Skip to main content

Korat Movement  คือ กลุ่มเคลื่อนไหวที่นักกิจกรรมในจังหวัดนครราชสีมาจัดตั้งขึ้นในเดือนตุลาคม 2563 เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและประเด็นการเมืองในระดับประเทศควบคู่ไปกับประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชนของคนภาคอีสาน 

จากการเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์สู่การก่อตัวของขบวน

ภูษณิศา สระพูลทรัพย์ หรือเปเปอร์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มKorat Movement รุ่นก่อตั้ง เล่าว่าช่วงเดือนตุลาคม 2563 มีกระแสการชุมนุมประท้วงของกลุ่มผู้ชุมนุมทั่วประเทศ ประชาชนและนักกิจกรรมในจังหวัดนครราชสีมาหรือโคราชเองก็มีความตื่นตัวต่อสถานการณ์และมีคนส่วนหนึ่งคิดอยากจะจัดตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง

เปเปอร์เล่าต่อว่าสมาชิกรุ่นก่อตั้งของ Korat Movement เป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย ทั้งนักเรียนมัธยม นักศึกษามหาวิทยาลัย กลุ่มคนวัยทำงาน ไปจนถึงกลุ่มคนเสื้อแดง สมาชิกหลายๆคนไม่เคยรู้จักกันเป็นการส่วนตัวมาก่อน แต่มารู้จักกันบนโลกออนไลน์ทั้งทางทวิตเตอร์และไลน์โอเพนแชท เมื่อมีผู้ริเริ่มตั้งกลุ่มพูดคุยเพื่อจัดการชุมนุมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ตัวของเปเปอร์เองก็เข้ามาร่วมกลุ่มเมื่อเห็นประกาศรับสมัครทีมงาน โดยขณะที่สมัครเข้ากลุ่มเปเปอร์เพิ่งอายุได้ 13 ปี เท่านั้น

หลังมีคนสมัครเข้าร่วมกลุ่มได้พอสมควรก็มีการพูดคุยกันในหมู่คนที่สมัครเข้ามาว่าจะใช้ชื่อกลุ่มว่าอะไร มีรุ่นพี่คนหนึ่งเสนอชื่อ ‘Korat Movement’ ซึ่งเปเปอร์มองว่าเป็นชื่อที่เก๋ดี และเท่าที่เธอทราบกลุ่มที่เคลื่อนไหวในช่วงปี 63 ไม่มีกลุ่มไหนที่ใช้ชื่อตามหลังว่า Movement มาก่อน ซึ่งสมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่ก็มีความเห็นตรงกันที่จะใช้ชื่อ Korat Movement ในการเคลื่อนไหว เปเปอร์ระบุด้วยว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทางกลุ่มเลือกใช้ชื่อ‘โคราช มูฟเมนท์’ เป็นเพราะต้องการจะสร้างความยึดโยงกับพื้นที่เพื่อดึงดูดความสนใจจากชาวโคราชคนอื่นๆให้มาเข้าร่วมกิจกรรม

กลุ่มKorat Movement จัดการชุมนุมครั้งแรกในวันที่ 18 ตุลาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา ข้อเรียกร้องหลักของการชุมนุมครั้งนั้นได้แก่การขับไล่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูสามนิ้ว ครั้งนั้นตัวของเปเปอร์ก็ได้ขึ้นเวทีปราศรัยด้วย โดยบรรยากาศการชุมนุมครั้งนั้นเป็นไปอย่างเหนือความคาดหมายเพราะมีประชาชนที่แวะเวียนเข้ามาร่วมชุมนุมกว่า 500 คนแม้จะอยู่ในสภาพอากาศฝนตก

บ้านและแกลลอรี Korat Movement

เปเปอร์ระบุว่าสมาชิกกลุ่มส่วนหนึ่งจะมาพักอาศัยและใช้เวลาร่วมกันที่ของบ้านที่ทางกลุ่มเช่าไว้เป็นประจำโดยเฉพาะช่วงทางกลุ่มจัดกิจกรรม ซึ่งนอกจากสมาชิกในกลุ่มแล้วก็ยังมีเพื่อนนักกิจกรรมกลุ่มอื่นแวะเวียนเข้ามาพูดคุยพักหรืออาศัยร่วมกันในบางโอกาส สำหรับเรื่องค่าเช่าและค่าใช้จ่ายอื่นๆเกี่ยวกับบ้านทางกลุ่มจะใช้วิธีหารเฉลี่ยกันในหมู่สมาชิกที่พักอยู่ร่วมกัน โดยจะมีการนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายของของทางกลุ่มมาสมทบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ด้วย 

นอกจากจะใช้บ้านเป็นที่พักสำหรับสมาชิกกลุ่มบางส่วนแล้วทางกลุ่ม Korat Movement ยังเปิดบ้านเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมสาธารณะในบางโอกาสด้วย 

