ในการชุมนุมม็อบเฟสต์ช่วงเดือนพฤศจิกายน 63 ที่ผ่านมา มีคนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเล่นสเก็ตบนถนนราชดำเนิน โดยบนพื้นถนนที่พวกเขากำลังเล่นสเก็ตมีไวนิลขนาดใหญ่พิมเป็นรูปหน้าของ "ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลุ่มนักสเก็ตบอร์ดเหล่านี้คือกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า "คณะราษเก็ต"
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่ผู้ต้องหาคดีการชุมนุมที่หน้ากองพันทหารราบที่ 11 มีกำหนดเข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาคดีมาตรา 112 ระหว่างที่ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวกับตำรวจและมีการชุมนุมให้กำลังใจผู้ต้องหาที่หน้าสน.มีสเก็ตบอร์ดอันหนึ่งที่มีมือชูเป็นสัญลักษณ์ 3 นิ้วหลายๆมือทิ่มทะลุรถถังไปวางอยู่บนพื้นหน้าเวทีปราศรัยที่สน.บางเขนซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ได้ถ่ายภาพไว้และนำมาขึ้นเป็น cover ของเพจอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่เจ้าของสเก็ตบอร์ดก็ได้ติดต่อทางพิพิธภัณฑ์มาเพื่อมอบแผ่นสเก็ตบอร์ดนั้นให้กับทางพิพิธภัณฑ์
จากการพูดคุยเบื้องต้นแทางพิพิธภัณฑ์สนใจจะทำความรู้จักกับ "คณะราษเก็ต" มานานแล้วแต่ยังไม่มีโอกาสพูดคุยจนกระทั่งเมื่อขบวนเดินทะลุฟ้า เดินเท้าจากนครราชสีมาถึงที่ลานจอดรถต่างจังหวัดตรงข้ามห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์รังสิตเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 ทางพิพิธภัณฑ์ได้พบชายหนุ่มสองคนยืนถือสเก็ตบอร์ดอยู่ใกล้ๆจุดที่ขบวนเดินทะลุฟ้าเคยจัดการชุมนุม จึงถือโอกาสจับเข่าคุยกับเขาถึงที่มาที่ไปของคณะราษเก็ต
เชน ชายหนุ่มชาวกรุงเทพที่ไปเปิดร้านขายสเก็ตบอร์ดที่จังหวัดชัยนาทเล่าว่า ในปี 2563 ระหว่างที่คณะราษฎร 63 นัดชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตัวเขาซึ่งเป็นคนเล่นสเก็ตบอกก็อยากจัดกิจกรรม "ไถหน้าตู่" เล่นสเก็ตบอร์ดบนภาพพล.อ.ประยุทธ์ เขาจึงใช้เฟซบุ๊กของร้านประกาศเชิญชวนซึ่งปรากฎว่ามีชาวสเก็ตบอร์ดทั้งจากกรุงเทพ เชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆให้ความสนใจจึงนัดหมายมาทำกิจกรรมกันในวันที่ 14 ตุลาคม ศิลปินคนหนึ่งที่มาร่วมก็เสนอว่าไหนๆวันนั้นผู้ชุมนุมก็ใช้ชื่อคณะราษฎรแล้วพวกเขาก็ควรใช้ชื่อคระราษเก็ตกันเพื่อให้สอดคล้องกันและจากนั้นพวกเขาก็ทำกิจกรรมภายใต้ชื่อคณะราษเก็ตตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาตามแต่โอกาสจะอำนวย โดยหลังจากกิจกรรมเมื่อ 14 ตุลาคม กิจกรรมใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่พวกเขาไปร่วมในนามคณะราษเก็ตก็คือการชุมนุมมหกรรมม็อบเฟสต์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563
เชนเล่าต่อว่าพวกเขาใช้ไวนิลขนาดใหญ่ปรินท์เป็นภาพใบหน้าของพล.อ.ประยุทธ์ล้วให้เพื่อนๆเล่นสเก็ตบอร์ดบนนั้น บางครั้งก็มีการเล่นแบบผาดโผนไถสเก็ตโดดจากพื้นต่างระดับลงบนหน้าของพล.อ.ประยุทธ์ แต่ในตอนนี้พวกเขาคงจัดกิจกรรมลักษณะนี้ไม่ได้ไปพักใหญ่ๆเพราะไวนิลผืนนั้นชำรุดจนอาจไม่ปลอดภัยหากนำมาใช้อีก เชนเสริมด้วยว่าคณะราษเก็ตเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ พวกเขาจึงทำกิจกรรมร่วมกันเฉพาะช่วงที่โอกาสอำนวยแต่ช่วงนี้สภาพเศรษฐกิจไม่ดีเพื่อนๆในกลุ่มเลยไม่ค่อยสะดวกที่จะมาทำกิจกรรม
เมื่อถามถึงแนวคิดว่าเหตุใดจึงเลือกแสดงออกทางการเมืองผ่านสเก็ตบอร์ด เชนตอบว่าเขาอยากให้การแสดงออกทางการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน อย่างเช่นนักร้องก็สามารถร้องเพลงที่มีเนื้อหาทางการเมืองได้ สำหรับเขาและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ในคณะราษเก็ต พวกเขาชอบเล่นสเก็ตบอรืดจึงเลือกใช้การเล่นสเก็ตบอร์ดเป็นช่องทางแสดงออกทางการเมือง แผ่นบอร์ดของพวกเขาสามารถใช้เป็นพื้นที่วาดลวดลายและสัญลักษณ์ทางการเมือง นอกจากนั้นการเล่นสเก็ตบอร์ดโดยตัวของมันเองก็ถือเป็น Art Performance รูปแบบหนึ่ง
สำหรับสเก็ตบอร์ดลวดลายการเมืองที่เชนเคยใช้ตอนนี้มีสองแบบ
แบบแรกคือลาย "ทิ่มแทงค์" เป็นภาพมือที่ชูสักญลักษณ์สามนิ้วทิ่มใส่รถถังจนพังพาบ ซึ่งหลังใช้งานเสร็จเชนได้ส่งมาบริจาคให้ทางพิพิธภัณฑ์ทำการเก็บรักษา
ส่วนแบบที่สองทำขึ้นช่วงหลังเดือนกันยายน 2563 ที่มีการปักหมุดของคระราษฎร เป็นภาพชาวสเก็ตบอร์ดยืนถือหมุดซึ่งภาพนี้เพื่อนศิลปินของเชนคนหนึ่งเป็นคนวาดให้ ซึ่งสำหรับเชนภาพบนสเก็ตบอร์ดทั้งสองชิ้นก็ถือเป็นการบันทึกโมเมนท์ทางการเมืองของสามัญชนรูปแบบหนึ่ง เชนปิดท้ายบทสนทนาด้วยว่า ตอนนี้เขามีร้านอยู่ที่ชัยนาทแต่น่าเสียดายที่พื้นที่สาธารณะในจังหวัดที่จะใช้เล่นสเก็ตบอร์ดมีน้อยไปหน่อย