Skip to main content

เรื่องโดย อภิรักษ์ นันทเสรี
ภาพถ่ายของสะสมโดย Chana La

การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เข้มข้น หลังนายกรัฐมนตรีประกาศ “บังคับใช้กฎหมายทุกฉบับที่มี” กับผู้ชุมนุมเพื่อตอบสนองกับสถานการณ์การชุมนุมที่มีการอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวาง ทำให้จำนวนผู้ถูกตั้งข้อกล่าวคดีมาตรา 112 ตั้งแต่หลังพล.อ.ประยุทธ์ออกแถลงการณ์ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2564 มีไม่น้อยกว่า 60 คน ตามรายงานของไอลอว์ 

การตั้งข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างกว่างขวางในลักษณะข้างต้นนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์การใช้มาตรา 112 มาจัดการกับผู้ชุมนุมที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจ รวมถึงการวิจาร์บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ที่บางกรณีการตีความว่าการกระทำใดเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายยังมีความน่ากังขา

ศิลปินคือคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การบังคับใช้มาตรา 112 ในเดือนมกราคม 2564 ศิลปินจากจังหวัดเชียงใหม่กลุ่มหนึ่งเนรมิต”กระดาษชำระ”ให้เป็นหมายจับคดีมาตรา 112 แล้วนำไปโยนเพื่อแจกจ่ายหรือติดตั้งเป็นงานศิลปะจัดว่างในพื้นที่สาธารณะ ก่อนที่ต่อมา “ล้วน” ศิลปินผู้สร้างผลงานจะถูกดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ ในโอกาสที่ “ล้วน” เดินทางมาทำธุระที่กรุงเทพ พิพิธภัณฑ์สามัญชนจึงถือโอกาสชวนเขาพูดคุยกึงผลสร้างสรรค์ของเขารวมถึงความคิดเห็นและความรู้สึกนึกคิดของเขา ต่อตำแหน่งแห่งที่และบทบาทของศิลปินในสถานการณ์ทางการเมืองที่แหลมคมเช่นนี้

ประสบการณ์วัยเยาว์ที่เปลี่ยนแปลงตัวตน

ล้วนเล่าว่าเขาน่าจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยม เพราะตั้งแต่ชั้นป. 5 เขาเข้าเรียนในโรงเรียนประจำชายล้วนเก่าแก่แห่งหนึ่งในกรุงเทพซึ่งเป็นโรงเรียนที่ระบบรับน้องและระบบอาวุโสที่เข้มแข็งรวมทั้งมีการปลูกฝังแนวคิดแบบรอยัลลิสต์อย่างเข้มข้น ทว่าหลังเรียนจบล้วนย้ายไปเรียนที่เชียงใหม่และไปมีสังคมใหม่ เขาจึงเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดอิสระ ประสบการณ์ของล้วนในโรงเรียนประจำที่มีระบบรุ่นพี่รุ่นน้องเข้มแข็ง กลับกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ล้วนมีแนวคิดเสรีมากขึ้น

“จริงๆ แล้วอาจเป็นความโชคดีที่ผมผ่านระบบรับน้องที่เป็น SOTUS ขั้นสุดมา มันทำให้ผมรู้ว่าสังคมที่แบ่งเป็นชนชั้นมันน่าเกลียดอย่างไร เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับสังคมแนวระนาบแนวนอนที่ผมอยากให้เป็น ประสบการณ์ในโรงเรียนยังทำให้ผมตระหนักรู้และมีความระมัดระวังไม่ทำตัวมีชนชั้นหรือแบ่งชนชั้นกับคนอื่น”
 
“การผ่านโรงเรียนที่มีความเป็น Royalist เข้มข้นมาทำให้ผมมองเห็นความจริงว่าสภาพสังคมแบบเดิมไม่สามารถล้มถูกลงได้ง่าย เพราะเครือข่ายต่างๆผูกโยงกันไว้ทั้งหมด ทั้งอำนาจทางการเมือง ธุรกิจ และอำนาจอื่นๆล้วนเชื่อมโยงกัน แต่ความเข้มแข็งของโครงสร้างสังคมจารีตก็ไม่ได้ทำให้ผมหมดหวังในการต่อสู้นะ ตรงกันข้ามมันทำให้ผมมีความสุขุมและใจเย็นขึ้น ใจเย็นกับการเปลี่ยนแปลงเพราะไม่ใช่ว่าไปม็อบวันพรุ่งนี้ กูต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้ แต่เราต้องพยายามหาช่องทางทำงานทางความคิด ทำให้กลุ่มคนส่วนใหญ่ในสังคมหันมารับฟังเราได้ด้วย   

ประสบการณ์จากต่างแดนกับคำถามถึงแผ่นดินเกิด

ล้วนเล่าต่อว่านอกจากประสบการณ์ในโรงเรียนมัธยมที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูงแล้ว การมีโอกาสไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศในโครงการ Work and travel ก็มีส่วนไม่น้อยในการเปลี่ยนวิธีคิดและมองโลกของเขา 