ในปี 2564 ทางกลุ่มมีแนวคิดว่าอยากลองทำกิจกรรมรูปแบบใหม่ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของคนกลุ่มอื่นๆที่อาจจะยังไม่ได้ออกมาร่วมเคลื่อนไหว ก็มีสมาชิกเสนอว่าให้ลองเปิดบ้านของทางกลุ่มเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการดูจนนำไปสู่การนิทรรศการรูปภาพเหตุการณ์ 14 ตุลา 

ต่อมาในปี 2565 ทางกลุ่มเปิดบ้านเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการอีกครั้งในเดือนมิถุนายนเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 90 ปี การอภิวัฒน์สยาม ซึ่งนอกเหนือจากการจัดแสดงเนื้อหาวันอภิวัฒน์สยามแล้ว ยังมีการแสดงผลงานศิลปะและสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยในยุคหลังอีกด้วย เช่น กรอบรูปไม่มีคนบนฟ้า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลอง หุ่นใส่ชุดนักเรียนที่สื่อถึงการทวงถามสิทธิของนักเรียน ศาลพระภูมิจำลองที่เพ้นท์สีที่ทำขึ้นเพื่อเสียดสีกระบวนการยุติธรรม รวมถึงถังแดงที่อิงมาจากเหตุการณ์ ‘ถีบลงเขา เผาลงถังแดง’ ซึ่งเป็นวิธีการที่รัฐใช้ปราบปรามผู้เห็นต่างในช่วงปี 2514


ในส่วนของผลตอบรับ แม้ทางกลุ่มจะไม่ได้ตั้งความคาดหวังไว้สูงมากนัก แต่นิทรรศการครั้งที่สองก็มีจำนวนคนสนใจเข้ามาเยี่ยมชมมากขึ้นกว่าการจัดนิทรรศการแรกที่มีคนมาเข้าชมเพียงสองถึงสามคน และยังมีคนสนใจติดต่อมาขอมาร่วมแสดงผลงานด้วยซึ่งทางกลุ่มถือว่าการจัดนิทรรศการโดยเฉพาะในครั้งที่สองได้รับการตอบรับในระดับที่น่าพอใจ

‘โง่จนเจ็บ’ คือวาทกรรมที่ใช้ซ่อนความไม่เป็นธรรมจากการรวมศูนย์อำนาจ  

เปเปอร์เล่าว่าหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของกลุ่ม Korat Movement คือ การเคลื่อนไหวเรื่องการกระจายอำนาจ เพื่อผลักดันให้ภาคอีสานสามารถบริหารจัดการทรัพยากร และพื้นที่ในเขตจังหวัดของตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับรัฐส่วนกลาง การเคลื่อนไหวเรียกร้องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทางกลุ่มให้ความสำคัญ

เปเปอร์ระบุว่าคนอีสานมักถูกตีตราโดยรัฐส่วนกลางว่าเป็นพวกโง่จนเจ็บซึ่งแม้จะมีความยากจนจะเป็นหนึ่งในปัญหาของภาคอีสาน แต่ในมุมมองของเปเปอร์รากเหง้าของปัญหาความยากจนในภาคอีสานไม่ได้เกิดจากคนอีสานขี้เกียจหรือถูกนักการเมืองหลอกแต่จริงๆแล้วต้นเหตุของความยากจนมาจากความเหลื่อมล้ำในโครงสร้างอำนาจและที่ทรัพยากรและการบริหารจัดการนโยบายของรัฐถูกรวบอยู่ส่วนกลางโดยที่คนในพื้นที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ เปเปอร์ระบุด้วยว่าเอาเข้าจริงแล้วภาคอีสานไม่ได้เป็นภูมิภาคที่แห้งแล้งหรือขาดแคลนทรัพยากรแต่เป็นภูมิภาคที่อุดมสมบูรณ์มีแม่น้ำทั้งแม่น้ำโขง แม่น้ำชี และแม่น้ำมูลแต่ที่ประชาชนยังอยู่อย่างแร้งแค้นสาเหตุหลักมาจากการบริหารจัดการที่รวมศูนย์และไม่เห็นหัวคนในพื้นที่

เปเปอร์ขยายความด้วยว่าประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำมูลมีวิถีชีวิตเป็นของตนเอง อย่างช่วงฤดูน้ำหลากบริเวณพื้นที่ป่าจะมีน้ำท่วมขัง ซึ่งคนทั่วไปอาจมองว่าภาคอีสานกำลังเผชิญกับภัยน้ำท่วม แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ระดับน้ำก็จะลดลงชาวบ้านก็สามารถมาทำการเกษตรบริเวณพื้นที่ดังกล่าวได้ตามปกติ เรียกว่า ‘ระบบนิเวศทาม’ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของภาคอีสาน 

สำหรับเปเปอร์ วาทกรรม ‘โง่ จน เจ็บ’ จึงเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองที่รัฐมักจะนำมาใช้กดทับคนอีสานเท่านั้น 

