Skip to main content

ข่าวการหายตัวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทยในกัมพูชา ที่ถูกชายฉกรรจ์อุ้มตัวขึ้นรถและจนถึงปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรมถือเป็นหนึ่งในข่าวที่ครองกระแสในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม

#saveวันเฉลิม ถูกติดจนขึ้นท็อปเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย นอกจากนั้นก็มีการจัดกิจกรรมทวงถามชะตากรรมวันเฉลิมเกิดขึ้นอย่างน้อยสองครั้งที่สกายวอล์กปทุมวันและหน้าสถานทูตกัมพูชา ล่าสุดในวันที่ 10 มิถุนายน ส.ส.รังสิมันต์ โรม ก็นำประเด็นนี้ไปตั้งกระทู้สดถามในสภา

นอกจากความเคลื่อนไหวข้างต้นก็มีอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีคนพบเห็นป้ายตามหาคนหายพิมพ์ด้วยสีเหลืองถูกนำไปติดตามที่ต่างๆในกรุงเทพ

แม้ป้ายตามหาคนหายจะเป็นสิ่งที่พอพบได้ตามปกติแต่สิ่งที่ป้ายชุดนี้แตกต่างไปคือบุคคลในป้ายทั้งหมด 16 คน เป็นผู้มีบทบาทในทางสังคมการเมือง และมีประวัติถูกอุ้มหายหรืออุ้มฆ่า เช่น

สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ นักเคลื่อนไหวที่ลี้ภัยการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความที่ว่าความให้ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ เตียง ศิริขันธ์ อดีตส.ส.สกลนครและสมาชิกเสรีไทยคนสำคัญ

หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม

Spring Movement

กลุ่มนักกิจกรรมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้จัดทำป้ายเหล่านี้เล่าให้ทางพิพิธภัณฑ์ฟังว่า กลุ่มของพวกเธอเป็นการรวมตัวของนิสิตจุฬาบางส่วนที่ทำกิจกรรมร่วมกันในช่วงแฟลชม็อบ เมื่อมีข่าวการหายตัวของวันเฉลิมก็ได้พูดคุยกันว่าอยากรณรงค์ประเด็นนี้ให้เป็นที่สนใจของคนในสังคม

ที่ผ่านมาประเด็นคนหายมักมีการรณรงค์ระยะสั้นๆเมื่อเกิดกรณีแต่ละกรณีจากนั้นก็เงียบหายไป และจะกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งก็ต่อเมื่อมีใครหายตัวไปอีกครั้ง นอกจากนั้นประเด็นคนหาย เช่น กรณีของทนายสมชาย หรือสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ก็มักจำกัดอยู่ในความรับรู้วงแคบๆ เช่น กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนหรือคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มเล็กๆ

กลุ่ม Spring จึงคิดกันว่าอยากจะลองเปลี่ยนวิธีการรณรงค์จากการเคลื่อนไหวบนเพจซึ่งอาจเข้าถึงผู้คนอย่างจำกัด มาเป็นการทำโปสเตอร์ติดตามที่สาธารณะ ซึ่งจะเข้าถึงคนได้กว้างกว่า

เพราะเนื้อหาบนเพจอาจเข้าถึงเฉพาะคนที่สนใจ กดไลค์ หรือติดตาม แต่โปสเตอร์ที่อยู่ตามที่สาธารณะจะเข้าถึงคนที่เดินผ่านไปผ่านมาทั้งหมดไม่ว่าพวกเขาจะสนใจหรือติดตามเพจหรือเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่

สำหรับบุคคลที่ปรากฎในป้ายชุดนี้ จะเป็นคนที่เคยมีประวัติถูกอุ้มหายหรืออุ้มฆ่าทั้งหมดเพื่อจะสื่อสารว่าการอุ้มวันเฉลิมไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในการเมืองไทย ซึ่งแม้ว่าแทบทุกกรณีจะไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำความผิดได้ แต่บทบาทของบุคคลเหล่านี้ในทางสังคมการเมืองก็ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่ารัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐอาจมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

หลังนำไปติด ป้ายส่วนหนึ่งถูกฉีกออกไปอย่างรวดเร็วแต่ตัวแทนกลุ่มที่ให้ข้อมูลก็ระบุว่ามีการทำป้ายเหล่านี้แจกเป็นไฟล์แล้วและก็มีคนจากต่างจังหวัดขอไฟล์เข้ามา ทางกลุ่มจึงเชื่อว่าประเด็นการอุ้มหายได้กลายเป็นที่รับรู้แล้ว ถึงแม้ป้ายจะถุกฉีกแต่มันก็จะถูกนำมาติดใหม่ได้อีกครั้งและที่สำคัญการฉีกป้ายก็ไม่อาจฉีกความรับรู้ของคนในสังคมได้

น่าสนใจว่าหลังป้ายตามหาคนหายชุดนี้ถูกนำออกเผยแพร่ครั้งแรกในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่วันเฉลิมหายตัวไป ป้ายนี้กูถูกนำมาใช้หรือปรากฎในแฟลชม็อบอีกหลายๆครั้งที่เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นเวอร์ชันต้นฉบับ เวอร์ชันที่ถูกดัดแปลงปรินท์ออกมาด้วยขนาดใหญ่หรือเล็กกว่าต้นฉบับ รวมทั้งเวอร์ชันออนไลน์ที่บางคนเปิดโปสเตอร์นี้บนไอแพดหรือแท็บเล็ตถือระหว่างการชุมนุม คล้ายผู้ถือต้องการถามย้ำถึงชะตากรรมของวันเฉลิมและผู้สูญหายคนอื่นๆซึ่งจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่าชะตากรรมของคนที่อยู่ในป้ายส่วนหนึ่ง เช่น สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ สยาม ธีรวุฒิ ไปจนถึงทนายสมชาย เป็นอย่างไร

 

 

ประเภท