Skip to main content

การตั้งคำถามกับท่าทีของสถาบันการศึกษาต่อสถานการณ์ทางเมืองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่งวดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2563 มีบัณฑิตของมหาวิทยาลัยรัฐสองคนจากสองสถาบันการศึกษาเลือกแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผ่านใบรปิญญาบัตรของตัวเอง กรณีแรกคือการฉีกปริญญาบัตรของบัณฑิตมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเพื่อสะท้อนความไม่พอใจต่อท่าทีของผู้บริหารวิทยาเขตที่มีต่อนิสิตทีใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยแสดงออกทางการเมือง

กรณีที่สองคือกรณีของเจ้าของปริญญาบัตรฉบับนี้ 

บัณฑิตท่านนี้ซึ่งน่าจะประกอบอาชีพเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งส่งข้อความมาทางเพจพิพิธภัณฑ์สามัญชนว่า

"สวัสดีครับแอดมิน ผมเป็นอาจารย์คนนึงที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับนศ.มาตลอดปีนี้ 

รวมถึงวันที่สลายการชุมนุมด้วยน้ำผสมสารเคมีสีฟ้า เย็นวันที่ 16 ตุลาก็ได้อยู่ในเหตุการณ์ ผมจึงเกิดไอเดียเอาใบปริญญาบัตรระดับปริญญาโทของผมมาทำ color splatter ด้วยสีน้ำสีฟ้า เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า คุณค่าของการเรียนที่แท้จริงนั้นไม่ใช่ใบปริญญา แต่คือ การตื่นรู้เพื่อความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ในสังคม 
กระผมจึงอยากบริจาคใบปริญญาบัตรให้ทางพิพิธภัณฑ์เก็บไว้เป็นวัตถุสะสมจัดแสดง เพื่อสานต่อเจตนารมณ์การป่าวร้องเพื่อประชาธิปไตยของผมด้วยนะครับ"

หลังข้อความนี้ถูกส่งมาไม่กี่วันทางพิพิธภัณฑ์ก็ได้รับใบปริญญาเปื้อนสีพร้อมจดหมายน้อยฉบับหนึ่ง ซึ่งจะขออนุญาตนำฉบับเต็มมาพิมพ์เพื่อความสะดวกในการอ่านไว้ ณ. ที่นี้

กรุงเทพมหานคร 

31 ตุลาคม 2563

เรียน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สามัญชน

ตามที่ได้นำเรียนผ่านทางข้อความใน FB แล้วนั้น กระผมจึงขอส่งใบปริญญาบัตรฉบับนี้ไว้ให้ท่าน รบกวนช่วยเผยแพร่  ประชาสัมพันธ์เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ศิษย์น้องจากมหาวิทยาลัยนี้ ตลอดจนประชาชนทุกคน อย่ากลัวการออกมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและสิทธิมนุษยชน และเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า เป้าหมายและคุณค่าที่แท้จริงของการศึกษา นั้น นอกจากทักษะอันเชี่ยวชาญในวิชาชีพเพื่อเลี้ยงตัวแล้ว การตระหนักรู้ถึงทุกข์ของมนุษย์ร่วมสังคมคือสิ่งที่บัณฑิตพึงกระทำ เพื่อเป็นกำลังสร้าง โครงสร้างสังคมใหม่ ที่ทุกคนจะมีความสุขร่วมกันอย่างเท่าเทียม

ขอแสดงความนับถือ

ราษฎรคนหนึ่งผู้ร่วมสู้กับราษฎรทุกท่าน

ประเภท