Skip to main content

วันที่ 5 เดือนห้า ณ สวนป่ายางที่บ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ความร้อนระอุในเดือนพฤษภาคมนั้นแผ่วลมอบอ้าวเกินทน แต่ผู้คนจำนวนมากก็มารวมตัวกันท่ามกลางเสียงเพลงเพื่อชีวิตที่ดังออกมาจากในป่าลึก เคล้าไปกับการอ่านกวีการเมืองที่แม้ชื่อเสียงเรียงนามของบทกวีจะมีความงดงามแต่ก็แฝงไว้ด้วยความคับแค้นต่อการกดขี่ของชนชั้นศักดินา ผู้เขียนกวีเหล่านั้นคือ จิตรภูมิศักดิ์ ผู้ซึ่งถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยมจากอำนาจมืดในยุคจอมพลถนอม กิตติขจร เพียงเพราะเห็นต่างทางการเมืองและถูกกล่าวหาว่ากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์

กว่าหลายสิบปีที่ผู้คนไม่รู้ว่าจิตรภูมิศักดิ์เสียชีวิตอยู่ที่ใดในป่าบ้านหนองกุง จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2531 ทางญาติและคณะนักศึกษาได้มาทำการขุดค้นหาโครงกระดูกเพื่อนำไปพิสูจน์ DNA จึงได้พบกระดูกของจิตร ภูมิศักดิ์ที่บริเวณโคนต้นแดงที่ป่าท้ายหมู่บ้าน โดยมีชาย พรหมวิชัยหรือ สหายสวรรค์ สหายผู้พิทักษ์จิตรจนวินาทีสุดท้ายชี้ตำแหน่งเสียชีวิตของ “สหายปรีชา” หรือจิตร ในความทรงจำของเขา เมื่อทราบผล DNA ว่าตรงกับจิตร ภูมิศักดิ์ ครอบครัวของจิตรจึงขอซื้อที่ดินบริเวณนั้นซึ่งเป็นที่ดินของชาวบ้านหนองกุงไว้

แรกเริ่มเดิมทียังไม่มีการจัดงานรำลึกในพื้นที่ดังกล่าวเฉกเช่นในภายหลัง ทางครอบครัวของจิตรและผู้ที่สนใจและให้ความนับถือในตัวของจิตรได้แต่เพียงขึ้นป้ายในบริเวณดังกล่าวว่าเป็นพื้นที่ที่จิตร ภูมิศักดิ์ เสียชีวิต หลังจากปี 2531 ครอบครัวของจิตรและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ลงมาทำกิจกรรมรำลึกถึงเหตุการณ์วันเสียชีวิตของจิตรที่วัดประสิทธิ์สังวร บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร คุณป้าภิรมย์ พี่สาวของจิตร บริจาคเงินสนับสนุนวัดในการสร้างรั้วและศาลา รวมไปถึงยังนำหนังสือผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์มาบริจาคให้กับทางวัดเพื่อให้คนในชุมชนได้ศึกษา 

ในปี 2534 ชาวบ้านหนองกุงบางกลุ่มเห็นความสำคัญว่าพื้นที่นี้เป็นที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ จึงได้เข้าไปปรึกษาเรื่องงบประมาณการสร้างอนุสรณ์สถานกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร การพูดคุยในประเด็นใช้เวลาหลายปีแต่ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เนื่องจากขณะนั้นทางมหาวิทยาลัยเห็นว่าบ้านหนองกุงไม่ใช่พื้นที่เปิดมากนักและความเข้าใจต่อคำว่า “คอมมิวนิสต์” ในความทรงจำของคนบางส่วนยังมีความหมายในแง่ลบ อาจจะสร้างความกังวลผู้คนได้

ในปี 2545 ทางองค์การบริหารส่วนตำบลคำบ่อซึ่งบ้านหนองกุงอยู่ในเขตพิ้นที่บริหารได้เขียนโครงการก่อสร้างอนุสรณ์สถานส่งให้ ปานชัย บวรรัตนปราณ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครในขณะนั้น ต่อมาช่วงปลายปี 2545 ทางจังหวัดอนุมัติงบประมาณเป็นเงินจำนวน  500,000 บาท ให้มาดำเนินการปรับภูมิทัศน์บริเวณที่ จิตร ภูมิศักดิ์ถูกยิงเสียชีวิต ในช่วงเดือนมกราคม 2546 อบต.คำบ่อจึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างขั้นแรกด้วยการกรุยทางถางป่า ติดตั้งระบบไฟฟ้า ก่อสร้างศาลาพักร้อน และห้องน้ำ

