Skip to main content

กลุ่มประชาชนเบียร์ คือกลุ่มนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมที่มุ่งเรียกร้องและผลักดันการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถผลิตเบียร์และสุราได้อย่างเสรี รวมถึงสนับสนุน ส่งเสริมผลผลิตของผู้ผลิตแอลกอฮอล์รายย่อยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง

จากนักดื่มสู่นักเคลื่อนไหว 

ธนากร ท้วมเสงี่ยมหรือเบนซ์ ผู้ก่อตั้งเพจและกลุ่มประชาชนเบียร์ระบุว่า ในฐานะคนชอบดื่มเบียร์เขารู้สึกว่าเบียร์กระแสหลักที่วางขายตามท้องตลาดในประเทศไทยมีรสชาติไม่อร่อย จนต้องหยุดดื่มไปในช่วงหนึ่ง กระทั่งได้ลองดื่มคราฟต์เบียร์ (เบียร์ที่ผลิตโดยผู้ผลิตรายเล็ก) ก็รู้สึกประทับใจในรสชาติ จึงเริ่มศึกษาและลองผลิตคราฟต์เบียร์เองที่บ้าน หลังจากนั้นเขาเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการคราฟต์เบียร์มากขึ้นทั้งในหมู่คนดื่ม คนผลิต คนขายและร้านคราฟต์เบียร์ทั้งในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด จากการชิม แชร์เทคนิค สูตร หรือจากการซื้อขายอุปกรณ์ในการผลิตต่างๆ 

หลังรู้จักคนมากขึ้นเบนซ์จึงตัดสินใจก่อตั้งกลุ่มประชาชนเบียร์ขึ้น อย่างเป็นทางการในวันที่ 8 ธันวาคม 2562 เพื่อรวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาร่วมผลักดันการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ในขณะนั้น (ปี 2565) เอื้อต่อผู้ผลิตรายใหญ่แต่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายย่อย หลังเคลื่อนไหวในประเด็น “ประชาธิปไตยในการผลิตเบียร์” แล้ว ทางเครือข่ายประชาชนเบียร์ก็ขยับไปร่วมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยด้วยเพราะเห็นว่าการแก้กฎหมายผูกขาดเหล้าเบียร์จะไม่มีทางประสบความสำเร็จภายใต้ระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง  จนถึงเดือนกรกฎาคม 2565 กลุ่มประชาชนเบียร์มีสมาชิกอยู่ทั้งหมดประมาณ 100 คนทั่วประเทศ ผู้ที่สนใจเข้าเป็นสมาชิกของทางกลุ่มสามารถอินบ็อกซ์เพจประชาชนเบียร์เพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนแนวคิด หากมีแนวคิดและอุดมการณ์ที่ตรงกันก็สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกและทำกิจกรรมร่วมกันได้โดยทันที

สำหรับกิจกรรมหลักของกลุ่มประชาชนเบียร์ เบนซ์ ระบุว่าในขณะที่ให้สัมภาษณ์ (กรกฎาคม 2565) ทางกลุ่มยังอยู่ในช่วงตั้งไข่การเคลื่อนไหวหลักจึงเป็นงานขยายแนวร่วมและส่งเสริมการทำงานของผู้ผลิตรายย่อย เช่น เปิดสอนทำคราฟต์เบียร์ จัดกิจกรรมตามร้านต่าง ๆ รีวิวร้านคราฟต์เบียร์ รีวิวเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ สุรา หรือไวน์ที่ผลิตกันตามหมู่บ้านเล็ก ๆ เพื่อให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถทำการตลาดได้ชัดเจนภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ทางกลุ่มเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาโดยตลอด

การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของกลุ่มประชาชนเบียร์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ในการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอกที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ทางกลุ่มนำขวดคราฟต์เบียร์มาวางเรียงกันเป็นแถวยาว เพื่อสนับสนุนการเปิดเสรีสำหรับการผลิตคราฟต์เบียร์ภายในประเทศ ครั้งนั้นนับเป็นครั้งแรกที่ทางกลุ่มเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและเป็นครั้งแรกที่การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเสรีภาพในการผลิตเบียร์ปรากฎอยู่ในพื้นที่ชุมนุมทางการเมือง 

