Skip to main content

Expression Bloom ชวนทุกคนมาตั้งคำถาม ท้าทายเพดานเสรีภาพ เดินสำรวจอคติ และขอบเขตเส้นศีลธรรมในรูปแบบนิทรรศการ Interactive ในนิทรรศการ Bloom ที่จะชวนให้เราสัมผัสประสบการณ์ทั้งกลิ่น แสง สี และสัมผัสสุดพิเศษตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะในส่วนของนิทรรศการหลักที่ชื่อ “ I’m home บ้านที่ (ไม่ได้) กลับ ” ชวนผู้ชมสวมบทบาทเป็นเจ้าของบ้านคนใหม่เดินสำรวจบ้านแห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยเรื่องราว ความทรงจำของเจ้าของบ้านคนเก่าที่รีบย้ายออกไปผ่านสิ่งของภายในบ้านที่วางระเกะระกะอยู่เดิมและบทสนทนาของผู้คนในหัวข้อที่ไม่ปรกติธรรมดา  

นิทรรศการนี้จัดแสดงระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม - 8 กันยายน 2567 
ณ  Kinjai Contemporary บางพลัด กรุงเทพฯ

ภายในนิทรรศการ Bloom จัดแสดงทั้งหมด 4 ชั้น เมื่อก้าวเข้ามาในอาคารจัดแสดงชั้นแรกจะพบกับโต๊ะต้อนรับที่เราจะได้รับรู้ถึงคอนเซปที่มาของนิทรรศการว่าด้วยการรวบรวมบทสนทนาของพื้นที่จังหวัดสกลนคร น่าน สงขลาและกรุงเทพฯที่ทางทีมงานเคยไปจัดกิจกรรม workshop เกี่ยวกับเพดานเสรีภาพซึ่งเป็นหัวข้อที่ทางองค์การ Bloom ขับเคลื่อนมาโดยตลอดจนนำมาสู่การนำเสนอในรูปแบบนิทรรศการแบบมีส่วนร่วมที่ชวนให้เราลองเปิดใจและอนุญาตให้ตัวเองได้คิดนอกกรอบบรรทัดฐานของสังคม

เมื่อขึ้นบันไดไปยังชั้นต่างๆ เริ่มจากชั้นลอยจะพบกับมุมจัดแสดงภาพวาดโปสเตอร์ที่ถูกแบน และภาพที่ไม่ถูกแบนซึ่งแต่ละภาพอาจมีเนื้อหารุนแรง หรือแสดงถึงความผิดปรกติในสังคมแบบที่ต้องการท้าทายขอบเขตเส้นศีลธรรมของผู้ชมผ่านภาพปรากฏอยู่ตรงหน้า โดยผู้ชมสามารถนำสติ๊กเกอร์ไปแปะภาพที่ต้องการแบนหรือภาพที่รู้สึกว่ารับไม่ได้ตามความรู้สึกส่วนตัว

เช่น ภาพฉากข่มขืนในหนังโป๊, ภาพล้อเลียนนบีมูฮัมหมัด โดยชาลี เอปโด ถูกแบบโดยกลุ่มผู้ก่อการเหตุกราดยิงในฝรั่งเศส, ภาพนัท นิสามณีแต่งกายคอสเพลย์เลียนแบบพระพุทธเจ้าที่ถูกแบนโดยองค์การศาสนาเพราะถือเป็นการดูหมิ่น, หรือบางภาพที่ยังไม่ถูกแบบเช่น ภาพ simple and dangerouse โดย gunduz agayev, ภาพ Holy selfie โดย gunduz agayev เป็นต้น

เมื่อผู้ชมเดินมาอีกฝั่งของชั้นเดียวกันจะพบกับมุมแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกในหัวข้อ “เรื่องนี้ ฉันแสดงออกมาไม่ได้” ซึ่่งเป็นคอนเซปที่ชวนดูว่าความคิดหรือคำพูดอะไรบ้างของเราที่อาจถูกแบนโดยสังคมหากแสดงออกมาอย่างเปิดเผย โดยผู้ชมสามารถแสกนคิวอาร์โค้ดเพื่อพิมพ์ข้อความที่ต้องการบอกผ่านโปรแกรม mentimeter ระบบจะปรากฏข้อความทั้งหมดของผู้ชมในขนาดตัวอักษรที่ต่างกัน ถ้าข้อความไหนมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษก็แปลว่ามีคนพิมพ์ข้อความนั้นหรือคิดแบบเดียวกันจำนวนมากซึ่งหากแสดงออกมาสังคมก็อาจยอมรับไม่ได้กับความคิดนั้นของเรา ก่อนสำรวจเพดานเสรีภาพในประเด็นถัดไปข้างบน