หลังเริ่มดำเนินการก่อสร้างอนุสรณ์สถานในบริเวณที่จิตรถูกยิงเสียชีวิต ครอบครัวของจิตรและผู้ที่สนใจศึกษาหรือให้ความเคารพในตัวของจิตรยังคงจัดงานรำลึก จิตร ภูมิศักดิ์อยู่ที่วัดประสิทธิสังวรณ์ ทางอบต.คำบ่อยังร่วมกับคณะอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครจัดงานเสวนา อ่านกวีและแสดงดนตรี โดยเป็นการจัดงานแบบเรียบง่ายในระยะเวลาหลังๆเริ่มมีผู้คนมาร่วมงานรำลึกจิตร ภูมิศักดิ์มากขึ้น ทองใบ ทองเปาด์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาและเคยเป็นนักโทษการเมืองก็เดินทางมาร่วมงานรำลึกถึงจิตรด้วย เมื่อคนภายนอกเริ่มเข้ามาจัดงานรำลึกในพื้นที่มากขึ้น คนในชุมชนบางส่วนก็เริ่มรู้สึกคุ้นเคยและเห็นคุณค่าของจิตรในฐานะนักคิด นักเขียน นักแต่งเพลง และนักต่อสู้วีระบุรุษท้องถิ่น

ในปี พ.ศ. 2554 มีการจัดระดมทุนได้มากพอที่จะจัดสร้างรูปปั้นของจิตร ภูมิศักดิ์โดยทุนส่วนใหญ่มาจาก จินตนา เนียมประดิษฐ์ อดีตเจ้าของสำนักพิมพ์เทวเวศน์ ที่เคยถูกจับเป็นนักโทษการเมืองรุ่นเดียวกับจิตร ภูมิศักดิ์ 

แรกเริ่มเดิมทีรูปปั้นของจิตรที่ยืนเด่นโดนท้าทายในชุดม่อฮ่อม เป็นเพียงรูปปั้นขนาดครึ่งตัวเท่านั้น แต่ในภายหลังครอบครัวและมิตรสหายเห็นว่ารูปปั้นดังกล่าวดูไม่สมศักดิ์ศรี มูลนิธิจิตร ภูมิศักที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2552 พยายามหานักปั้นเพื่อสร้างรูปปั้นแบบเต็มตัวอยู่หลายครั้ง แต่ยังก็ยังไม่มีใครสร้างรูปปั้นของจิตรได้ตรงกับภาพในความทรงจำของป้าจินตนา ท้ายที่สุดนักปั้นงานศิลปะที่มีชื่อเสียงอย่าง อ.สันติ พิเชฐชัยกุล ก็เป็นผู้ที่สร้างรูปปั้นของจิตร ภูมิศักด์จนเสร็จสมบูรณ์ ครั้งแรกทางศิลปินตั้งราคาผลงานไว้ที่ 800,000 บาท แต่เมื่อเขาใช้เวลาหนึ่งคืนในการอ่านประวัติและผลงานของจิตร เขาก็ไม่ขอรับค่าจ้างเพียงแต่ขอให้ทางมูลนิธิออกค่าใช้จ่ายวัสดุอุปกรณ์เท่านั้น 

ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นวันครบรอบวันเสียชีวิตของจิตร มีการทำพิธีวางศิลาฤกษ์การสร้างอนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งในปีเดียวกันนี้ก็ถือเป็นโอกาสครบรอบ 80 ปี ชาตกาลของจิตรด้วย การก่อสร้างอนุสรณ์สถานใช้เวลาสามปีจึงเสร็จสมบูรณ์และมีการทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 

