Skip to main content

"อันประชา สามัคคี มีจัดตั้ง เป็นพลัง แกร่งกล้า มหาศาล แสนอาวุธ หมู่อันธพาล ไม่อาจต้าน แรงมหา ประชาชน"

คือตอนหนึ่งของบทกวี "พลังประชาชน" ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งเป็นข้อความที่ปรากฎบนเสื้อยืดที่ นวมทอง ไพร์วัลย์ สวมใส่เป็นตัวสุดท้ายในชีวิต

19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุญรัตนกรินทร์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร

หลังยึดอำนาจรถถังและกองทหารประจำการตามสี่แยกต่างๆในกรุงเทพ วันที่ 30 กันยายน นวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ขับรถแท็กซี่ของเขาที่มีข้อความต่อต้านการรัฐประหารพ่นด้วยสีสเปรย์บนตัวถังรถพุ่งชนรถถังที่จอดอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าจนได้รับบาดเจ็บสาหัส

ในเวลาต่อมาเมื่อพ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปก.) กล่าวในโอกาสหนึ่งว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้” นวมทองก็ตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการแขวนคอตัวเองเพื่อลบคำสบประมาทดังกล่าวบนสะพานลอยหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในคืนวันที่ 31 ตุลาคม 2549  

บทความ แด่ นวมทอง ไพรวัลย์ ในยุคสมัยแห่งการรัฐประหาร ของ ilaw ซึ่งมีลิงค์อยู่ตอนท้าย ระบุว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือนปช.จัดสร้างและทำพิธีเปิด "สดมภ์อนุสรณ์นวมทองไพร์วัลย์" ที่บริเวณใต้สะพานลอยหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 7 ปี การเสียชีวิตนวมทอง

สดมภ์นวมทองเป็นเสาทรงสามเหลี่ยมสูง 2 เมตร ด้านที่หันออกสู่ถนนวิภาวดีรังสิตปรากฎภาพของนวมทอง วันที่เกิดและวันเสียชีวิตของเขา นอกจากนั้นก็จารึกข้อความที่นำมาจากจดหมายลาตายของเขา "ชาติหน้าเกิดมาคงไม่เจอการปฏิวัติอีก" และข้อความ "นิสัยคนไทย ฆ่าได้แต่หยามไม่ได้"
 
เสาด้านซ้ายหากหันหน้าเข้าสดมภ์จารึกมาตรา 1 ของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2475 "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย" ส่วนด้านขวาจารึกบทกวี "พลังประชาชน" ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์  
 
หยดฝนย้อย  หยาดฟ้า มาสู่ดิน
ประมวลสิ้น  เป็นมหา  สาครใหญ่
แผดเสียงซัด ปฐพี  อึงมี่ไป
พลังไหล  แรงรุด  สุดต้านทาน
อันประชา  สามัคคี  มีจัดตั้ง
เป็นพลัง แกร่งกล้า  มหาศาล
แสนอาวุธ  แสนศัตรู หมู่อันธพาล
ไม่อาจต้าน  แรงมหา  ประชาชน

คาดว่าที่ทางผู้จัดสร้างจารึกกวีบทนี้บนสดมภ์น่าจะเป็นเพราะข้อความตอนหนึ่งของบทกวีเป็นข้อความที่ปรากฎบนเสื้อที่นวมทองสวมในวันที่เขาเสียชีวิตและน่าจะเป็นความตั้งใจของนวมทองเองที่จะใช้เสื้อตัวนั้นเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ครั้งสุดท้าย

หมายเหตุ สองภาพบนนำมาจากเฟซบุ๊ก iLaw https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10162698483825551