ชั้นสอง เมื่อเดินขึ้นมาจะพบกับม่านดอกไม้เฉดสีส้ม และสีขาวสลับกันไปพร้อมกับการ์ดขนาดเล็กที่มีข้อความและรูปของผู้เสียชีวิต หรือผู้ถูกบังคับสูญหายที่ไม่ทราบชะตากรรมจากการออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งติดไว้กับดอกไม้จันทร์เพื่อเป็นการไว้อาลัย ทั้งนี้ เราก็จะได้ยินเสียงคนพูดถึงเพดานเสรีภาพต่อประเด็นต่างๆ ที่ดังออกมาจากลำโพงระหว่างเดินชมนิทรรศการด้วย

บริเวณกำแพงอีกด้านจะพบกับหัวข้อ “เพดานของรุ่นเราอยู่ตรงไหน” กิจกรรมที่ชวนให้เราลองจัดระดับขอบเขตเสรีภาพด้านกฏหมายแต่ละประเด็นตามความคิดเห็นส่วนตัวของเราตั้งแต่ระดับที่เห็นด้วยน้อยสุดถึงมากที่สุด 1- 5  โดยเลือกใช้สีไหมพรมตามช่วงอายุ หรือรุ่น (Generation) ของผู้เล่น เช่น Gen baby bloomer ใช้สีน้ำตาล, Gen X ใช้สีม่วง, Gen Y ใช้สีส้ม, Gen Z ใช้สีชมพู และ Gen alpha ใช้สีเหลือง จากนั้นนำไปขึงกับตะขอตามขอบเขตระดับที่รับได้ในแต่ละประเด็นต่อไปนี้ เช่น ยกเลิก 112, ยกเลิกกฏหมายคุ้มครองธงชาติไทย, ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะข้อหาหมิ่นประมาท, ยกเลิกกฏหมายห้ามดูหมิ่นศาสนา, รัฐจะต้องเปิดเผยทุกข้อมูลทั้งหมดให้กับประชาชน แม้แต่เรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง เป็นต้น  ซึ่งนอกจากจะได้แสดงออกต่อหัวข้อประเด็นดังกล่าวแล้วเรายังได้เห็นการเปรียบเทียบความแตกต่างของผู้คนแต่ละรุ่นที่มีต่อประเด็นดังกล่าวผ่านสีของไหมพรมด้วย เป็นการกระตุ้นความสงสัยก่อนขึ้นไปพบกับความน่าสนใจของนิทรรศการหลักต่อข้างบนชั้นสามกับเรื่องราวในธีมของบ้านที่ไม่ธรรมดา

ชั้นสาม ห้องนิทรรศการหลักชื่อ I’m home บ้านที่ (ไม่ได้) กลับ ซึ่งเมื่อผู้ชมเดินขึ้นมาจะได้ยินกับเสียงดนตรีที่เปิดคลอในนิทรรศการเสมือนก้าวเข้าไปในโลกของฉากภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยบนพื้นทางเดินจะเห็นว่ามีการปูสนามหญ้าที่มีดอกไม้และปลอกกระสุนยางโปรยอยู่อย่างสะดุดตาและชวนให้เราอยากรู้เรื่องราวด้านใน แต่ก่อนจะเข้าไปสำรวจ เราจะพบกับห้องกระจกที่เป็นพื้นที่สำหรับเล่นกิจกรรมหยิบไข่สุ่มตอบคำถามที่เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมโดยผู้ชมสามารถตอบคำถามที่หยิบได้ด้วยการกดอัดเสียงของตน ซึ่งเสียงคำตอบนั้นก็จะไปดังในห้องจัดแสดงชั้นสอง หรือหากไม่สะดวกก็สามารถเขียนลงกระดาษโพสอิทได้ เสร็จแล้วก็เดินเข้าไปดูนิทรรศการหลักต่อได้เลย