“จริงๆแล้วตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมผมก็เคยรู้เห็นและสัมผัสบรรยากาศการชุมนุมนะเพราะโรงเรียนของผมตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ถูกใช้การชุมนุมทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง แต่ด้วยความที่ผมยังเด็กในสมัยนั้นผมก็เลยไม่ได้สนใจอะไร”

ล้วนระบุว่าเขามาสนใจและเริ่มคิดเรื่องการเมืองอย่างจริงจังก็เป็นช่วงที่เขาไป Work & Travel ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาจากโครงการแลกเปลี่ยนเขาเริ่มตั้งคำถามว่า  ทำไมภาษีอเมริกาถูกใช้อย่างมีคุณค่าและคนอเมริกันได้ใช้บริการสาธารณะอย่างรถเมล์ที่มีคุณภาพดี

"เท่าที่ผมเห็น ทุกอย่างในอเมริกามันมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต หลายอย่างมีการจัดการที่ดีกว่าบ้านเรา อย่างเช่นรถเมล์ของเขาที่ดีกว่าเราหลายเท่าตัว สิ่งที่พบเห็นที่อเมริกาทำให้ผมถามตัวเองว่าหากจะต้องไปประกอบอาชีพ จะมีงานไหนที่จะช่วยให้ประเทศของผมดีขึ้นกว่านี้  ผมเริ่มหาข้อมูลว่ามีมูลนิธิหรือองค์กรไม่แสวงกำไรที่ไหนที่น่าจะเหมาะกับผม

แต่คิดไปคิดมาผมก็เห็นว่าศูนย์กลางปัญหาอยู่รัฐ เลยคิดว่าจะไปทำงานภาครัฐ แต่พอศึกษามากขึ้นผมก็ได้รู้ว่าเอาเข้าจริงแล้วภาครัฐไม่ได้สนใจจะแก้ปัญหาอะไรแบบจริงจัง  ส่วนงานมูลนิธิต่างๆที่มีตั้งเป็นสิบเป็นร้อยแห่งเอาเข้าจริงแล้วงานพวกนี้ก็ไม่ได้ก่อให้ความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง งานบางอย่างก็เหมือนกันงานที่คนชั้นกลางไปทำเพื่อสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรม ถึงจุดนี้ผมเลยสนใจการเมืองอย่างจริงจัง

จากผู้เฝ้ามองสู่ผู้เล่นในสนาม

ล้วนเล่าว่าก่อนไป Work & Travel ที่อเมริกา เขาไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองใดๆ แต่หลังจากกลับมาเขาก็เริ่มอยากจะร่วมกิจกรรมหรือจัดกิจกรรมทางการเมืองด้วยตัวเองแต่ตอนนั้นเขาก็ยังไม่รู้จักใคร จนกระทั่งเขาเรียนชั้นปีสี่ (ปี 2561) กอล์ฟ (นลธวัช มะชัย) จากกลุ่มละครลานยิ้มการละคร ชวนเขาไปทำงานศิลปะเกี่ยวกับบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิชาวกระเหรี่ยงที่หายสาบสูญ (ภายหลังมีการยืนยันว่าเสียชีวิต) เขาจึงตกลงไปร่วมกิจกรรมและนับเป็นการทำกิจกรรมประเด็นทางสังคมการเมืองครั้งแรกของเขา 

“กอล์ฟมาบรีฟงานกับผมว่าอยากได้งานเรื่องบิลลี่ หลังจากนั้นผมกับทีมก็ไปค้นข้อมูลเรื่องบิลลี่ว่าเกิดอะไรขึ้น การไปค้นข้อมูลเรื่องบิลลีทำให้ผมพบว่าประเทศนี้มันไปทั้งระบบพังทั้งระบบ ไม่ใช่แค่เรื่องป่าไม้หรือเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ 

แม้ช่วงที่เราจัดงานนี้จะเป็นช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองไม่ได้มีความตึงเครียดอะไรมากและประเด็นที่เราทำก็ไม่ได้แตะโครงสร้างอำนาจรัฐ แต่ก็ยังมีตำรวจนอกเครื่องแบบมาถ่ายรูปวันเปิดงานซึ่งผมรู้สึกว่าการที่เจ้าหน้าที่มาทำแบบนั้นไม่ไม่ใช่ มันไม่ถูก แต่ผมไม่รู้จะตอบโต้ยังไงเลยได้แค่เก็บความคิดนั้นไว้เงียบๆ”  

“การไปทำงานในประเด็นบิลลี่เป็นเหมือนการเปิดโลกความเป็นนักกิจกรรมของผม หลังจากนั้นเวลามีการจัดม็อบที่เชียงใหม่ผมก็ไปร่วมตลอดในฐานะผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่ง มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พรรควิฬาร์ (กลุ่มนักกิจกรรมที่จังหวัดเชียงใหม่) จัดม็อบ ผมถือโอกาสเอาผลงานศิลปะเก่าที่เคยทำสมัยเรียนไปร่วมในม็อบด้วย งานชิ้นนั้นเป็นหมวกกันน็อคที่เอากล้องวงจรปิดมาติดไว้ จริงๆแล้วตอนที่ทำขึ้นมาผมตั้งใจจะให้งานชิ้นนั้นสื่อว่าการใช้สื่อสังคมออนไลน์ทำให้เราตกเป็นเป้าของการสอดแนมเช่นถูกคนแคปภาพแคปโพสต์ไปเสียบประจาน ผมตั้งใจสื่อถึงพฤติกรรมของคนกว้างๆไม่ได้จะเจาะจงสื่อถึงการสอดแนมโดยรัฐ แต่พอเอาไปแสดงในม็อบความหมายของงานก็ดีดไปอีกทาง" 