กิจกรรมครั้งสำคัญ

ในวันที่ 23 กรกฏาคม 2564  Korat Movement เป็นเจ้าภาพจัดการชุมนุมในรูปแบบคาร์ม็อบขึ้นเป็นครั้งแรกในจังหวัดนครราชสีมา โดยนัดหมายรวมตัวกันที่ร้านตะวันแดงมหาซน จังหวัดนครราชสีมา ในเวลา 16.00 น. ก่อนจะเริ่มเคลื่อนขบวนในเวลา 17.00 น. และร่วมกันบีบแตรขับไล่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ศาลากลางจังหวัด อาร์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มระบุว่าคาร์ม็อบครั้งนั้นทำให้ทางกลุ่มกลายเป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่มากขึ้น

ต่อมาในวันที่ 21 สิงหาคม 2564 กลุ่มจัดการชุมนุมในรูปแบบคาร์ม็อบอีกครั้งในชื่อ ‘โคราษฎร์ปฏิวัติ’ ซึ่งนับเป็นคาร์ม็อบครั้งที่สามที่จัดขึ้นที่โคราช ประเด็นหลักในการเคลื่อนไหววันนั้นคือการเรียกร้องให้พล.อประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

อีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่ Korat Movement ได้เคยร่วมจัดคือกิจกรรมลงมติประชาชนไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นพร้อมกันหลายพื้นที่ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 อาร์ระบุว่ากิจกรรมนี้เริ่มต้นมาจากการเสนอของเครือข่ายนักกิจกรรมในกรุงเทพที่เชิญชวนให้กลุ่มนักกิจกรรมที่อยู่ในจังหวัดต่างๆมาทำร่วมกัน ซึ่งทาง Korat Movement ก็ได้ไปตั้งจุดรับลงคะแนนจากประชาชนในพื้นที่ก่อนจะนำมาสมทบกับบัตรลงคะแนนมากกว่า 10,000 ใบ ที่มีการรวบรวมจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศมานับที่หน้ารัฐสภา เกียกกาย ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2565
 
Korat Movement กับการคุกคามถูกโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

อาร์เล่าว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐมักจะเข้ามาคุกคามนักกิจกรรมของกลุ่มในช่วงที่พระเจ้าอยู่หัวหรือพระบรมวงศานุวงษ์มีกำหนดเสด็จมาประกอบพระราชกรณียกิจในพื้นที่ เช่น ช่วงเย็นวันที่ 4 มีนาคม 2565 ก่อนวันที่กรมสมเด็จพระเทพฯจะเสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ก็มีเจ้าหน้าที่ขับรถมาวนในบริเวณซอยบ้านรวมถึงมีการส่งเจ้าหน้าที่มาประจำการใกล้บริเวณบ้านด้วยซึ่งอาร์คาดว่าเจ้าหน้าที่คงกลัวว่าทางกลุ่มจะจัดกิจกรรมในช่วงที่มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตร หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเล่าด้วยว่าถูกตำรวจที่ดักรออยู่หน้าปากซอยพยายามจะกระชากตัวให้ลงจากรถจักรยานยนต์เพื่อให้มาพูดคุย แต่เนื่องจากเจ้าตัวรู้สึกหวาดกลัวจึงขับรถหนีและปฏิเสธที่จะสนทนากับตำรวจนายดังกล่าว 

หลังจากที่ทราบเรื่อง ทางกลุ่มจึงออกไปดูตำรวจที่บริเวณหน้าปากซอยเพื่อจะไปสอบถามข้อมูลเรื่องการมาสอดส่องพวกเขาระหว่างนั้นตำรวจได้ถ่ายรูปสมาชิกกลุ่ม ทางกลุ่มจึงถ่ายรูปตำรวจนายนั้นกลับไปด้วยเช่นกัน ในบางครั้งทางกลุ่มก็มีการพูดจาเชิงหยอกล้อกับตำรวจที่มาเฝ้าอีกด้วย 

ทั้งนี้ช่วงปี 2564 เคยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามมาแทรกซึมเข้ามาเพื่อล้วงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิกกลุ่ม รวมถึงข้อมูลสถานที่ และช่วงเวลาในการจัดกิจกรรม ไปจนถึงขั้นมีความพยายามทำให้กลุ่มแตกด้วยการซื้อตัวสมาชิกกลุ่มบางคนเพื่อให้เป็นสายสืบขายข้อมูลให้ 

ในเวลาต่อมาทางกลุ่มได้ตัดช่องทางการติดต่อกับตำรวจคนนั้น อาร์ระบุด้วยว่า อย่างไรก็ตาม สมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นอย่างมากจึงส่งผลทำให้กลุ่มโคราชมูฟเม้นท์ยังคงดำรงอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์ 
ขอขอบคุณภาพจากเพจ Korat Movement