโทษแล้วแต่อาชีพ Sex worker เป็นความผิดทางกฏหมายอาญา แปลว่า ถ้าถูกจับได้ว่าทำอาชีพนี้ คุณก็มีประวัติอาญาติดตัว เห็นได้ชัดเลยตอนช่วงโควิดระบาด เมื่อ 19 มีนาคม 2563 บาร์เราถูกสั่งปิด โดยไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล จนกระทั่งมาเปิดๆปิดๆช่วง 2565 เราตกงานกันสองปี หา

ภาพจาก: เพจเฟซบุ๊ก Empower Foundation

งานไม่ผ่านเพราะมีประวัติอาญา  เราก็ตั้งคำถามว่ากฏหมายนี้ไม่ต้องการให้เราออกจากอาชีพนี้ใช่หรือไม่?”

“กฏหมายบีบบังคับให้เราออกจากอาชีพนี้ไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะสมัครงานที่ไหนก็ไม่ได้ เทียบเท่ากับว่าเราเป็นเหมือนอาชญากร”

ภาพจาก: เพจเฟซบุ๊ก Empower Foundation

“ช่วงโควิด สมัยรัฐบาลประยุทธ์ เราเลยทำกิจกรรมส่งรองเท้าส้นสูงไปให้นายกที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงถามถึงการเยียวยากลุ่มแรงงานภาคบริการที่ตกหล่นไป ทีนี้รองเท้าถูกตีกลับมาที่เชียงใหม่ แล้วเราก็นำไปจัดนิทรรศการที่ลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพต่อ เมื่อปี 2564”

การสลายกลุ่ม คือเป้าหมายปลายทางของเอ็มพาวเวอร์


“ตอนช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 หลายๆพรรคก็มาเยี่ยมร้านเรา เช่น พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคสามัญชน ส่วนมากเขาก็จะมารับฟังประเด็นปัญหามาทำความเข้าใจเรา”

“ข้อเรียกร้องหลักของเรา คือเรียกร้องให้ยอมรับผู้ประกอบอาชีพค้าบริการมีสถานะเป็นแรงงานถูกต้องตามทางกฏหมาย ซึ่งถ้าทำสำเร็จ ประเทศไทยก็จะไม่มีโสเภณีแล้ว จะกลายเป็น แรงงานภาคบริการในสถานบริการเท่านั้น”

ภาพจาก: เพจเฟซบุ๊ก Empower Foundation

“ที่ผ่านมา เอ็มพาวเวอร์ทำทุกวิถีทางในการเรียกร้องและรณรงค์ไปจนถึงการเข้าไปเป็นคณะกรรมการภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณากฏหมายปราบปรามการค้าประเวณี เราก็ให้พี่โอ๋ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเราไปเป็นคณะกรรมการเพราะเธอเรียนกฏหมาย จนกระทั่งได้ร่างกฏหมายใหม่ชื่อว่า พรบ.คุ้มครองให้บริการทางเพศซึ่งร่างไว้เสร็จแล้ว เหลือรอรับฟังความเห็นสาธารณะ โดยตัวเนื้อหาของร่างกฏหมายนี้ว่าด้วยการยกเลิกความผิดของพนักงานบริการและให้พนักงานบริการอยู่ภายใต้กฏหมายแรงงาน เพื่อจะได้มีสวัสดิการและประกันสังคมรองรับตามกฏหมายอย่างเท่ากัน  ”

“แต่ทุกวันนี้ร่างพรบ.นี้ก็ยังเงียบอยู่ อ้างว่าขอคุยกับคณะกรรมการพิจารณาอีกครั้งเพราะกังวลเรื่องสถาบันครอบครัวเราก็เลยไปเรียกร้องหน้ากระทรวงพม. อีกครั้งเพื่อให้ขยับเรื่องไวๆให้รัฐมนตรีกระทรวงพม. (วราวุธ ศิลปอาชา) เซ็นร่างกฏหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาในครม. ถ้าเดินกันยายน 2567 ยังไม่คืบหน้าเราจะเกณฑ์พี่น้อง Sex workers ไปทำกิจกรรมหน้ากระทรวงพม. ”

ภาพจาก: เพจเฟซบุ๊ก Empower Foundation

"เอ็มพาวเวอร์มีศูนย์หลักที่เชียงใหม่ แต่ว่าก็มีแกนนำหลักอยู่ในกรุงเทพ อุดรธานี ภูเก็ต พัทยา ไต้หวัน มีเครือข่ายเชื่อมต่อ แจ้งข่าวกระจายตัวกันไปตามที่ต่างๆ เรียกได้ว่าเอ็มพาวเวอร์ไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นตัวผู้คน"

“ถ้ากฏหมายสำเร็จ เราก็อาจจะปิดตัวไปเลยสองปี เพราะจริงๆเรามีเจ้าหน้าที่ห้าคนที่ทำงานระดับประเทศอยู่ แล้วค่อยกลับมาดูชุมชนตามสถานที่ทำงานว่ามีอุปกรณ์พร้อมมั้ย มีถุงยางรึเปล่า มีอะไรที่ยังขาดอยู่ ถ้าชุมชนไม่ได้ต้องการอะไรเราก็ปิดตัวไป”

“เพราะจริงๆความฝันสูงสุดของเอ็มพาวเวอร์คือการปิดตัวนะคะ เอ็มพาวเวอร์ปิดตัวเมื่อไหร่นั่นแปลว่า sex worker ไม่มีปัญหาอีกแล้ว”
 

เรื่องและภาพโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์

ขอขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ค Empower Foundation