สำหรับนิทรรศการหลัก จะว่าด้วยเรื่องราวสมมติของบ้านแห่งหนึ่งในย่านอารีย์ที่เจ้าของบ้านคนเก่ารีบเร่งย้ายออกจากบ้านไปอยู่ต่างประเทศจนไม่มีเวลาเก็บของ เพราะเมื่อผู้ชมเดินเข้าไปก็จะพบกับเฟอร์นิเจอร์ และสิ่งของที่วางอยู่อย่างระเกะระกะ โดยให้ผู้ชมรับบทบาทเป็นเจ้าของบ้านคนใหม่ที่เดินเข้ามาสำรวจ และล่วงล้ำเข้าไปในบทสนทนาของผู้คน ซึ่งทางทีมงานตั้งใจออกแบบเรื่องราวโดยเปรียบเทียบบ้านหลังนี้เป็นประเทศหนึ่งที่มีค่านิยม ขนบธรรมเนียม หรือคุณค่าบางอย่างที่หล่อหลอมสังคม ซึ่งเหตุผลที่ใช้บ้านทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวของนิทรรศการก็เพื่อสื่อให้เห็นว่า บ้าน หรือ สถาบันครอบครัว คือสถานที่แรกของเราทุกคนที่จะได้มีโอกาสแสดงเสรีภาพมาก หรือน้อยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับกระบวนการขัดเกลาของแต่ละครอบครัวซึ่งอาจมีจุดร่วมกันหลายๆอย่างที่เป็นข้อจำกัดทางเสรีภาพไม่ให้เกินความเหมาะสมหรือขอบเขตค่านิยม และบรรทัดฐานกระแสหลักของสังคมจนนำมาสู่การตั้งคำถาม และบทสนทนาที่แตกต่างหลากหลาย

โซนแรกเราจะพบกับบรรยากาศห้องนั่งเล่นที่บริเวณมุมห้องจะมีจอทีวีเครื่องหนึ่งที่ถูกเปลี่ยนช่องกลับไปกลับมาซึ่งสื่อให้เห็นว่าห้องนั่งเล่นเป็นห้องที่สมาชิกในครอบครัวมาใช้ร่วมกัน สังเกตได้จากรายการทีวีที่เปิดดูก็จะแตกต่างกันไปบางช่องเป็นรายการข่าวในพระราชสำนัก รายการข่าวม็อบการชุมนุม หรือรายการคำนี้ดี KND จากช่องยูทูป The standard ที่บ่งบอกถึงช่วงอายุของคนในบ้านที่มีทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่อาศัยอยู่ด้วยกัน พร้อมกับบทสนทนาที่ดูเหมือนปกติทั่วไปของบ้านหลังนี้ผ่านกระดาษโพสอิทที่แปะอยู่บนสิ่งของที่วางอยู่บนโซฟาและโต๊ะ เช่น กางเกงยีนส์ขาสั้น กับกระดาษโพสอิทที่ระบุว่า “แต่งตัวแบบนี้ระวังโดนข่มขืนนะ!” และข้าวของต่างๆที่ผู้ชมจะได้เดินสำรวจ

นอกจากจะได้เดินสำรวจสิ่งของแล้ว มองบนกำแพงก็จะเห็นการแสดงออกในรูปแบบขีดเขียนข้อความ วาดรูป ซึ่งผู้ชมสามารถร่วมเขียนแต่งเติมกำแพงบ้านจุดใดก็ได้ด้วยสีเทียนที่วางอยู่บนพื้นบริเวณใกล้เคียง

พรมเช็ดเท้าขนนุ่มสีสันสะดุดตาบริเวณกลางห้องเป็นอีกหนึ่งจุดที่เชิญชวนให้ผู้ชมมีส่วนร่วมเขียนถึง “สิ่งที่อยู่ใต้พรม”ซึ่งเป็นการเล่นคำกับตัวพรมเช็ดเท้าที่นำมาวางไว้ สื่อให้ระบายถึงสิ่งที่แอบซ่อนอยู่ในสังคม


ต่อจากห้องนั่งเล่น เราจะพบกับห้องนอนพ่อกับแม่ และห้องนอนลูกซึ่งจุดสังเกตที่บ่งบอกถึงทัศนคติที่ต่างกันของครอบครัวได้นั้นพบว่าบริเวณประตูจะมีสติ๊กเกอร์ข้อความ “เรารักในหลวง” แปะไว้ที่ห้องนอนพ่อกับแม่  เมื่อเปิดประตูเข้าไปในห้องนอนพ่อแม่จะพบกับพระพุทธรูปที่ตั้งอยู่บริเวณข้างหัวเตียง เสื้อผ้า และโต๊ะเขียนหนังสือ แต่ละจุดจะมีดีเทลที่แสดงถึงตัวตนของคนในบ้าน เช่น ผ้ากันเปื้อนที่วางทับอยู่กับชุดยีนส์กางเกงขาม้าที่บ่งบอกถึงบทบาทของแม่ในอดีตยุคบุปผาชน (ฮิปปี้) ที่แม่ก็เคยเป็นวัยรุ่นสาวรักอิสระ ใฝ่ฝันถึงสังคมเสรีภาพแต่เมื่ออายุมากขึ้นต้องสวมบทบาทของผู้ใหญ่ก็จะมี “หัวโขน” ของความเป็นแม่และในบางครั้งก็รู้สึกได้ว่าความฝันของแม่ก็ดูเหมือนจะเลือนหายไป

