Skip to main content

31 พฤษภาคม 2504 ครอง จันดาวงศ์ ครูประชาบาลและสมาชิกเสรีไทยสายอีสานถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์สั่งประหารชีวิตด้วยอำนาจตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 โดยไม่ผ่านการพิจารณาคดีของศาล ข้อกล่าวหาที่ครองถูกตั้งคือเป็นกบฏต่อความมั่นคง และมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

"ครูครอง" ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าที่อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนครซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของเขา

มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าก่อนที่เพชรฆาตจะลั่นไกประโยคสุดท้ายจากปากครูครองคือ "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" และที่เหลือก็เป็นตำนาน

ป้ายกระดาษแผ่นนี้เป็นหลักฐานในคดีอาญา พลวัฒน์ ชาวจังหวัดระยองทำป้ายประท้วงแผ่นนี้ขึ้นและขับรถนำป้ายซึ่งถ่ายเอกสารไว้หลายแผ่นไปโปรยตามที่สาธารณะในจังหวัดระยองช่วงเดือนมีนาคม 2558 เพื่อต่อต้านยคสช.และแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

พลวัฒน์ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามไปถึงที่ทำงานและนำตัวไปสอบสวนในค่ายทหารที่จังหวัดชลบุรีราว 4 วัน หลังโปรยใบปลิว ต่อมาเขาถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และถูกดำเนินคดีในศาลทหาร คดีของพลวัฒน์ถูกพิจารณาในศาลทหารเรือยมาก่อนจะถูกย้ายกลับมาพิจารณษโดยศาลจังหวัดระยองต่อในเดือนมกราคม 2563 ซึ่งปรากฎว่าศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกพลวัฒน์เป็นเวลา 4 เดือน ขณะนี้พลวัฒน์อยู่ระหว่างประกันตัวสู้คดีในศาลอุทธรณ์เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกเขาโดยไม่รอลงอาญา

-----------สรุปคำพิพากษาจากฐานข้อมูล iLaw -------------------------------------------

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563  ศาลจังหวัดระยองได้มีคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง พลวัฒน์ วโรดมพุฒิกุล ในข้อหาความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ และ ความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 
 
โดยคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ 
 
โจทก์มีพ.ต.ท.มานิตย์ บุญมาเลิศ ผู้กล่าวหา เป็นพยานเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุพยานปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่รับผิดชอบ ผู้ใต้บังคับบัญชารายงานว่า มีการโปรยใบปลิวและติดประกาศ เจ้าหน้าที่สืบสวนได้เก็บใบปลิวมาให้ดูข้อความในใบปลิว เมื่อพิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่าเป็นไปในทางปลุกปั่น ถ้าประชาชนได้รับทราบแล้วจะเกิดความกระด้างกระเดื่องและนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมและในราชอาณาจักร
 
เมื่อตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด สามารถจับภาพผู้โปรยใบปลิวพบเป็นชายตัดผมสั้นขับรถจักรยานยนต์ เส้นทางการเดินทางกลับเข้าไปในหมู่บ้านราชพฤกษ์ พบว่า จำเลยมีลักษณะคล้ายผู้ต้องสงสัยและมีรถจอดอยู่ในบ้าน เมื่อพบจำเลย จำเลยก็ได้ยอมรับว่า ทำ เนื่องจากกลุ่มที่มีแนวความคิดเห็นเดียวกันโดนควบคุมตัวไปปรับทัศนคติ จำเลยควบคุมอารมณ์ไม่อยู่จึงนำเอกสารที่จัดทำไปโปรย
 
ด้านพ.ต.ท.วีรวุฒิ มีไล้ คณะทำงานของพนักงานสอบสวน เบิกความว่า เหตุที่สั่งฟ้องจำเลยเนื่องจากช่วงเกิดเหตุมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งการแสดงความคิดเห็นหรือติชมเป็นเรื่องไม่ควรกระทำ แต่หากจะกระทำก็ควรจะทำตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเปิดโอกาสให้ทำได้ ขณะนั้นมีการต่อต้าน คสช. เป็นจำนวนมาก การกระทำของจำเลยจึงเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในประเทศ
 
สำหรับความผิดตามมมาตรา 116 เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยและข้อความในใบปลิว ประกอบกับขณะนั้น คสช. เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศโดยเหตุมาจากสถานการณ์รุนแรงที่มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในหลายพื้นที่ มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก และออกคำสั่งของ คสช. หลายฉบับ คำสั่งที่ออกมาจำนวนมากย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิของคนหลายกลุ่ม ทำให้เกิดการไม่ปฏิบัติตามประกาศและคำสั่ง คสช. 
 