หลังอนุสรณ์ของจิตรเสร็จสมบูรณ์ ในแทบทุกๆปี คนที่ศรัทธาในอุดมการณ์และผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์จะเดินทางมาร่วมกิจกรรมรำลึกที่อนุสรณ์สถานในวันครบรอบวันเสียชีวิต มูลนิธิจิตรภูมิศักดิ์(หรือในชื่อเดิมเรียกว่า กองทุนจิตรภูมิศักดิ์) จะร่วมกับอบต.คำบ่อและมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครเป็นเจ้าภาพจัดงาน โดยในงานรำลึกนอกจากจะมีการอ่านบทกวี การแสดงดนตรีกับการกล่าวถึงชีวิตและผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์แล้ว ทางมูลนิธิยังมอบทุนการศึกษาให้กับเยาวชนในอำเภอวาริชภูมิเป็นประจำทุกปีด้วย 

วาระสุดท้ายและความสัมพันธ์ของจิตรภูมิศักดิ์กับคนในพื้นที่

แม้ว่าจิตรภูมิศักดิ์จะมาเสียชีวิตที่บ้านหนองกุง แต่จริงๆแล้วจิตรภูมิศักดิ์และสหายสวรรค์ได้รับมอบหมายจากพรรคพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยให้ประจำการอยู่ที่เขตงาน 22 บริเวณบ้านตาดภูวง รอยต่อระหว่างอำเภอส่องดาวกับอำเภอวาริชภูมิซึ่งอยู่ห่างจากบ้านหนองกุงจุดที่จิตรเสียชีวิตออกไปประมาณ 20 กิโลเมตร

สหายสวรรค์ สหายใกล้ชิดของจิตรเล่าว่า ในคืนวันที่ 4 พฤษภาคม พศ 2509 ทางเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาโจมตีฐานที่มั่นที่จิตร ภูมิศักดิ์ประจำการอยู่ด้วยปืนใหญ่และกำลังพลเมื่อฐานที่มั่นแตก จิตร ภูมิศักดิ์และสหายสวรรค์จึงหลบหนีมาที่บ้าน คำบ่อ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านหนองกุงไม่มากนัก เหตุที่เลือกมาที่นี่เป็นเพราะในอดีตชาวบ้านคำบ่อ มักไปทำนาและปลูกยาสูบที่บริเวณตีนภูซากลากซึ่งอยู่ใกล้กับฐานที่มั่นเดิมของจิตร ภูมิศักด์ เมื่อถึงเวลาค่ำจิตรจึงมีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้านคำบ่อที่ไปทำนาในบริเวณดังกล่าวเพื่อถ่ายทอดอุดมการณ์และเล่าสถานการณ์ในสังคมที่มีการกดขี่จากรัฐส่วนกลางให้ชาวบ้านฟังอยู่เสมอ

คุณยาย รัศมี โพธิ์สาวัง หนึ่งในชาวบ้านคำบ่อที่เคยพูดคุยกับจิตรที่กำลังหลบหนีเล่าว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 เธอเข้าไปเก็บเห็ดกับชาวบ้านในป่าและเห็นกลุ่มทหารป่ากำลังประกอบอาหาร เมื่อเห็นเช่นนั้นก็ตกใจจนพากันวิ่งหนีแตกตื่น แต่ทหารป่าเหล่านั้นก็มาล้อมพวกเธอไว้ หนึ่งในนั้นเป็นชายตัวเล็กได้แนะว่าตัวว่าชื่อ สหายปรีชา พร้อมกับบอกว่าสหายทั้งหมดมาดีไม่ทำร้ายหรือมีพิษมีภัยต่อชาวบ้าน ไม่เป็นเหมือนที่ทางการประกาศว่าจะจับชาวบ้านไปไถนาแทนวัวแทนควาย ชายร่างเล็กคนดังกล่าวยังระบุวัตถุประสงค์ของการเดินทางด้วยว่า พวกเขามาที่บ้านคำบ่อเพื่อมาหาเพื่อนชื่อ สหายก้อน (ก้อน คำผอง) ซึ่งอยู่ที่หมู่บ้านนี้ แต่ปรากฎว่ายังไม่ทันได้พบกันจิตรกับคณะก็ต้องหนีไปบ้านหนองกุงที่อยู่ห่างออกไปประมาณสามกิโลเมตรเพราะถูกไล่ยิงจนต้องหนีไปที่บ้านหนองกุงเนื่องจากหนึ่งในชาวบ้านซึ่งเป็นคนเก็บเห็ดที่พบกับจิตรและสหายของเขาก่อนหน้านี้ไปบอกกับผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านกับพวกจึงติดตามพวกเขามา