เช่นเดียวกับบทบาทของพ่อที่จะเห็นได้ว่ามีชุดสูททำงานกับเสื้อผ้า “แฟชั่น 5 ย.” ของนักเคลื่อนไหวยุค 2516-2519  ซึ่งแฟชั่น 5 ย. หมายถึงการแต่งกายง่ายๆ ได้แก่ เสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท้ายาง ไว้ผมยาว กระเป๋าสะพายย่าม ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าพ่อก็เคยเป็นวัยรุ่นที่ฝันถึงการเปลี่ยนแปลงในสังคมแต่เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่และภาระต้องรับผิดชอบมากขึ้นทำให้พ่อต้องทิ้งความฝันเมื่อสมัยวัยรุ่นไป

อีกจุดที่เราจะได้เห็นมิติเรื่องราวของบ้านหลังนี้คือลิ้นชักโต๊ะทำงานของพ่อกับแม่ที่สื่อให้เห็นว่าพวกเขามีความเครียด หรือความกังวลอยู่ไม่น้อยแอบซ่อนไว้ในฐานะผู้นำครอบครัวซึ่งเห็นได้จากซองภาระค่าใช้จ่ายต่างงๆในบ้าน ยาแก้ปวดหัว ยาทัมใจ และบุหรี่ ซึ่งบางมวลก็จะเห็นรอยลิปสติกของแม่ด้วย กระทั่งเมื่อเราเดินออกจากห้องนอนพ่อกับแม่อาจเหลือบไปเห็นเชือกที่คล้องอยู่ที่ลูกบิดประตูที่ทีมงานสื่อเรื่องราวให้เห็นว่าพ่อกับแม่เป็นโรคซึมเศร้าแต่ไม่ได้ยอมรับเพราะพวกเขาไม่รู้จักโรคซึมเศร้าว่ามีอยู่จริงจนนำไปสู่การปลิดชีวิตตนเองด้วยการใช้เชือกผูกคอ แต่ก่อนจากไป ก็ยังคงเป็นห่วงลูกและทิ้งกระดาษโพสอิทเขียนข้อความระบุว่า “พะโล้อยู่ในตู้เย็นนะ”

ห้องถัดไปเป็นห้องนอนของลูกผู้ซึ่งเป็นเพศทางเลือกหรือ LGBTQ+ บรรยากาศบริเวณรอบห้องจะเห็นถึงความโกรธ ความหวัง และความฝันที่ดับมอดไปของลูกหรือเจ้าของบ้านคนเก่า แต่ก็เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆที่เกิดขึ้น แม้เจ้าของห้องไปไม่ถึงฝั่งฝันแต่ก็มาไกลเกินกว่าจะกลับไปนับหนึ่งใหม่ สังเกตจากเสื้อใส่ไปม็อบที่วางกองอยู่บนเตียง เครื่องสำอาง บอร์ด to do list และหนังสือบนโต๊ะที่แตกต่างจากหนังสือบนโต๊ะในห้องของพ่อกับแม่

นอกจากนั้น เราจะเห็นกล่องพัสดุหลายใบซึ่งจำลองเป็นพื้นที่เก็บของบริเวณถัดจากห้องนอนของลูก ซึ่งแต่ละกล่องพัสดุระวังแตกที่มีข้อความระบุถึงเหตุการณณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น เหตุการณ์ตากใบ กรือแซะ  หกตุลา การประหารที่สว่างแดนดิน  หะยีสุหลง โดยเปรียบเทียบว่าหากบ้านหลังนี้คือประเทศ เราจะเลือกเก็บเหตุการณ์ใด และทิ้งเหตุการณ์ใดเพื่อให้บ้านหรือประเทศนี้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้ โดยผู้ชมสามารถเลือกแปะสติ๊กเกอร์เครื่องหมายถูก และเครื่องหมายกากบาทได้ตามต้องการ