เปลี่ยนกระดาษทิชชูเป็นงานศิลปะ

ก่อนที่จะมาทำงานกระดาษชำระ 112 ล้วนเคยทำผลงานศิลปะจากกระดาษทิชชูมาก่อนแล้วแต่ครั้งแรกเป็นผลงานที่สื่อสารในประเด็นอื่น โดยการเสียดสีความสิ้นเปลืองในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของคนบางกลุ่ม  

“ช่วงเดือนตุลาคม 2563 ผมเล่นโทรศัพท์เยอะมาก ทั้งดูเฟซบุ๊กทั้งเสพข่าว ผมเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมคนเรามันใช้สื่อ social กันเปลืองจัง บางครั้งเราใช้ Social เป็นเครื่องมือระบายอารมณ์ บางครั้งเราก็ใช้เครื่องมือสำหรับเช็ดล้างมลทินของตัวเอง เหมือนกับการดึงกระดาษทิชชูมาใช้เช็ดแล้วทิ้งไป ผมเลยลองทำโปรเจคงานศิลปะด้วยกระดาษชำระเป็นครั้งแรกโดยให้ชื่อว่า “Swipe gently” 

ครั้งนั้นผมเอากระดาษเช็ดหน้าแบบดึงออกจากซองทีละแผ่น มาพิมพ์ทับด้วย interface ของเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม แล้วเอาไปขายห่อละ 100 บาท 

ช่วงที่ผมผลิตงานชุด Swipe gently ออกมาเป็นช่วงไล่เลี่ยกับช่วงการรับน้องที่มหาวิทยาลัยพอดี ตัวผมเองผมเคยเข้าพิธีรับน้องทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และระดับโรงเรียนมัธยม ซึ่งโรงเรียนของผมโซตัสค่อนข้างแข็งและผมเองก็เคยเป็นทั้งรุ่นน้องผู้ถูกกระทำและรุ่นพี่ผู้กระทำ ผมเองก็เคยเขียนขอโทษคนที่เคยไปทำอะไรไม่ดีกับเขาไว้ในช่วงรับน้อง 

เอาจริงๆผมก็ไม่ได้คิดว่าการเขียนเฟซบุ๊กมันเป็นการลบบาดแผลของเราจริงๆ แต่มันเป็นการระบายสิ่งข้างในออกมามากกว่า แสดงให้คนเห็นถึงความซื่อสัตย์ว่าเราเปลี่ยนความคิดแล้ว ให้คนนอกเข้าใจว่าเราไม่ใช่คนเดิมแล้ว ก็เหมือนกับการใช้ Social media เป็นทิชชู่ในการชำระตัวเอง”

ล้วนบอกด้วยว่าผลงานชุด Swipe gently ถูกขายไปหมดแล้วแต่ผู้สนใจสามารถไปดูผลงานได้ตามลิงค์นี้ (https://www.facebook.com/kraisd/photos/a.106594624714937/111610227546710/)

จับม.112 ลงบนกระดาษชำระ

หลังเข้ามาร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองได้ระยะหนึ่งล้วนมีโอกาสมาอยู่กับกลุ่ม artn't (https://www.facebook.com/artntist) ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมด้านศิลปะของจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงนี้เองที่ล้วนพูดกับเพื่อนร่วมกลุ่มว่าเขาอยากนำกระดาษชำระมาทำเป็นงานศิลปะ จนท้ายที่สุดก็มีเพื่อนในกลุ่มอีกสองคนช่วยกันพัฒนาจนกลายเป็นงาน Art Performance มาตรา 112 บนกระดาษชำระ

“ตอนที่ผมเอาไอเดียเกี่ยวกับกระดาษชำระไปขายตอนแรกมันตลกมาก ผมปั๊มกระดาษทิชชู่ เป็นหมายเรียกคดีมาตรา 112 มา 1 ม้วน แล้วไปเสนอกับเพื่อนในกลุ่มว่า “กูมีของมาเสนอมึง มึงจะเอาไปทำอะไรป่าว !” พอเพื่อนผมเห็นทิชชู่ม้วนนั้นก็โยนเงินมาให้ผม 2,000 บาท แล้วบอกไปทำทิชชู่เพิ่ม เดี๋ยวเราจะไปเอามันไปบอมบ์เชียงใหม่กัน ซึ่งกระบวนการพูดคุยทั้งหมดเกิดขึ้นภายในไม่เกิน 15 นาที แล้วผลงานชุดนี้ก็เกิดขึ้น ถ้าจะพูดให้ถูกผลงานกระดาษทิชชู 112 ชิ้นนี้มันไม่ใช่งานของผลคนเดียวแต่มันเป็นผลงานของกลุ่ม artn't มากกว่า”

