Skip to main content



พิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกวิสคอนซินตั้งอยู่บริเวณ Capital Square ใกล้กับอาคารที่ว่าการรัฐ อยู่ไม่ห่างจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน มากนัก ส่วนจัดแสดงนิทรรศการมีชั้นเดียวโดยแบ่งเป็นสามห้องใหญ่ แต่ละห้องเล่าเรื่องสงครามครั้งสำคัญๆของสหรัฐโดยจะมีโมเดลจำลองทหารที่กำลังสู้รบหรือปฏิบัติการณ์ในสงครามต่างๆเป็นตัวกำกับเส้นเรื่อง แวดล้อมด้วยของใช้ร่วมสมัยสงครามแต่ละยุค โดยที่ของสะสมส่วนใหญ่ทางพิพิธภัณฑ์ได้รับบริจาคมาจากทหารผ่านศึกชาวมลรัฐวิสคอนซิน

แม้ก่อนเข้าชม ผู้ชมคงพอจะคาดหมายได้ว่าพิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกน่าจะต้องเป็นพิพิธภัณฑ์ที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของอุดมการณ์ชาตินิยม ทว่าความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ที่วิธีการเล่าเรื่อง ที่ใช้วิธีร้อยเรียงเรื่องราวจากทหารชั้นผู้น้อยที่เป็นชาวมลรัฐวิสคอนซินที่ได้ไปเข้าร่วมสงครามในยุคต่างๆ ตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมืองเรื่อยมาจนถึงยุคสงครามในอัฟกานิสถานและอิรักหลังเหตุการณ์ 9/11 เพื่อนำไปสู่ภาพใหญ่ว่าคุณค่าที่พวกเขายอมใช้ชีวิตเข้าแลกคืออะไร สำหรับของสะสมที่ใช้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นี้ส่วนใหญ่จะเป็นของที่ตัวทหารผ่านศึกหรือญาติของทหารผ่านศึกนำมามอบให้เพื่อทำการจัดแสดงต่อสาธารณชน

ห้องจัดแสดงในส่วนของนิทรรศการถาวรมีอยู่ 2 ส่วน ห้องแรกพูดถึงสงครามกลางเมือง ระหว่างรัฐทางเหนือกับรัฐทางใต้ สงครามระหว่างสหรัฐกับสเปนและสงครามระหว่างสหรัฐกับฟิลิปปินส์ วัตถุจัดแสดงที่น่าสนใจในส่วนนี้ได้แก่ กลองที่กองทัพฝ่ายใต้ (Confederation Army) ใช้ตีให้สัญญาณในช่วงสงครามกลางเมืองสหรัฐ ภาพถ่ายและจดหมายของทหารชาวมลรัฐวิสคอนซินที่เข้าร่วมรบในสงคราม หุ่นสตัฟฟ์นกอินทรีย์หัวล้าน "Old Abe" ซึ่งเป็นนกอินทรีย์ที่ร่วมรบกับกองทหารจากรัฐวิสคอนซินในสงครามกลางเมืองจนได้กลายมาเป็นเหมือนสัญลักษณ์นำโชคของกองทหารจากมลรัฐวิสคอนซิน




จากคำบอกเล่าของผู้นำชมอาคารที่ทำการมลรัฐที่อยู่ในเมืองเมดิสัน Old Abe มักจะคอยบินไปก่อนกวนกองกำลังของข้าศึกทั้งจิกตีและส่งเสียงสร้างความรำคาญ จนกลายเป็นขวัญใจของกองทหารและชาววิสคอนซิน หลังสงครามจบลง Old Abe รอดชีวิตและถูกนำมาเลี้ยงในอาคารที่ทำการมลรัฐ หลัง Old Abe ตายลงชาววิสคอนซินได้นำร่างของ Old Abe ไปสตัฟฟ์และนำไปติดตั้งไว้ที่ห้องประชุมสมาชิกสภาผู้แทนประจำมลรัฐ แต่ในภายหลังอาคารที่ทำการมลรัฐดังกล่าวถูกไฟไหม้ ร่างของ Old Abe ได้ถูกทำลายไปกับกองเพลิงด้วย เมื่อมีการสร้างอาคารที่ทำการรัฐใหม่ ก็มีเสียงเรียกร้องให้นำนกอินทรีย์ประเภทเดียวกันมาสตัฟฟ์และติดตั้งไว้ในลักษณะเดิมเพื่อเป็นการระลึกถึง Old Abe ท้ายที่สุดจึงมีการทำนกอินทรีย์หัวล้านสตัฟฟ์ขึ้นสองตัว ตัวหนึ่งนำไปติดตั้งไว้ในห้องประชุมสมาชิกสภาผู้แทนประจำมลรัฐ ส่วนอีกตัวหนึ่งถูกนำมาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกแห่งนี้

ในนิทรรศการห้องแรกนี้ยังได้พูดถึงบทบาทของทหารผิวสีชาวแอฟริกันอเมริกันซึ่งเข้าร่วมรับในสงครามกลางเมืองด้วย














