20- 21 กรกฏาคม 2567 พิพิธภัณฑ์สามัญชน ร่วมกับ ThumbRights และ DAY BREAKER NETWORK จัดนิทรรศการ The Letter: คนในส่งออกคนนอกส่งเข้า นิทรรศการจดหมายที่จะพาทุกท่านไปท่องอยู่ในโลกแห่งความคิดถึงผ่านตัวอักษรที่เขียนส่งถึงกันระหว่างคนในเรือนจำที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก กับคนนอกเรือนจำผู้เฝ้ารอการกลับมาของคนที่พวกเขารัก
ณ KINJAI CONTEMPORARY บางพลัด กรุงเทพฯ
ในสภาวะที่สภาพจิตใจของผู้ถูกจองจำบอบช้ำและโดดเดี่ยวจากการถูกจำกัดอิสรภาพ การได้อ่านหรือเขียนจดหมายเพื่อสื่อสารกับครอบครัว เพื่อน หรือคนที่รักในระหว่างที่อยู่ในเรือนจำเป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยา และสร้างกำลังใจให้พวกเขามีแรงสู้ต่อไป ในชีวิตที่แม้กายจะตกอยู่ภายในกรงขัง แต่ความคิดและจิตใจของพวกเขายังคงทำงานอย่างอิสระเสรี โดยมิอาจถูกควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจากผู้มีอำนาจ
สำหรับคนในเรือนจำที่ถูกควบคุมการเข้าถึงและถูกจำกัดวิธีการสื่อสาร จดหมายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังเพียงหนึ่งเดียวที่ช่วยเยียวยาจิตใจทั้งคนที่ถูกคุมขัง และคนที่เป็นฝ่ายรอ รวมทั้งเป็นสะพานเชื่อมความรู้สึกต่างๆ ทั้งความห่วงใย ความคิดถึง และกำลังใจ ระหว่างสองฝั่งกำแพง
จดหมายที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาที่เป็นการให้กำลังใจ บอกเล่าอารมณ์ความรู้สึก ความหวัง ความฝันที่จะได้รับอิสรภาพอีกครั้งของผู้เขียนที่เป็นทั้ง “คนใน” และ “คนนอก” ที่มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลที่อยู่ในเรือนจำในฐานะครอบครัว คนสนิท รวมไปถึง “คนนอก” ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องในเชิงความสัมพันธ์ที่สนิทสนม หากแต่มีความสัมพันธ์กันในแง่ของจุดร่วมทางความคิดบางอย่างในฐานะเพื่อนร่วมอุดมการณ์ด้วย ซึ่งการได้อ่านข้อความจดหมายจากคนเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่สร้างรอยยิ้ม กำลังใจท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญหรือความรู้สึกที่สื่อให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว
เมื่อเดินเข้ามา ภายในนิทรรศการจะประกอบไปด้วยห้องนิทรรศการหลักที่ออกแบบให้มีเศษผ้าสีดำห้อยลงมาบริเวณหน้าห้องเพื่อจำลองบรรยากาศให้มีลักษณะคล้ายห้องขังที่เต็มไปด้วยจดหมายจากคนในเรือนจำที่ถูกดำเนินคดีการเมือง โดยจดหมายที่ทีมงานได้รวบรวมมาจัดแสดง เช่น จดหมายของขนุน สิรภพ, เก็ท โสภณ, ก้อง อุกฤษฏ์, บัสบาส, ป้าอัญชัญ, ทนายอานนท์ โดยมีผ้าสามผืนหรืออุปกรณ์การนอนสำหรับคนในที่วางอยู่บริเวณพื้นห้องประกอบเพื่อแสดงให้เห็นว่าบางคนในเรือนจำก็จะเขียนจดหมายบริเวณที่นอนของตนเอง เนื่องจากเป็นมุมส่วนตัวของพวกเขา