ล้วนเล่าต่อว่า ผลงานมาตรา 112 บนกระดาษชำระคือการนำแนวคิดจากผลงานชุด “Swipe gently” มาต่อยอด

“ช่วงนั้นเป็นช่วงสิ้นปี 2563 ผมที่ติดตามม็อบมาตลอดอยู่แล้ว ก็เริ่มเห็นว่ารัฐเริ่มนำมาตรา 112 กลับมาใช้แบบรัวๆ แล้วเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่ามาตรานี้มันยังใช้อยู่อีกเหรอเพราะผมไม่เคยเห็นมานานมากแล้ว เอาตรงๆ คือตั้งแต่ผมเริ่มติดตามการเมืองมายังไม่เคยเห็นคนเคยโดนมาตรา 112 แบบชัดเจนจริงๆ เลย แล้วมันเอาออกมาใช้แบบแจกกันเปลืองมากๆ 

ผมเห็นว่ากฎหมายนี้มันอันตรายแล้ว แล้วยังมีคนถูกอุ้มฆ่าจากมาตรานี้อีกด้วย แกนนำการชุมนุมที่ขึ้นปราศรัยก็โดนมาตรานี้กันหมด อย่างทนายอานนท์ ก็โดนไปคนเดียวตั้งหลายคดี ใช้กฎหมายเปลืองกันขนาดนี้ แล้วจะเคลียร์อย่างไรให้ทัน เคลียอย่างไรให้หมด ผมคิดว่ามันไม่ถูกต้อง มันเหมือนแกล้งกันผมเลยตัดสินใจคิดงานชิ้นนี้ขึ้นมา

ผมจึงไปนึกถึงของที่มันใช้เปลืองเหมือนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่นั่นก็คือทิชชู่ แต่งานชิ้นนี้มันแตกต่างกับงาน “Swipe gently” เพราะงานนั้นเราใช้เป็นทิชชู่เช็ดหน้า แต่งานนี้ผมคิว่าต้องใช้ทิชชู่ที่เป็นToilet Paper หรือกระดาษชำระ เพราะต้องเละเทะ มันต้องใช้แล้วทิ้งจริงๆ ใช้แบบสิ้นเปลือง และเนื้อเยื่อของทิชชู่มันก็บอบบางด้วย

พอได้ไอเดียแล้วทำขึ้นมาก็เอาไปให้กลุ่ม artn't ดู พอเอาไปคุยกับ artn't ก็ได้ไอเดียเรื่องการติตตั้งงาน ผมเสนอไปว่าให้เอาทิชชู่ไปใส่ไว้ในห้องน้ำสาธารณะในเชียงใหม่ แต่คนใน artn't ก็บอกว่าห้องน้ำสาธารณะในเชียงใหม่มันมีไม่เยอะ ให้เอาทิชชู่ไปโปรยในตัวเมืองเลย

กระดาษชำระ 112 ล็อตแรกผมทำมา 30 ม้วน ถูกนำไปโปรย ไปแปะ ไปโยนทิ้งในตัวเมืองเชียงใหม่ตามสถานที่สำคัญต่างๆ 20 ม้วน ทั้งอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ประตูท่าแพ และที่อื่นๆอีกมากมาย ผมเอาไปบอมบ์ช่วงประมาณ 3-4 ทุ่ม ช่วงนั้นเป็นช่วงเดือนมกราคม 2564 ที่มีมาตรการควบคุมโควิด ร้านเหล้าปิด 4 ทุ่ม พอในเมืองคนก็เริ่มเงียบ ผมก็เอางานไปบอมบ์ในที่ต่างๆ ผ่านไปไม่ถึง 15 นาทีงานผมหายเกลี้ยง จนไม่มีใครทันได้เก็บงานของผมไป เจ้าหน้าที่เขาขยันกันจริงๆ”

“พอวันที่สองผมก็เลยเปลี่ยน เอากระดาษไปโปรยในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แทน ผมเอาไปติดตั้งที่หน้าคณะนิติศาสตร์ และอ่างแก้ว ไม่มีใครมาห้ามอะไร และทำให้มีคนเห็นและสนใจงานเราเยอะด้วย”

กว่าจะเป็น ชำระ 112

“การผลิตผลงานชุดนี้ก็ไม่ยาก คือผมทำตรายางขนาดเท่าแผ่นทิชชู่มาปั๊มทิชชู่ทีละแผ่นเลย ตอนแรกผมไปศึกษาวิธีทำลวดลายบนทิชชู่ อย่างเช่นม้วนทิชชู่ที่พิมพ์หน้า Donald Trump ผมก็ไปตามหาร้านในเมืองไทยที่รับทำ ซึ่งในประเทศไทยไม่มีร้านรับทำ ไปเจอแต่โรงงานรับทำที่อเมริกา ซึ่งหากเป็นทิชชู่ลายCustom ที่เราอยากทำเองราคาจะตกอยู่ที่ประมาณม้วนละ 1,500 บาท ยังไม่รวมค่าขนส่งอีก ซึ่งเป็นมาตรฐานโรงงาน และเป็นการพิมพ์ลงไปบนแผ่นทิชชู่เลย ผมคิดว่ายังไงก็จ่ายไม่ไหวแน่นอน” 

