19 พฤษภาคม 53 -19 พฤษภาคม 63 ความตายของลูกกับการต่อสู้ของแม่ (เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกในเพจพิพิธภัณฑ์สามัญชน 19 พฤษภาคม 2564)
วันนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาปฏิบัติหน้าที่ในวัดปทุมวนารามซึ่งเป็น "เขตอภัยทาน" ระหว่างกลุ่มกลุ่มนปช.กำลังชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ แต่วันนั้นกมนเกดไม่มีโอกาสกลับบ้านเหมือนวันก่อนๆ เมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์และศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ตัดสินใจใช้กำลังทหารขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์
กมนเกดถูกยิงเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ในวัดปทุมวนาราม แม้ระหว่างนั้นเธอจะไม่ได้ร่วมการชุมนุมและสวมเอี๊ยมที่มีสัญลักษณ์กาชาดที่แม้แต่คู่ขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธหรือคู่สงครามต่างให้ความเคารพ
หลังการเสียชีวิตของลูกสาว พะเยาว์ อัคฮาด พยายามต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม และเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงว่าลูกสาวเธอซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นพยาบาลอาสาและอยู่ในวัดซึ่งถือเป็นเขต "อภัยทาน" เสียชีวิตได้อย่างไร
แม้เวลาจะผ่านไปแล้ว 10 ปี พะเยาว์ยังคงเรียกร้องความจริงและความเป็นธรรมให้กับลูกสาวของเธอ บางช่วงบางตอนของการสัมภาษณ์กับ The MATTER พะเยาว์ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า
"นักการเมืองจะพูดแบบนี้ตลอด อภัยเถิด ดิฉันจะให้อภัยกับใครได้ ในเมื่อผู้กระทำยังไม่สำนึกเลย...ถ้าคุณกล้าประกาศว่า คุณขอโทษประชาชน ขอโทษในความผิดที่คุณได้ทำมา ถามหน่อย ทำไมเราจะให้อภัยไม่ได้ เราให้ได้อยู่แล้ว แต่กระบวนการยุติธรรมก็ดำเนินไป"
เข็มกลัดที่มีรูปของกมลเกดถูกยิงเสียชีวิตขณะสวมเอี๊ยมพยาบาล พร้อมข้อความ RIP (Rest in Peace - ไปสู่สุคติ) ชิ้นนี้พี่ชายของกมลเกดให้ข้อมูลว่าเข็มกลัดชิ้นนี้ผลิตมาสิบปีและน่าจะเหลือเป็นชิ้นสุดท้ายแล้ว
แม่ของกมลเกดติดมันตลอดระยะเวลาที่ทำกิจกรรมในโอกาสครบรอบสิบปีก่อนจะนำมันไปกลัดไว้กับผ้าดำที่นำมาผูกไว้กับป้าย "งดจัดกิจกรรม" บริเวณประตูรั้ววัดปทุมวนาราม ทางพิพิธภัณฑ์คาดว่ามันคงจะถูกเก็บและถูกทิ้งไว้กับผ้าดำจึงแจ้งความประสงค์กับพี่ชายของเธอที่จะขอปลดมันมาเพื่อทำการเก็บรักษาหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมในวันนี้ซึ่งพี่ชายของเธอก็อนุญาตให้ทางพิพิธภัณฑ์เก็บมาเพื่อประโยชน์ในการรักษาและบอกต่อเรื่องราวได้
นอกจากเข็มกลัด ในวันนี้เอี๊ยมพยาบาลเปื้อนเลือดของกมลเกดได้ถูกนำมาวางตรงประตูทางเข้า "เขตอภัยทาน" ที่เธอเสียชีวิตด้วย ซึ่งเอี๊ยมเปื้อนเลือดตัวนี้จะยังมีภารกิจทางประวัติศาสตร์ของมันอยู่ อย่างน้อยๆก็จนกว่าความยุติธรรมและข้อเท็จจริงในการเสียชีวิตจะถูกเปิดเผย
วัสดุ เข็มกลัดพิมพ์ลาย