Skip to main content

เป็ดเหลืองถูกนำมาใช้ในการชุมนุมของกลุ่มราษฎรครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ในการชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภาเพื่อจับตาการประชุมพิจารณาและลงมติวาระที่หนึ่ง รับหลักการ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งเจ็ดญัตติ ซึ่งมีร่างที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือ iLaw ริเริ่มและรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 100732 คนมาเป็นผู้ร่วมเสนอรวมอยู่ด้วย 

ก่อนหน้านั้นในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 เฟซบุ๊กเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมรวมทั้งเฟซบุ๊กกลุ่มอื่นๆที่เป็นแนวร่วมกับกลุ่มราษฎรแชร์ภาพโปสเตอร์การชุมนุมเป็นรูปเรือเป็ดตัดกับอาคารรัฐสภาพร้อมโพสต์ข้อความชวนคนร่วมชุมนุมว่า

"เตรียมพบกับการดำเนินทางน้ำของราษฎรครั้งยิ่งใหญ่ 17 พฤศจิกายน 15.00น.นี้ “ขบวนพยุหยาตราประชาราษฎร์” ทัพเรือเป็ดจะเต็มเจ้าพระยา! ใครมีทัพอื่นๆ นำมาเสริมกำลังได้เลย!"

ทว่าเมื่อถึงวันนัดหมายก็ไม่ได้มีคนปั่นเรือเป็ดมาขึ้นบกที่รัฐสภาแต่อย่างใด มาทราบเหตุผลภายหลังว่าเป็นเรื่องของความปลอดภัยเพราะน้ำลึกและไหลแรงการใช้เรือเป็ดโดยสารมาจริงๆอาจเกิดอันตราย แต่ก็มีข้อมูลว่าหากผู้ชุมนุมจะถีบเรือมาจริงๆทางฝ่ายความมั่นคงก็มีการวางมาตรการป้องกันและสกัดกั้นทางน้ำไว้แล้ว

เมื่อผู้ชุมนุมราษฎรทยอยเข้าพื้นที่ใกล้เคียงฝั่งรัฐสภาปรากฎว่าได้มีการเป็ดยางที่ใช้ลอยในทะเลหรือสระว่ายน้ำมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนการถีบเรือมาจริงๆ 

ที่หน้าอาคารรัฐสภาในวันที่ 17 พฤศจิกายนมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมรถฉีดน้ำแรงดันสูงและมีการกั้นแบริเออร์พร้อมรั้วลวดหนามหีบเพลงไว้หลายชั้นเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าถึงหน้าอาคารรัฐสภาได้และระหว่างการชุมนุมเจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตารวมทั้งฉีดน้ำผสมสารเคมีใส่ผู้ชุมนุมหลายครั้ง เป็ดยางที่เบื้องต้นถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ได้ถูกผู้ชุมนุมนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นโล่ป้องกันกระสุนน้ำ เป็ดยางบางตัวได้รับความเสียหาย เช่นถูกลวดหนามฉีกขาดหรือเปื้อนสีฟ้า ระหว่างที่เหตุสลายการชุมนุมดำเนินไปก็มีผู้ชุมนุมบางส่วนที่เผยแพร่ภาพเป็ดบนโลกออนไลน์พร้อมข้อความไว้อาลัย

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ผู้ชุมนุมราษฎรนัดรวมตัวประท้วงที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนถึงเวลานัดหมายก็ปรากฎว่าเริ่มมีคนนำเป็ดเหลืองมาทำเป็นมีมหรือภาพกราฟฟิกต่างๆเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เป็ดเหลืองได้ถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ใหม่ของกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเพื่อสะท้อนภาพความสดใสและการใช้สันติวิธีในการเคลื่อนไหวและระหว่างการชุมนุมในวันที่ 18 ก็มีคนนำเป็ดเหลืองอันหนึ่งที่ได้รับความเสียหายจากการสลายการชุมนุมไปแขวนที่ป้ายแยกราชประสงค์คล้ายเป็นการให้เกียรติ "เป็ดเหลืองผู้ล่วงลับ" รวมทั้งเป็นการเสียดสีการใช้ความรุนแรงโดยรัฐด้วย หากป้ายแยกราชประสงค์คือสัญลักษณ์ของการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ซากเป็ดยางสีเหลืองก็คงเป็นสัญลักษณ์สะท้อนความรุนแรงของการสลายการชุมนุมในปี 2563

.ในเวลาต่อมาเป็ดเหลืองได้ถูกนำไปผลิตเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าและของแจกต่างๆ เช่น สติกเกอร์ เสื้อยืด หมวลกนิรภัยและตุ๊กตาจำหน่ายในพื้นที่การชุมนุม รวมทั้งยังได้รับเกียรติแต่ตั้งฐานันดรเป็น "กรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์" (เกียกกายมาจากพื้นที่การชุมนุมหน้ารัฐสภาที่เป็ดยางถูกนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันกระสุนน้ำเป็นครั้งแรก ส่วนราษฎรบริรักษ์คือผู้รักษาราษฎร) คล้ายจะเสียดสีว่าเจ้าหน้าที่รัฐและกลไกรัฐไม่ใช่สิ่งที่ปกป้องรักษาพวกเขาดังที่ควรจะ ไม่เหมือนเป็ดยางที่ปกป้องพวกเขาระหว่างสลายการชุมนุม

 

 

 

 

 

 

ประเภท