ในปีเดียวกันทางกลุ่มประชาชนเบียร์ยังได้จัดกิจกรรมที่จังหวัดนนทบุรีซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของคราฟต์เบียร์ ไทย ภายใต้งาน “ประชาชนเบียร์” ซึ่งเป็นอีเวนท์คราฟต์เบียร์เปิดตัวกลุ่มประชาชนเบียร์อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก มีผู้ผลิตและร้าน คราฟต์เบียร์จากทั่วประเทศประมาณ 50 เจ้ามาร่วมงานและมีผู้สนใจมาร่วมงานประมาณ 500 คน นอกจากการออกร้านแล้วในงานยังมีเวทีเสวนาเรื่องการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยมีเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงคราฟต์เบียร์และเคยถูกจับเพราะต้มเบียร์ที่บ้านมาร่วมพูดคุยด้วย ล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2565 ทางกลุ่มจัดการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา นำคราฟต์เบียร์หรือสุราพื้นบ้านไปให้ผู้มาร่วมงานได้ลองชิมเพื่อสนับสนุนกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการวาระแรกของร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.สรรพสามิตหรือ "ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า" ด้วย

สำหรับกลุ่มประชาชนเบียร์เข้าไปมีส่วนร่วมกับการจัดทำร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้าด้วย ในขั้นตอนการระดมความคิดเห็นก่อนจัดทำร่าง ทางกลุ่มได้เข้าไปร่วมเสนอความเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มอื่นๆก่อนที่ความเห็นทั้งหมดจะถูกนำไปประมวลและจัดทำเป็นร่างกฎหมายเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยส.ส.พรรคก้าวไกล โดยเบนซ์มองว่าแม้ร่างพรบ.สุราก้าวหน้าฉบับนี้จะไม่ได้ดีที่สุด แต่ก็เป็นเสมือนชนวนที่จุดประกายความเปลี่ยนแปลงและหากตัวกฎหมายถูกประกาศใช้จริงก็สามารถแก้ไขได้ด้วยกระบวนการทางสภาหากพบว่ามีข้อบกพร่อง 

อุปสรรคของการขับเคลื่อน

เบนซ์ระบุว่าแม้การรับหลักการวาระแรกของร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้าดูจะเป็นสัญญาณบวกต่อการเคลื่อนไหวของทางกลุ่มแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการขับเคลื่อนของทางกลุ่มจะเป็นไปได้อย่างราบรื่นเสียทีเดียวเพราะในสังคมไทยก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่มองการดื่มแอลกอฮอล์ว่าเป็นปัญหาและรวมถึงอาจเคลื่อนไหวต่อต้านด้วย โดยกลุ่มที่ต่อต้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักนำประเด็นด้านสุขภาพ และผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นต่อคนในครอบครัว คนรอบข้าง สังคม โดยเฉพาะกรณีคนที่ใช้ความรุนแรงโดยมีสาเหตุจากความมึนเมาหรืออุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ  

เบนซ์ยอมรับว่าปัญหาที่กลุ่มต่อต้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยกมาอ้างเป็นเรื่องที่มีอยู่จริง แต่ส่วนตัวเขาเห็นว่าไม่สามารถเหมารวมผู้ดื่มแอลกอฮอล์ทุกคนว่าเป็นผู้ที่ดื่มแล้วมีปัญหาได้ เพราะผู้ดื่มที่ดื่มอย่างมีคุณภาพและไม่สร้างปัญหาก็มี และเบนซ์เชื่อว่าการขับเคลื่อนของกลุ่มจะสามารถสร้างอธิบายกับสังคมด้วยเหตุด้วยผลได้เพราะกลุ่มประชาชนเบียร์ก็ไม่ได้รวมตัวกันเพื่อสนับสนุนให้คนดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นกว่าปกติ แต่มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการดื่มที่เหมาะสมกับตัวเองให้มากขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ค้ารายย่อยซึ่งจะนำไปสู่การกระจายรายได้ในชุมชน

เบนซ์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แม้การตอบโต้ด้วยเหตุผลกับฝ่ายที่ต่อต้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงลำพังดูจะไม่ได้เป็นปัญหามากนักเพราะต่างฝ่ายต่างสามารถใช้เหตุผลมาถกเถียงและหาทางออกในการอยู่ร่วมกันได้ แต่การรณรงค์ของฝ่ายต่อต้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางกลุ่มอาจได้เปรียบกลุ่มประชาชนเบียร์เพราะได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเข้าถึงช่องทางการสื่อสารได้มากกว่าจากสื่อที่เป็นเครือข่ายของสสส. ขณะที่งบประมาณและช่องทางการสื่อสารของกลุ่มประชาชนเบียร์ก็ยังมีข้อจำกัด 

ก้าวต่อไป ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ก้าวต่อไปประชาชนเบียร์