คุณยายรัศมีเล่าด้วยว่า ท่าทางของจิตรหรือ สหายปรีชา มีความอ่อนน้อม มากหลังจากแนะนำตัวแล้วก็ไหว้ชาวบ้านผู้หญิงทุกคน ขอให้ชาวบ้านอย่าได้บอกทางการว่ามีทหารป่ากำลังหลบหนีมาที่นี่ แต่โชคไม่ดีนักที่ผู้หญิงคนหนึ่งในนั้นเป็นญาติกับผู้ใหญ่บ้านจึงส่งข่าวให้ทางการ ต่อมาเมื่อจิตร ภูมิศักดิ์เดินทางเข้ามาที่หมู่บ้านหนองกุงคนเดียวโดยให้สหายที่เหลือรออยู่ที่ชายป่าท้ายหมู่บ้านหนองกุงเพื่อที่เขาจะได้ขอข้าวชาวบ้านและทำการสืบสภาพบริเวณหมู่บ้าน ก็มีกลุ่มอาสามัครรักษาดินแดนและทหารตามมายิงจิตรภูมิศักดิ์จนเสียชีวิต

ตามคำบอกเล่าของสหายสวรรค์ (ชาย พรหมวิชัย) เบื้องต้นจิตร ภูมิศักด์ถูกยิงที่ขาอยู่ที่ท้ายหมู่บ้าน เขาพยายามประคองตัวมาที่โคนต้นสะเดาซึ่งอยู่ในบริเวนลานอนุสรณ์สถานในปัจจุบันโดยผู้ที่ยิงถูกจิตรเป็นคนแรกคือ สวัสดิ์ ชัยชมพู หนึ่งกลุ่มสมาชิกอาสาสมัครรักษาดินแดน ต่อมากำนัน คำพล อำพล ซึ่งเป็นหัวหน้าชุดตามมาถึงก็ได้ยิงซ้ำไปที่จิตร ภูมิศักดิ์อีกหลายนัด และกำนันคำพลนี้เองที่เป็นผู้ปลิดชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์

ในคืนวันที่ 5 พฤษภาคมหลังจิตรถูกยิงเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ได้เฝ้าศพของจิตรอยู่จนรุ่งสางจึงจะจากไป ชาวบ้านที่อยู่บริเวณนั้นทำพีธีศพให้จิตรอย่างเรียบง่ายโดยนิมนต์พระมาสวดพระอภิธรรม จากนั้นจึงหาท่อนไม้และฟืนมาทำพีธีเผาศพในเช้าวันที่ 6 พฤษภาคม 2509 บริเวณโคนต้นแดง ซึ่งยังคงตั้งตระหง่านอยู่ในบริเวณอนุสรณ์สถาน หลังก่อกองฟอนเผาศพของจิตร โครงกระดูกของจิตรที่คงเหลือจากการเผาก็ถูกทิ้งไว้ตรงจุดที่ทำพิธี ต่อมาเมื่อเจ้าของที่ดินมาพบเห็นจึงได้นำกระดูกที่เหลือทั้งหมดใส่ในกาบลางไม้ก่อนจะฝังดินไว้ในบริเวณโคนต้นแดงกระทั่งมีการขุดขึ้นมาประกอบพิธีในปี 2531 กระดูกของจิตรจึงถูกนำไปบรรจุไว้ในธาตุ (เจดีย์เก็บกระดูก) ที่วัดประสิทธิ์สังวร 

แม้จิตร ภูมิศักดิ์ จะเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2509 แล้ว แต่เขาก็ยังคงเป็นเหมือนปีศาจที่หลอกหลอนชนชั้นศักดินาและผู้มีอำนาจอยู่ร่ำไป ทั้งในผลงานของเขาที่ยังคงถูกอ่านอย่างแพร่หลายจนมีการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งและอุดมการณ์ของเขาก็ยังคงถูกสานต่อโดยคนรุ่นหลังที่ไม่ยอมทนกับความกดขี่และความอยุติธรรมในสังคม การรื้อฟื้นเรื่องราวของจิตร โดยนิสิตรุ่นหลังที่จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ที่เกิดขึ้นในปี 2563 และปีต่อๆมา น่าจะเป็นหลักฐานที่ยืนยันเรื่องการส่งต่ออุดมการณ์ของจิตรได้เป็นอย่างดี  

เรื่องโดย กชกร บัวล้ำล้ำ
ภาพโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์