Skip to main content

ผ้าโพกหัวเป็นอีกหนึ่งในพร็อพที่นิยมใช้ในการชุมนุมเพราะเป็นอุปกรณ์ที่ทำได้ไม่ยากและราคาไม่แพงมาก ในบางครั้งเพียงแค่ตัดผ้าสีพื้นขนาดพอเหมาะพร้อมเตรียมปากกาเมจิกไว้ผู้ชุมนุมก็สามารถสร้างสรรค์ผ้าคาดหัวพร้อมข้อความรณรงค์ได้ตามใจปรารถนา

ผืนบนสุด

คมช.ออกไป

ไม่ทราบปีที่แน่ชัด ที่น่าจะอยู่ในช่วงปี 2549 ถึง 2550 น่าจะเป็นผ้าคาดหัวที่ใช้ในการประท้วงต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ คณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจจากทักษิณ ชินวัตรในการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทางพิพิธภัณฑ์ได้นำผ้าแบบเดียวกันนี้อีกผืนหนึ่งไปร่วมในพิธีฌาปณกิจศพคุณดารณีหรือ "ดา ตอร์ปิโด" โดยได้นำไปใส่ไว้ในเมรุเพื่อรำลึกถึงเธอในฐานะหนึ่งในผู้ที่ร่วมการปราศรัยต่อต้านรัฐประหารที่สนามหลวงในช่วงปี 2549

วัสดุ ผ้าพื้นสีเหลือง ไม่เย็บมุม พิมพ์ข้อความด้วยตัวหนังสือสีแดง

ผืนที่สองจากบน

ไม่รับรธน.50

ไม่ทราบปีที่แน่ชัดแต่น่าจะเป็นช่วงปี 2550 ที่มีการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับคมช. ที่ต่อมาประกาศใช้เป็นราชอาณาจักรไทยฉบับปี 2550 ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าผ้าผืนนี้ใช้รณรงค์ก่อนออกเสียงประชามติหรือใช้รณรงค์หลังรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ผ่านการประชามติและประกาศใช้แล้ว

วัสดุ ผ้าดิบพื้นสีแดง ไม่เย็บมุม พิมพ์ข้อความด้วยตัวหนังสือสีขาว

ผืนที่สามจากบน

ความจริงวันนี้

ไม่ทราบปีที่แน่ชัดแต่ข้อความ "ความจริงวันนี้" เป็นรายการที่ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ จตุพร พรหมพันธุ์ และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ซึ่งต่อมาเป็นแกนนำนปช.เคยจัดร่วมกัน คาดว่าน่าจะมาจากการชุมนุมของคนเสื้อแดงช่วงปี 2552 หรือ 2553

วัสดุ ผ้าดิบพื้นสีแดง เย็บมุม พิมพ์ข้อความด้วยตัวหนังสือสีขาว

ผืนที่สี่จากบน

ให้มันจบที่รุ่นเรา

ซื้อมาจากการชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร ข้อความ "ให้มันจบที่ร่นเรา" และสัญลักษณ์สามนิ้วบนผ้าคือม็อตโตและสัญลักษณ์ที่ใช้อย่างแพร่หลายในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ช่วงปี 2563 แม้ว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวในช่วงปี 2563 จะมีหลายกลุ่ม และบางครั้งข้อร้องของหลายๆกลุ่มอาจแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ม็อตโต #ให้มันจบที่รุ่นเรา และสัญลักษณ์สามนิ้วก็ดูจะถูกใช้อย่างแพร่หลาย

วัสดุ ผ้าพื้นสีดำ เย็บมุม พิมพ์ข้อความด้วยตัวหนังสือสีขาว

ประเภท