สำหรับความคืบหน้าและทิศทางในอนาคตของร่างพรบ.สุราก้าวหน้าที่ผ่านวาระแรกมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 เบนซ์ระบุว่า ครั้งแรกที่ร่างกฎหมายถูกนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ทั้งเขาและเพื่อนๆในกลุ่มต่างคิดว่าร่างน่าจะถูกปัดตก แต่การที่ร่างพรบ.ฉบับนี้ผ่านวาระแรกไปได้แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีแนวคิดที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็รู้ว่าประชาชนต้องการอะไร จึงถือว่าสิ่งที่ทางกลุ่มพยายามทำมาตลอดคือรณรงค์ให้คนในสังคมเข้าใจว่ากฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่บังคับใช้อยู่เป็นอย่างไร ไม่เป็นธรรมอย่างไร เอื้อประโยชน์ต่อใคร และทำให้ประชาชนเสียประโยชน์อย่างไรบ้าง ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเบนซ์ ระบุด้วยว่าสิ่งที่เขาประทับใจเกี่ยวกับลงมติรับร่างพรบ.สุราก้าวหน้าในวาระแรกคงหนีไม่พ้นกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคพลังประชารัฐโหวตสวนมติของพรรค เพื่อรับหลักการร่างกฎหมายซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คนเริ่มเข้าใจถึงปัญหาที่มีอยู่มากขึ้น

สำหรับทิศทางของการพิจารณาร่างกฎหมายในอนาคต เบนซ์ระบุว่าแม้ในอนาคตร่างพ  รบ.สุราก้าวหน้าฉบับนี้อาจจะถูกปัดตกไปในการพิจารณาวาระสองหรือวาระสาม แต่ประชาชนหรือกลุ่มคนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ยังสามารถยื่นเสนอพรบ.เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่ได้ เพราะที่ผ่านมาก็เห็นกันอยู่แล้วว่าการริเริ่มเสนอกฎหมายโดยประชาชนเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากนัก 

ในส่วนของทิศทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนเบียร์ในอนาคต เบนซ์ระบุว่าคงต้องย้อนมองกลับที่จุดเริ่มต้นในปี 2563 ที่คนรอบตัวเขามองว่าไม่จำเป็นต้องออกมาเรียกร้องในประเด็นเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะเป็นเรื่องไร้สาระ มอมเมา มาจนถึงปี 2565 จากคนที่ไม่เห็นด้วยสิบคนลดลงเหลือห้าคน และจากสมาชิกเริ่มต้นของกลุ่มที่มีแค่สามถึงสี่คนกลายเป็นว่ามีคนเห็นด้วยและพร้อมจะสนับสนุนแนวคิดของกลุ่มอีกเป็นแสนคน เบนซ์จึงมองว่ากลุ่มประชาชนเบียร์ยังสามารถไปได้อีกไกล และหากพิจารณาจากจำนวนผู้ดื่มแอลกอฮออล์ที่มีอยู่ประมาณ 16 ล้านคน ทั่วประเทศ ขอแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มนี้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มประชาชนเบียร์ก็น่าจะทำอะไรได้อีกมากโดยเฉพาะการรณรงค์เรื่องกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และในระยะยาวทางกลุ่มอาจมองไปถึงการจัดตั้งองค์กรไม่แสวงกำไรขึ้นมาเพื่อทำงานอย่างจริงจังต่อไป 

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมากลุ่มประชาชนเบียร์ยังได้รับรางวัล “คนเคลื่อนไทย” จากกลุ่มแคร์ ในฐานะ “คนเคลื่อนเศรษฐกิจภาคประชาชน” ซึ่งเบนซ์ระบุว่า การได้รับรางวัลนี้ถือเป็นเรื่องตื่นเต้นและน่าภูมิใจ จากคนตัวเล็กๆ จากกลุ่มเล็กๆที่มีสมาชิกรุ่นก่อตั้งอยู่ไม่กี่คน การเคลื่อนไหวอย่างจริงจังของทางกลุ่มทำให้ทางกลุ่มได้รับการยอมรับจนทำได้ได้รับรางวัล ซึ่งแม้จะเป็นรางวัลเล็กๆแต่ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าทางกลุ่มยังไปได้อีกไกล อย่างที่เบนซ์เคยกล่าวในการรับรางวัล ตอนหนึ่งว่า

“...การขับเคลื่อนของเรา เป็นการแสดงออกให้เห็นว่าจริงๆแล้วการรวมตัวกันของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ ผมเชื่อว่าถ้าวันหนึ่งเมื่อประชาชนรวมตัวกันได้อย่างแข็งแรงมากพอ เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในประเทศนี้ได้...” 

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ปรเมษฐ์ ชูเสียงแจ้ว

ภาพกิจกรรมจากเพจเฟซบุ๊ก ประชาชนเบียร์