ห้องจัดแสดงที่สองจะเล่าเรื่องราวทหารผ่านศึกสหรัฐซึ่งเป็นชาวมลรัฐวิสคอนซินในสงครามที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งถือเป็นช่วงที่สหรัฐเริ่มขยายอิทธิพลของตัวเองเข้าไปสู่การเมืองโลก ได้แก่ สงครามบริเวณชายแดนกับเม็กซิโก สงครามโลกทั้งสองครั้ง สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม สงครามอ่านเปอร์เซียและปิดท้ายด้วยสงครามที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานและอิรัก โดยสิ่งที่น่าสนใจในห้องจัดแสดงนิทรรศการส่วนนี้คือเรื่องราวของทหารม้งและสงครามลับในลาว โดยมลรัฐวิสคอนซินถือเป็นพื้นที่ที่มีคนม้งอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก






























สำหรับส่วนจัดแสดงที่สามเป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการชั่วคราวซึ่งในขณะที่พิพิธภัณฑ์สามัญชนไปเข้าชมเป็นการจัดนิทรรศการหมุนเวียนว่าด้วย "ของที่ระลึกจากสนามรบ" ของทหารชาวมลรัฐวิสคอนซิน

"I heard a Frenchman remark that Germany was fighting for territory, England for the sea, France for patriotism and American for Souvenirs"

"ผมเคยได้ยินชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งพูดว่า คนเยอรมันสู้รบเพื่อดินแดน คงอังกฤษสู้รบเพื่อน่านน้ำ คนฝรั่งเศสสู้รบเพราะความรักชาติ ส่วนคนอเมริกันสู้รบเพื่อของที่ระลึก"

แฮรรี เอส ทรูแมน (ประธานาธิบดีคนที่ 33) 1 พฤษจิกายน 1918 (คาดว่าทรูแมนน่าจะกล่าวประโยคนี้ระหว่างเป็นทหารในกองทัพบกช่วงปี 1917 - 1919)

คนที่เคยชมภาพยนตร์สงครามโดยเฉพาะภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองอาจจะคุ้นเคยกับฉากที่ทหารอเมริกันมักจะนำของที่ระลึกจากสงครามมาอวดกัน เช่น ทหารที่ไปรบในฝั่งยุโรปก็มักจะนำธงนาซีหรือปืนลูกเกอร์ (ปืนพกทหารเยอรมัน) กลับมาส่วนทหารที่ไปรบฝั่งแปซิฟิกก็มักจะเก็บดาบซามูไรกลับมา แต่หากใครมีโอกาสมาเที่ยวชมนิทรรศการนี้ก็จะได้รู้ว่าการเก็บของที่ระลึกจากสนามรบไม่ได้เพิ่งเริ่มในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองแต่มีมาก่อนหน้านั้นแล้ว เช่น ทหารยุคสงครามกลางเมืองชาววิสคอนซินคนหนึ่งได้สะสมภาพถ่ายขาวดำของนายทหารคนสำคัญทั้งของกองทัพฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ไว้เป็นคอลเลคชันใหญ่ 





















สำหรับของที่ระลึกจากช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนอกจากจะมีธงนาซี ปืนลูเกอร์หรือดาบซามูไรที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว เหรียญตราที่ระลึกของทหารเยอรมันก็เป็นคอลเลคชันอีกส่วนหนึ่งทหารอเมริกันนิยมเก็บกลับมา ในนิทรรศการนี้ยังจัดแสดงของที่ระลึกที่มีเรื่องเล่าน่าสนใจด้วย เช่น เสื้อผ้าผู้หญิงชุดหนึ่งซึ่งตัดขึ้นจากวัสดุที่เป็นร่มชูชีพของทหารชาววิสคอนซินคนหนึ่งที่ต้องโดดร่มฉุกเฉินลงในประเทศจีนหลังเครื่องบินของเขาถูกทหารญี่ปุ่นยิงจนเสียหาย หลังรอดชีวิตโดยได้รับความช่วยเหลือจากชาวนาในพื้นที่ นายทหารคนดังกล่าวได้ส่งร่มชูชีพไปให้ภรรยาของเขาพร้อมกับร้องขอให้เธอนำร่มชูชีพนั้นไปตัดเป็นเสื้อผ้า เมื่อเธอนำร่มของเขาไปตัดเป็นชุดเดรสแล้วเธอก็ได้สวมชุดดังกล่าวถ่ายภาพและส่งกลับไปให้สามีของเธอซึ่งเขาก็ได้เก็บภาพนั้นไว้กับตัวตลอดการปฏิบัติภารกิจในต่างแดน

มีความน่าสนใจว่าที่ด้านนอกพิพิธภัณฑ์ยังมีการจัดแสดงผลงานศิลปะบำบัด "In her boots" ของทหารผ่านศึกหญิงที่นำรองเท้าคอมแบทที่พวกเธอเคยสวมใส่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่มาเพนท์ลวดลายต่างๆ โดยปัญหาสุขภาพจิตหลังปลดประจำการเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทหารผ่านศึกชาวอเมริกันหลายๆคนต้องเผชิญซึ่งบางกรณีอาจส่งผลกระทบต่อสถาบันครอบครัวเช่นนำไปสู่การหย่าร้าง การจัดแสดงนิทรรศการในส่วนนี้ทางหนึ่งคือการยอมรับการมีอยู่ของปัญหาในหมู่ทหารผ่านศึกและอีกทางหนึ่งก็เป็นความพยายามในการสร้างพลังบวกให้กับตัวผู้เข้าโครงการฟื้นฟูสภาพจิตใจหลังสงคราม










เรื่องและภาพโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์