ในส่วนถัดมาจะเป็นมุมห้องแต่งตัว หรือ Walk in closet ที่มองลงที่พื้นก็จะไปสะดุดตากับพรมเช็ดเท้าสีเขียวที่คุยกับเราว่า “ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับการทำแท้งก็ไม่เป็นไร แต่โปรดเคารพการตัดสินใจของคนอื่นๆที่ต้องการทำแท้ง” ภายในห้องนี้มาในธีม out of closet รวบรวมเสื้อผ้าที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของคนบางกลุ่มที่ไม่ถูกยอมรับเนื่องด้วยกรอบบรรทัดฐาน ศีลธรรมในสังคม เช่น ชุดของกลุ่มชาติพันธุ์ ชุดผ้าคลุมฮิญาบของชายนิรนาม (สื่อถึงกะเทยมุสลิม) ไม้แขวนเสื้อเปล่าที่ระบุว่าชุดสำหรับค้าประเวณี  ชุดเปื้อนเลือดจากการถูกลอบทำร้ายของจ่านิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักกิจกรรมทางการเมือง  ชุดนักโทษในเรือนจำไทย ชุดนักศึกษาหญิงสำหรับหาเงินเพื่อการศึกษา รวมไปถึงผ้าสีรุ้ง ผ้าถุง ซึ่งเสื้อผ้าทั้งหมดผู้ชมสามารถลองสวมใส่ถ่ายรูปเล่นได้ ยกเว้นเสื้อของจ่านิวที่ต้องสงวนเก็บรักษาไว้

นอกเหนือจากชุดของคนชายขอบในสังคมแล้ว ยังมีอุปกรณ์ทำแท้งที่วางอยู่บนโต๊ะข้างตู้เสื้อผ้า และโต๊ะเครื่องแป้งที่มี sex toy กุญแจมือ และข้อความบนโพสอิทที่สื่อถึงรสนิยมทางเพศและการตั้งคำถามกับเส้นศีลธรรมอันดีในสังคม และชุดความจริงที่ต่างกัน

ห้องน้ำของบ้านก็เป็นอีกพื้นที่ที่สื่อความหมายและนัยยะของการปลดเปลื้องความทุกข์ที่อนุญาตให้ผู้ชมสามารถนำโพสอิทเขียนข้อความระบายความในใจไปแปะได้โดยใช้ปากกาเรืองแสงเพื่อให้มองเห็นข้อความภายใต้แสงไฟสีน้ำเงินของในห้องน้ำ ซึ่งหลายๆข้อความก็จะสัมผัสได้ถึงความอัดอั้นในใจของผู้คน

 

ชั้นสี่ ชั้นบนสุดของอาคารเปิดพื้นที่วงนั่งคุยพร้อมกับมุมเครื่องดื่มสำหรับกิจกรรมในนิทรรศการ

นอกจากเดินชมนิทรรศการหลักแล้ว ยังมีกิจกรรมภายในงานที่น่าสนใจให้ผู้เข้าชมได้ร่วมสนุกในแต่ละวันอีกด้วย เช่น กิจกรรม Stranger Bar ชวนคนแปลกหน้ามาขยับเส้นเสรีภาพ พูดคุยกับคนแปลกหน้าใน “เรื่องที่คุณไม่เคยบอก เพราะประเทศนี้ยังมีเสรีภาพไม่มากพอ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง ความเจ็บปวด Sex หรือเรื่องต้องห้ามพูด โดยกิจกรรมนี้จะอนุญาตให้เราสามารถนำมาเล่าได้อย่างเปิดเผยให้กับคนแปลกหน้าฟังโดยไม่ถูกตัดสิน พร้อมชวนชิมเครื่องดื่มที่มีรสชาติตามเรื่องราวที่คุณเล่าให้คนแปลกหน้าฟัง และที่สำคัญเครื่องดื่มดังกล่าวไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก: Expression Bloom

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก: Expression Bloom

อีกกิจกรรมที่น่าสนใจ Human Library ชวนผู้ชมร่วมพูดคุยกับหนังสือที่เป็นมนุษย์ในหัวข้อ “เรื่องนี้พูดได้ลเรื่องนี้พูดไม่ได้” ทดสอบเส้นเสรีภาพของตนเองด้วยการฟังเรื่องราวลับๆของ speakers และร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องของตนเองตามความสะดวกใจ กิจกรรม Blind (book) Date: ร่วมไขคดี ในวันที่เสรีภาพของเราไม่เท่ากัน ซึ่งในกิจกรรมเราจะได้เจอกับเพื่อนใหม่ กับเกมไขปริศนาว่าใครเป็นคนร้ายผ่านบทสนาทนาในงานประมูลภาพที่ทุกคนจะได้รับบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน ใครเป็นผู้ชนะก็จะได้รับรางวัลจากร้านหนังสือเครือข่ายของนิทรรศการ