การเข้าปกครองประเทศของ คสช. ย่อมมีผลทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นสุดลง มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวปี 2557 มีการจำกัดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อ
 
จำเลยเบิกความว่า ขณะนั้นเป็นการปกครองโดยรัฐบาลที่ยึดอำนาจเข้ามา ซึ่งไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็มีนิสิตนักศึกษาออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย นิสิตนักศึกษาบางคนเป็นเพื่อนจำเลย และถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำด้วยความรุนแรง สอดคล้องกับที่ พ.ต.ท.วีรวุฒิ เบิกความว่า ขณะนั้นมีการต่อต้าน คสช. เป็นจำนวนมาก อันแสดงให้เห็นว่า จำเลยทราบอยู่แล้วว่าการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษารวมทั้งเพื่อนของจำเลยมีลักษณะทำนองต่อต้าน คสช. ย่อมก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย จนต้องมีการเชิญไปปรับทัศนคติ 
 
ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เจ้าหน้าที่รัฐกระทำด้วยความรุนแรงนั้น เป็นการกล่าวอ้างของจำเลยโดยไม่มีหลักฐานใด กอรปกับเจ้าหน้าที่รัฐย่อมต้องดำเนินการตามหน้าที่ที่กฎหมายให้อำนาจ ทั้งขณะนั้น คสช. เข้ามาบริหารประเทศย่อมต้องมีการจัดระเบียบผู้คนในบ้านเมืองที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกแยก ต่อต้านและแข็งข้อ ให้ทุกคนเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตามกติกาของสังคม และประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557
 
เมื่อพิจารณาถึงการโปรยใบปลิวของจำเลยทั้งสามจุดซึ่งกระทำในที่สาธารณะ จำเลยย่อมประสงค์ทำให้ปรากฏแก่ประชาชน ตามข้อความในใบปลิวแล้ว เมื่อพิเคราะห์ข้อความในใบปลิวทั้งหมดชี้ให้เห็นเจตนาของจำเลยว่ากระทำไปเพื่อปลุกปั่นยุยงให้ประชาชนลุกขึ้นสู้ และต่อต้านเผด็จการ ซึ่งจำเลยกล่าวหาว่า คสช. เข้ามาปกครองประเทศโดยไม่ชอบ เพื่อให้การปกครองของ คสช. พินาศไป โดยลุกขึ้นต่อต้าน คสช. ที่เป็นรัฐบาลปกครองประเทศในขณะนั้น เพื่อทำให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนได้โดยง่าย ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด ตามมาตรา 116 (2) 
 
ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เป็นการแสดงออกตามสิทธิในรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่า ถ้าเป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ คือ การแสดงออกภายใต้กรอบของกฎหมาย หรือที่กฎหมายรองรับให้สิทธิที่จะทำได้ ไม่มุ่งร้าย หรือกล่าวเท็จบิดเบือนข้อเท็จจริง แต่ข้อความตามใบปลิวนั้นมีลักษณะปลุกปั่น อันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความเห็นติชมโดยสุจริต 
 
ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ข้อความตามใบปลิวมีการนำมาใช้ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์นั้น เห็นว่า เป็นการกล่าวอ้างของจำเลย และหากจะมีการนำข้อความทำนองในใบปลิวมาใช้ย่อมต้องพิจารณาถึงข้อความของผู้นำมาใช้ คำนึงถึงกาลเทศะ สถานที่ที่ใช้ และเจตนาที่ใช้ อาจเป็นเพียงเพื่อแสดงความคิดเห็นในงานฟุตบอลประเพณีเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในบ้านเมือง ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์
 
สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ต.ท.วรวุฒิ เบิกความว่า มีการนำภาพถ่ายใบปลิวส่งเข้าไปที่เฟซบุ๊กเพจ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) ส่วนจำเลยเบิกความว่า ภาพที่ปรากฏบนเพจ ศนปท. นั้นจำเลยไม่ได้เป็นคนโพสต์และไม่เคยเห็นโพสต์นี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโพสต์ภาพพร้อมข้อควาบนเพจ ศนปท. โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ดูแลหรือรู้รหัสผ่านและเกี่ยวข้องกับเพจ ศนปท. อันจะสามารถนำภาพและพิมพ์ข้อความไปโพสต์ได้
 
แม้จำเลยจะเบิกความรับว่า ได้ส่งภาพที่โปรยและใบปลิวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของเพจ ศนปท. จริง แต่ยังไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้นำภาพไปโพสต์และพิมพ์ข้อความใต้ภาพในเพจของ ศนปท. ตามที่โจทก์ฟ้องมา  พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่เพียงพอรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) 
 
สำหรับแผ่นใบปลิวจำนวน 34 แผ่น และเครื่องปริ้นเตอร์ของกลาง เป็นอุปกรณ์เครื่องมือในการผลิตใบปลิวที่จำเลยได้ใช้เพื่อกระทำความผิด จึงต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) 
 
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116(2) จำคุก 6 เดือน คำให้การในชั้นพิจารณาของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง จึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงเหลือโทษจำคุก 4 เดือน และริบแผ่นใบปลิวจำนวน 34 แผ่น และเครื่องปริ้นเตอร์