การผลิตผลงานชิ้นนี้ดูจะประสบกับอุปสรรค์ตั้งแต่แรกในเรื่องต้นทุนการผลิต แต่ความขยันในการหาความรู้ใหม่ๆของล้วน โดยเฉพาะการหมั่นไปเข้าชมงานศิลปะที่จัดขึ้นตามที่ต่างๆก็ทำให้ล้วนหาทางออกเรื่องต้นทุนในการผลิตชิ้นงานได้

“โชคดีที่ช่วงนั้นผมเพิ่งไปงานขอนแก่นเมนิเฟสโต้ แล้วได้เห็นงานชิ้นหนึ่งที่เป็นทิชชู่ พิมพ์ภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่เป็นคนถือเก้าอี้ฟาดอยู่ ผมจึงสอบถามไปทางผู้จัดว่าใครเป็นเจ้าของผลงานเพื่อจะสอบถามเทคนิคการทำ ซึ่งพอเจอตัวเจ้าของพลงานก็เล่าว่าเขาใช้วิธีทำตรายางเพื่อเอาไปปั้มป์ ผมก็เลยไปจ้างทำตรายางราคาชิ้นละ 900 บาทแล้วเอามาใช้ทำผลงานชิ้นนี้”

“พอได้ตรายางมา เราก็เอามาปั้มป์ลงบนกระดาษชำระที่แกะออกมาจากแกนทีละแผ่น แล้วค่อยม้วนกลับในแกนตามเดิม ชุดแรกเราทำขึ้น 30 ม้วน เพื่อเอาไปบอมบ์ (โยน) ทั่วเชียงใหม่ ครั้งนั้นเราใช้เวลาทำกัน 2 คืน คืนละ 5 ชั่วโมง แต่ละคืนจะมีคนปั๊มกระดาษ 3 คน และมีคนม้วนทิชชู่คืนแกนอีกคน หลังจากนั้นเราก็เปิด Pre-order ให้คนสั่งจองซึ่งต้องทำทั้งหมด 200 ม้วน ผมใช้เวลาทำไปทั้งหมด 5 วัน กว่าจะทำได้กระดาษชำระ 200 ม้วน  แล้ววิธีการทำคือต้องปั๊มมือหมดทุกแผ่นจริงๆ พอปั๊มเสร็จก็ต้องม้วนกลับใส่แกนทิชชู่ ซึ่งทิชชู่ 1 ม้วน จะมีประมาณ 130 แผ่น กลายเป็นว่าผมปั๊มทิชชู่ไปทั้งหมดหลายพันแผ่น เป็นงานทำมือทุกกระบวนการจริงๆ” 

“ทีนี้พอถึงเวลาตั้งราคา ผมตั้งไว้ที่ม้วนละ 112 บาท เพื่อนก็มาถามว่ามึงโง่หรือเปล่า? ทำยากขนาดนี้ขายแค่ 112 บาท ผมก็คิดแต่ว่าอยากให้คนซื้อเอาไปใช้จริงๆ ด้วย ตอนทำเช็ตนั้นคือมันส์มาก น้องๆที่มาช่วยกันทำก็เป็นน้องที่รู้จักกัน จ้างกันคนละ 300-400 บาท ช่วยๆ กันทำไป”

“จริงๆ เรื่องตราปั๊ม ในเซ็ตแรกเราเขียนอธิบายไว้ในคำบรรยายบนเฟซบุ๊กเลยว่ามันเป็นทิชชู่ปั๊ม 112 ผมไม่ได้แค่อยากให้คนเอากระดาษชำระนั้นไปใช้ต่อ แต่ผมอยากให้คนอื่นไปทำตราปั๊มมาทำใช้เอง เพราะส่วนตัวผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องกรรมสิทธิ์ หรือลิขสิทธิ์ เพราะว่าพอมันเป็นงานที่อยู่กับกระแสสังคม หรือเป็นงานที่อยู่กับมวลชน ผมก็คิดว่ามันควรเป็นงานของมวลชนจริงๆ อย่างถ้าไม่มีรุ้ง ไม่มีเพนกิ้น หรือแกนนำที่ถูกจับ ถูกดำเนินคดี ผมก็ทำงานชิ้นนี้ออกมาไม่ได้หรอก

ผมคิดแบบนี้มากกว่า และไม่อยากให้มันถูกระบุด้วยซ้ำว่าเป็นของกลุ่ม artn’t นะ หรือว่ามันต้องแพงนะ อะไรแบบนี้ อยากให้งานมันถูก ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและเอาไปใช้ได้จริง  สุดท้ายแล้วมันก็ไม่มีคนไปทำตราปั้มหรอกนะแต่มันก็สนุกตรงที่ว่าทิชชู่ 112 มีคนเอาไปใช้จริงๆ เช็ดโน่น เช็ดนี่ แล้วถ่ายรูปโชว์กัน อย่างตัวผมเองก็เอาไปใช้จริงๆ บางทีในห้องทิชชู่หมดผมก็เอาทิชชู่ 112 มาใช้เช็ดจริงๆ ด้วย  