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก: Expression Bloom

เวลา 18.00 น. ในวันสุดท้ายของนิทรรศการก็มีการแสดง Performance ในชื่อ No Pride for some of us without liberation for all of us ‘ไม่มีไพรด์’ สำหรับเราบางคน หากไร้ซึ่ง ‘การปลดปล่อย’ พวกเราทุกคนโดยสามกะเทยจาก HOMOHAUS เทศกาลศิลปะการแสดงเพื่อความหลากหลาย โดยเสนอเนื้อหาชวนตั้งคำถามและการประท้วงอำนาจชายเป็นใหญ่ที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วม พูดคุยกับนักแสดง และเขียนแสดงความคิดเห็นกับหัวข้อดังกล่าวลงบนผืนผ้าสีขาวที่ทีมงานจัดเตรียมไว้ให้

สำหรับของที่ระลึกที่ผู้ชมสามารถหยิบติดไม้ติดมือไปได้ก่อนกลับบ้านในนิทรรศการนี้ ได้แก่ ยาดมกลิ่นเสรีภาพ ซึ่งเป็นเรื่องราวจากภูพานจังหวัดสกลนครในรูปแบบของยาดมกลิ่นเฉพาะ  และไอศกรีม I’m home ซึ่งเป็นไอศกรีมสายรุ้งรสชาติพิเศษจากร้าน Baan Pat & Jeanne และของที่ระลึกอีกชิ้นคือ Zine Bloom book  หนังสือประจำนิทรรศการสีชมพูบานเย็นสะดุดตาที่ถูกออกแบบคล้ายกับลักษณะของหนังสือไดอารีจากภาพยนตร์ Mean Girls (2004) ซึ่งมีเนื้อหาเรื่องสั้นที่เป็นที่มาของนิทรรศการ บทสนทนาที่ถกเถียงกันในสังคม และบทเฉลยเกมตามหาดอกไม้ในนิทรรศการหลัก I’m home (บ้านที่กลับไม่ได้) ที่ซ่อนไว้ในนิทรรศการนี้

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก: Expression Bloom

ในภาพรวมนิทรรศการ Bloom เป็นนิทรรศการที่นำเสนอเรื่องราวเพดานเสรีภาพที่สามารถดึงการมีส่วนร่วมของผู้ชมได้เป็นอย่างดีด้วยการประสบการณ์บ้านจำลองที่อนุญาตให้ผู้ชมได้สำรวจ หยิบจับสิ่งของ และระบายความคิด อารมณ์ ความรู้สึกได้อย่างเสรีโดยไม่ตัดสินถูกผิดซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นการทำให้ผู้ชมรู้สึกมีส่วนร่วมหรือเป็นส่วนหนึ่งในฐานะผู้สร้างสรรค์นิทรรศการนี้ไปพร้อมกันด้วย ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ช่วยให้ผู้ชมรู้สึกสนุก เพลิดเพลิน ผ่อนคลายไปกับนิทรรศการผ่านอุปกรณ์และข้อความที่สังคมอาจจะมองว่าผิดแปลกหรือ “ไม่ปกติ” ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพูดถึงปัญหาในชีวิตทางสังคมของเราและตั้งคำถามกับชุดความจริงที่ครอบงำในสังคม อันแสดงให้เห็นว่าทีมงานมีการใส่ใจรายละเอียดในการนำเสนอและก็เว้นช่องว่างให้ผู้ชมตีความเอง



อย่างไรก็ตาม หลังชมนิทรรศการจบแล้วพบว่าการนำเสนอเรื่องเพดานเสรีภาพผ่านประเด็นที่อ่อนไหวหรือท้าทายเส้นศีลธรรมของสังคมไทยพร้อมกันหลายมิติในคราวเดียวกันก็อาจทำให้เนื้อหาไม่ชัดเจนเท่าที่ควรจนผู้ชมอาจรู้สึกสับสนได้ ทั้งนี้ ในส่วนของตอนจบนิทรรศการที่อาจทิ้งท้ายเป็นเหมือนการชวนให้สังคมไปพูดคุยกันต่อก็อาจทำให้ผู้ชมไม่เข้าใจวัตถุประสงค์หรือบทสรุปของนิทรรศการ 

 

เรื่องและภาพโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์