เมื่อเดินออกมาจากห้องนิทรรศการหลัก ก็จะพบกับส่วนถัดไปคือ นิทรรศการรอง ซึ่งจัดแสดงจดหมายจากคนนอกส่งถึงคนใน และบางส่วนจะเป็นเสื้อแคมเปญที่เกี่ยวข้อง เช่น เสื้อนิรโทษกรรมประชาชน เสื้อจากครก.112 เสื้อ ครย.112 เพื่อแสดงให้เห็นถึงบรรยากาศด้านนอกที่คนนอกเรือนจำพยายามสื่อสารและขับเคลื่อนเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก รวมไปถึงสิ่งจัดแสดงที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น แถลงการณ์ปิดตัวแคมเปญราษฏรยกเลิก 112 และ ซีดีหมายรักจากเรือนจำของทอม ดันดี
นอกจากนี้ เพื่อเชิญชวนให้ผู้เข้าชมร่วมเขียนจดหมายส่งถึงเพื่อนในเรือนจำบริเวณดังกล่าวก็จะมีโต๊ะและอุปกรณ์เครื่องเขียนอย่าง สีน้ำ สีชอล์ค ปากกาไว้ให้หยิบใช้ได้ตามอัธยาศัยเมื่อเขียนจดหมายเสร็จสามารถนำไปหย่อนในตู้ไปรษณีย์ถึงทุกคนในเรือนจำ หรือซองสีแดงที่ระบุเฉพาะเจาะจง จากนั้นรับฟรีไอศกรีมรส (ไม่) เดียวดาย 1 สกู๊ปจากร้านพัดกะจีน เพื่อเป็นการเติมพลังใจระหว่างชมนิทรรศการ
สำหรับชื่อไอศกรีมรส (ไม่)เดียวดาย เป็นชื่อที่ทางทีมงานตั้งกันเอง โดยได้รับไอเดียมาจากขนมเดียวดาย ซึ่งเป็นขนมที่ทำมาจากการผสมกันระหว่างโอวัลตินกับน้ำเปล่าหรือนมข้นหวาน จากนั้นปั้นให้ขึ้นรูปซึ่งเป็นขนมทานเล่นของคนในเรือนจำตามทรัพยากรที่พวกเขาพอจะหาได้
ไม่เพียงกิจกรรมเขียนจดหมายเท่านั้น ภายในนิทรรศการยังมีมุมถ่ายรูป จุดเช็คอินยืนหยุดขัง ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในหลายแห่ง เช่นบริเวณหน้าศาลอาญา เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ผู้เข้าชมสามารถทำกิจกรรมและถ่ายรูปได้เมื่อมาถึงนิทรรศการ
จากนั้นเวลา 16: 00 น. เข้าสู่ช่วงกิจกรรมเสวนา โดยวันแรก 20 กรกฏาคม เริ่มต้นด้วยเสวนาไปรษณีย์เรือนจำ พูดคุยกับทนายปูเล จากทนายอาสาจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชย หรือทนายสายเยี่ยมผู้รับบทบาทเป็นไปรษณีย์ส่งจดหมายให้เหล่านักโทษการเมืองที่จะพาให้ทุกคนเห็นถึงความรู้สึกและคุณค่าของจดหมายที่มีต่อผู้รับ ตามด้วยเสวนาวงที่สอง คนในส่งออก คนนอกส่งเข้า พูดคุยกับอั๋น อมรินทร์ เพื่อนของขนุนสิรภพ และจิณห์วรา เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์สาธารณะ ที่ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งผู้รับและผู้ส่งจดหมาย และปากกาที่เปรียบเสมือนอาวุธที่สามารถส่งพลังถึงกัน
สำหรับวันที่สองของนิทรรศการในวันที่ 21 กรกฏาคม จะเป็นวงเม้ามอยแลกเปลี่ยนประสบการณ์คนในพูดคุยกับพอร์ท ไฟเย็น, แซม สาแมท และณัฐชนน ผู้เคยมีประสบการณ์ในเรือนจำที่มาเล่าประสบการณ์ส่วนตัวถึงความยากลำบากของชีวิตในเรือนจำและพลังของจดหมายที่เป็นเหมือนเชื้อเพลิงกำลังใจให้เขาสู้ต่อไป
ก่อนปิดท้ายกิจกรรมด้วยวงดนตรีจาก ThumbRights ที่นำบทเพลงที่น่าสนใจมาร้องในงาน เช่น เพลงด้วยรักและผูกพันธ์ ของเบิร์ด ธงไชย ซึ่งเป็นเพลงที่เก็ท โสภณ และคนในห้องพิจารณาคดีเคยร้องร่วมกันหลังสืบพยานคดี 112 ของเขานัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 กรกฏาคม 2567 ที่ศาลอาญา ซึ่งทางทีมงานได้นำมาขับร้อง ร่วมกับเพลงอื่นที่มีความหมายเกี่ยวกับความคิดถึงและความห่วงใยเป็นการจบนิทรรศการ The Letter: คนในส่งออก คนนอกส่งเข้า
เรื่องและภาพโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์