ไม่ใช่แค่กระดาษชำระแต่เป็นปฏิบัติการทางศิลปะ

ในวันที่กระดาษชำระ 112 ถูกนำไปโปรยในตัวเมืองเชียงใหม่ ล้วนเล่าว่าเขามีความรู้สึกปนกันหลายอย่าง ทั้งสนุก ทั้งกังวล แต่ท้ายที่สุด performace ประกอบการเผยแพร่งานชุดนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วแม้จะต้องแลกมาด้วยคดีความของล้วนก็ตาม

“คืนนี้ผมจำได้ว่าตอนที่ขี่รถผมเบลอมาก พวกเราไปกันทั้งหมด 5 คน ใจหนึ่งผมก็panic  นะ แต่อีกใจหนึ่งมันก็สนุกมาก ในใจคิดแต่ว่า “มึงต้องเจอ!” อย่างตอนผ่านอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ สภ.ภูพิงค์ราชนิเวชน์ หรือสถานที่สำคัญอื่นๆ ก็คิดว่าที่ตรงนี้ต้องมีงานนี้อยู่ ก็เข้าไปแปะทิชชู่แทบทุกที่ สุดท้ายคืนนั้นผมก็พยายามตัดเรื่องpanic ออกไปให้หมดเพราะคิดว่ามันจำเป็นต้องทำ” 

“เอาจริงๆแล้วคืนนั้นเราใช้เวลาติดตั้งงานในเมืองแค่ประมาณ 45 นาทีเอง แวะที่หนึ่งเอาหัวทิชชู่ไปติดกับสก็อตเทปแล้วก็ลากให้ยาวๆ กลับเข้ารถ แล้วก็ย้ายที่ทำวนไปเรื่อยๆ อีกส่วนหนึ่งก็เอาไปแจกในร้านเหล้าในเมืองด้วย หลังจากทำเสร็จก็กลัวนิดนึง พอกลับมานอนคนเดียวแล้วก็คิดว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อ ผมไม่ได้คิดว่าสิ่งที่ทำมันผิดนะ แต่ก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นเลยตื่นเต้นแบบนั้นมากกว่า 

ส่วนวันที่สองที่ไปทำในมหาวิทยาลัย ตรงหน้าตึกคณะนิติศาสตร์ ผมก็ไปทำเอง ตอนแรกผมกะว่าจะโยนไว้แถวบันไดหน้าคณะนั่นแหละ แต่ก็เห็นมันมีลวดสลิงอยู่สูงๆ สวยมาก ผมเลยเห็นว่าตัวชิ้นงานมันน่าจะทำได้มากกว่าแค่โยนไว้กับพื้นเลยโยนม้วนกระดาษขึ้นไปพาดกับเส้นลวดสลิง ผมโยนอยู่หลายรอบมากๆ จนยามคณะเดินออกมาบอกว่า “น้อง ถ้าถ่ายรูปเสร็จแล้วเก็บด้วยนะ” แต่เขาก็ไม่ได้ไล่ผมนะ ปล่อยให้ทำต่อไป แล้วก็ไม่ได้เก็บงานผมทิ้งด้วย แล้วอีกที่ผมเอาม้วนทิชชู่ไปกลิ้งลงจากเนินอ่างแก้ว ก็ไม่มีใครมาไล่เหมือนกัน มีแต่โดนหมาไล่ การเอางานไปเผยแพร่ในมหาวิทยาลัยง่าย และสนุกกว่าตอนกลางคืนมาก เพราะได้ใช้ฟังก์ชั่นของทิชู่มากกว่า ใช้ความยาวของมันอย่างเต็มที่ มีพื้นที่กว้าง มีเวลาคิดกับมัน แล้วงานก็ไม่ได้ถูกเก็บออกไปไวเหมือนตอนกลางคืนด้วย”

“พองานถูกเผยแพร่ในSocial network ก็ทำให้คนสนใจมากขึ้น ผมคิดว่านี่แหละงานมันได้ทำงานแล้ว ทำให้คนได้เห็นรสชาติของการประท้วงอีกแบบหนึ่ง ได้เห็นว่าหมายจับ 112 ที่ดูสูงส่ง เมื่อมาอยู่บนกระดาษชำระก็กลายเป็นเรื่องต่ำตมในสายตาคนอื่น แล้วรสชาติมันก็เป็นรสชาติที่ผมมองว่าเผ็ดลึกๆ คือจริงๆ อาจจะไม่ต้องออกไปประท้วง แต่ชูป้าย หรือใช้งานศิลปะแทนการแสดงออกก็ได้ ตอนนั้นคิดอยู่แล้วว่าคนจะต้องแชร์ออกไปแน่ๆ แต่ตอนนั้นก็รอดูต่อไปอีกว่าคนจะเอาไปทำอะไรต่อ เพราะที่ผมเอาทิชชู่ไปโยนๆ ในมหาวิทยาลัย ผมก็ไม่ได้เก็บกลับมาเลย ใครจะเก็บไปก็ได้ ถ้าจะมีคนเก็บไปใช้ เก็บไปถ่ายรูป ผมก็ดีใจแล้ว

“หลังเผยแพร่งานชิ้นนี้ผมรู้สึกมีไฟในการทำผลงานมากขึ้นนะ แต่อีกใจก็กลัวว่าจะมีคดีหรือมีอะไรตามมาหรือเปล่าซึ่งสุดท้ายก็มีจริงๆ”

“ผมถูกออกหมายเรียกไปดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ความสะอาด 2 อาทิตย์ให้หลังจากที่ไปติดตั้งงานในตัวเมืองเชียงใหม่ การถูกดำเนินคดีก็กลายเป็นวัตถุดิบให้ผมนำมาสร้างผลงานชุดใหม่ วันที่ 16 กุมภา ที่ผ่านมา (2564) ผมไปที่สถานีตำรวจแต่ไม่ได้ขึ้นไปรายงานตัวพิมพ์ลายนิ้วมือ แล้วผมกับเพื่อนๆกลุ่ม artn’t ก็เปิดประมูลงานศิลปะมันหน้าสถานีตำรวจเลย ซึ่งตำรวจก็ไม่ได้มาจับหรือมาทำอะไร 

ในส่วนการถูกคกคามผมไม่ได้รู้สึกว่าในเชียงใหม่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะตามมาคุกคามอะไร อาจจะมีบ้างที่เวลาไปทำงานศิลปะแล้วมีรถของคนแปลกหน้ามาจอดเฝ้าก็แค่นั้น ส่วนตัวผมก็ไม่ได้กลัวอะไร ยังใช้ชีวิตอย่างปกติทุกวัน ยังทำงานได้ตามปกติ รถที่ผมใช้ไปบอมบ์งานทั่วเชียงใหม่คืนนั้น ก็ยังเป็นรถที่ผมใช้ปกติในชีวิตประจำวัน”

ศิลปิน การเมือง ศิลปะ การเมือง

ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยเฉพาะยุคปี 2563 กลุ่มศิลปินเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกมาทำงานเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน ดังเช่นการเกิดขึ้นของกลุ่ม Free Art ศิลปะปลดแอก หรือการจัดม็อบในรูปแบบงานศิลปะอย่าง Mob Fest  แต่สำหรับล้วน ดูเหมือนเขาจะเชื่อว่าการแบรนดิ้งใครว่าเป็นศิลปินในท่ามกลางการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมอาจกลายเป็นการผลิตซ้ำสภาพที่คนไม่เท่ากันไปในคราวเดียวกัน

“ถ้าถามว่าผมเป็น “ศิลปินการเมืองประจำม็อบเชียงใหม่” ใช่หรือไม่ ผมรู้สึกแปลกๆ กับคำถามนั้นด้วยซ้ำ ผมคิดว่าศิลปินในม็อบทั่วประเทศมีตั้งเยอะแยะ แต่ผมแค่บังเอิญทำงานแล้วเสือกมีคนชอบมันเยอะเฉยๆ 

ผมปฏิเสธตลอดว่าผมไม่ใช่ “ศิลปินการเมือง” ผมแค่ทำงานศิลปะทั่วไปของผมร่วมกับกระแสการเมือง และนั่นคืเหตุผลแรกที่ผมตัดสินใจร่วมทำงานกับกลุ่ม artn’t เพราะว่า artn’t มันมาจากคำว่า Art not  หรือเป็นการ Anti Art ปฏิเสธความเป็นศิลปิน  เพราะการแปะป้ายว่าคนนั้นคนนี้เป็นศิลปินมันก็เหมือนการยกคนคนนั้นให้ลอยเหนือหัวคนอื่น แล้วก็ชี้โชว์กับคนอื่นว่างานนี้ของกูมันดังนะ งานนี้ของกูมันดีนะ แล้วสุดท้ายมันก็จะเอาระบบโครงสร้างพังๆแบบเดิมอย่างระบบอุปถัมป์ มาใช้ในการเคลื่อนไหวที่เรียกร้องเรื่องคนเท่ากัน ผมจะคอยบอกตัวเองให้ระวังไม่ยกตัวว่าเป็น “ศิลปิน”เพราะผมเชื่อว่าประชาชนทั่วไปก็มีความคิดสร้างสรรค์ได้ไม่แพ้พวกศิลปิน”

“ส่วนเรื่องศิลปะสัมพันธ์กับการเมืองยังไง ผมคิดว่าศิลปะ หรือความคิดสร้างสรรค์กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองมันมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก ”

“ผมเคยเห็นสเตตัสของเพื่อนคนหนึ่งในเฟซบุ๊กว่า “...ที่ม็อบจุดติดเมื่อปีที่แล้วก็เพราะทีมกราฟฟิค หรือว่าการส่งข่าวผ่านงานออกแบบ และงานศิลปะ มันทำให้งานน่าสนใจขึ้น ป้ายในงานน่าสนใจมากขึ้น ภาษาศาสตร์ หรือวิธีการพูดแบบอ้อมๆ แบบศิลปะ ทำให้คนตีความได้หลากหลาย และสนใจมากขึ้น...” อันนี้ผมก็เห็นด้วยนะ ผมเคยพูดไว้ว่า ข้อดีไม่ใช่จุดเด่น

หมายถึง ข้อดีของการใช้ศิลปะกับการเคลื่อนไหวทางสังคม มันคือการที่การที่สื่อสารไป 1 message แล้วคนนำไปส่งต่อกันได้อีกป็นพันmessage หมายความว่างาน 1 ชิ้น คนนำไปพูดต่อได้อีกหลายประเด็น มันก็เป็นข้อดีที่ทำให้คนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน 

แต่ถึงที่สุดก็ต้องยอมรับว่าศิลปินก็ไม่ใช่ผู้นำสังคม ศิลปินเป็นเพียงsoft power ที่ตามมาสื่อสารประเด็นต่างๆ ให้กว้างมากขึ้น ซึ่งบางครั้งก็มาช้าด้วยซ้ำ คนที่นำสังคมจริงๆ คือคนที่ขึ้นปราศรัยอย่างเพนกวิน หรือรุ้งมากกว่า คนเหล่านั้นเป็นคนเปิดความรู้ เปิดเพดาน ส่วนศิลปินเป็นเหมือนปลาเล็กที่คอยตอด คอยเติมรสชาติให้การพูดการสื่อสารให้มีรสชาติขึ้น ทำให้ดึงให้คนเข้ามาใกล้ชิดกับประเด็นหนักๆได้มากขึ้นเท่านั้น"

"สำหรับเรื่องท่าทีของคนวงการศิลปะต่อสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนี้ ผมขอเล่าผ่านเรื่องราวของตัวเองก็แล้วกัน อย่างครั้งล่าสุดที่ผมโดนคดีจากงานทิชชู่ 112 อาจารย์ที่เคยสอนศิลปะผมยังแทบไม่รู้เลยว่าผมถูกจับจากการทำงานศิลปะ มีอาจารย์แค่ 1-2 คนที่รู้" 

"ศิลปินในเชียงใหม่ที่เคยทำงานด้วยหลายๆคนก็รู้ว่าผมโดนคดี แต่ก็ไม่มีการตอบโต้ใดๆจากศิลปินเลย มีคนถามบ้างว่า “ล้วน โดนจับหรอ? เป็นอย่างไรบ้าง?” แต่ถึงเวลาที่ต้องออกมาแสดงออก แสดงความคิดเห็นก็ไม่เห็นมีใครออกมา อยู่กันอย่างเงียบๆ ทั้งๆ ที่ผมก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคนแต่ศิลปินในเชียงใหม่กลับเงียบมาก"
 
"มันจะมีคนยกตัวเองให้เป็น "ศิลปิน" บางคนที่คอยควบคุมคนที่คิดต่าง คอยชี้นิ้วควบคุมว่างานนี้ต้องเป็นอย่างนี้นะ ศิลปินอย่าไปพูดเรื่องแบบนี้นะมันจะไม่ดีนะ หรือคอยแนะนำว่าหากพูดเรื่องนี้ก็ต้องระวังนะ แต่จะไม่เคยอธิบายเหตุผลเลยว่าต้องระวังอะไร หรือทำไมต้องระวัง ผมก็อยากจะตั้งคำถามกลับคืนไปให้คนกลุ่มนี้ว่าทำไมต้องระวัง ทั้งๆ ที่เพดานของสังคมมันไปไกลขนาดนี้แล้ว เรายังมีอะไรต้องระแวง ระวังในการทำงานศิลปะอยู่อีกเหรอ นอกจากการทำงานออกมาแล้วถูกวิจารณ์ซึ่งนั่นเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ยิ่งถูกวิจารณ์แรงยิ่งดี แต่เราไม่ควรต้องมาระวังอะไรว่างานแบบไหนทำได้ แบบไหนทำไม่ได้ มานั่งตีกรอบตัวเองในขณะที่ประเด็นทางสังคมมันถูกผลักออกไปไกลแล้ว"
 

อยากฝากอะไรถึง "ศิลปิน"

"ผมอยากจะฝากถึงคนในวงการศิลปะว่า ให้ทุกคนว่าหยุดหลงตัวเองได้แล้วครับ แล้วก็อย่าคิดว่าการที่คุณเงียบคือการที่คุณกำลังเซฟตัวเอง จริงๆ แล้วการที่คุณกำลังเงียบคุณก็กำลังทำร้ายตัวเองอยู่เช่นเดียวกัน เหมือนที่มีคนเคยบอกว่า ความรุนแรงที่แรงที่สุดก็คือความเงียบ แล้วผมก็คิดว่าตอนนี้ให้ประเมินตัวเองให้ชัดแล้วเลือกฝั่งซะ ไม่ใช่นิ่งแล้วบอกเป็นกลาง ไม่เช่นนั้นแล้วสังคมจะเลือกคุณเอง"
 

ประเภท