จตุพร หรือ ‘นิว’ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม บุรีรัมย์ปลดแอก เล่าถึงการก่อตั้งกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอกว่า กลุ่มเกิดจากการรวมตัวกันของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนบุรีรัมย์ทั่วไปผ่านทางโลกออนไลน์ โดยเริ่มแรกมีผู้โพสต์ในกลุ่มเฟซบุ๊กที่แชร์ข่าวสารในจังหวัดบุรีรัมย์ว่า “เมื่อไหร่จังหวัดบุรีรัมย์จะมีคนจัดม็อบบ้าง ?” โพสต์ดังกล่าวได้จุดประกายการจัดแฟลชม้อบให้จตุพร เธอเริ่มเข้าดูคอมเมนต์ของแต่ละคนที่มาโพสต์เรื่องการจัดม็อบและทักไปพูดคุยส่วนตัว จากนั้นจึงสร้างกลุ่มขึ้นมาและให้คนในกลุ่มชักชวนกันเข้ามาพูดคุย
อย่างไรก็ตามคนที่อยากจัดม้อบบางส่วนยังไม่สามารถก้าวข้ามความกลัวต่ออิทธิพลนักการเมืองท้องถิ่นได้จึงค่อยๆถอนตัวจากบทสนทนาไป จนกระทั่งในตอนจัดตั้งกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอกมีสมาชิกเหลือเพียง 6 คนเท่านั้น
ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2563 จตุพรและเพื่อนที่พบกันบนโลกออนไลน์ร่วมกันจัดกิจกรรมชูป้ายแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ถนนคนเดินเซราะกราว หน้าสำนักงานเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ แต่ระหว่างกิจกรรมก็มีปัญหาอุปสรรคเพราะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคุกคามกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่จัดกิจกรรม จนมีคลิปที่เป็นกระแสไวรัลแพร่กระจายออกไปอยู่สักพักหนึ่ง “กลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก” ถูกจัดตั้งขึ้นหลังกิจกรรมดังกล่าวและมีการใช้เฟซบุ๊กเพจ “บุรีรัมย์ปลดแอก” เป็นช่องทางสื่อสารหลักของทางกลุ่ม
ในปี 2563 กลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอกจัดการชุมนุมภายในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์จำนวนทั้งหมด 3 ครั้ง โดยครั้งแรกวันที่ 8 สิงหาคม 2563 ที่สี่แยกสะพานยาว อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ มีสมาชิกกลุ่มช่วยกันจัดการชุมนุม 6 คน มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมประมาณ 300 คน
กลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอกจัดการชุมนุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 ตุลาคม 2563 เพื่อตอบโต้การสลายชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 และการสลายการชุมนุม 16 ตุลาคม 2563 ที่กรุงเทพ การชุมนุมที่บุรีรัมย์ในวันที่ 19 ตุลาคม จัดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมประมาณ 1,500 คน การชุมนุมครั้งนี้ทางกลุ่มได้กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์เข้ามาช่วย และต่อมานักศึกษาบางส่วนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกบุรีรัมย์ปลดแอกทำให้กลุ่มมีสมาชิกเพิ่มขึ้น
จตุพรกล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวเธอเป็นหนึ่งในทีมการ์ด WeVolunteer ซึ่งเป็นการ์ดอาสาสมัครให้กับการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม หลังจากการสลายการชุมนุมในครั้งนั้น เธอจึงตัดสินใจที่จะกลับมายังบุรีรัมย์ในวันที่ 16 ตุลาคมเพื่อจัดการชุมนุมที่จังหวัดบ้านเกิด
โดยในการชุมนุมวันที่ 19 ตุลาคม ระหว่างที่เธอกำลังปราศรัยประฌามกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชนระหว่างการสลายการชุมนุม เธอได้ยินว่ามีคนกลุ่มหนึ่งสั่งให้อุ้มเธอลงจากเวที ทำให้เธอรู้สึกไม่ปลอดภัย หลังจากจบการชุมนุมในวันนั้น เธอตัดสินใจย้ายที่อยู่และไม่กลับบ้านอีก เนื่องจากเธอรู้สึกว่าถูกคุกคามและได้รับทราบว่าเจ้าหน้าที่แวะเวียนไปถามที่เธอที่บ้าน
ส่วนการชุมนุมครั้งที่ 3 ทางกลุ่มตั้งใจจะจัดขึ้นในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 ที่สี่แยกสะพานยาว อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ขัดขวางเสียก่อนทำให้ไม่สามารถจัดขึ้นได้
สำหรับผลตอบรับของการจัดการชุมนุมในแต่ละครั้งนั้น จตุพรกล่าวว่า เนื่องจากมีประชาชนบางส่วนเห็นด้วยกับการขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันโอชา แต่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันฯ จึงทำให้ผลตอบรับไม่ค่อยดีเท่าที่ควร อีกทั้งยังมีการกดดันจากนักการเมืองท้องถิ่น ประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดจึงไม่ตื่นตัวทางการเมืองอย่่างที่ควรจะเป็นและไม่สามารถก้าวข้ามความกลัวอิทธิพลของนักการเมืองท้องถิ่นไปได้
สำหรับเสื้อยืดสกรีน “112 ยังเป็นอยู่ไหม” ของทางกลุ่ม จตุพรกล่าวว่า เธอได้แนวคิดนี้หลังจากที่เธอตกเป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาตรา 112 โดยเธอรู้สึกว่าหากประชาชนรักและศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้จะไม่มีมาตรา 112 สถาบันก็ยังคงตั้งมั่นอยู่ได้ เธอจึงทำเสื้อสกรีนข้อความ “112 ยังจำเป็นอยู่ไหม” ออกจำหน่ายเพื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับความจำเป็นของมาตรา 112 และหาเงินทำกิจกรรมเข้ากลุ่ม
จตุพรระบุด้วยว่า กลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอกมีความคิดที่จะเปิดตัวเสื้อยืดอีกลายหนึ่งออกมาแต่ยังไม่ขอเปิดเผยในตอนนี้
เนื่องจากทางกลุ่มฯ ไม่มีท่อน้ำเลี้ยงสนับสนุนจึงต้องทำของที่ระลึกออกมาวางจำหน่ายอยู่ตลอดเพื่อระดมทุนในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งหลังจากที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ จัดชุมนุมและปักหมุดคณะราษฎร ณ ท้องสนามหลวง ในวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมานั้น ทางกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอกก็ได้จัดทำของที่ระลึก เช่น เสื้อ กระเป๋า พวงกุญแจหมุดคณะราษฎรออกมาวางจำหน่าย ทว่าถูกยึดไปเมื่อครั้งสลายการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2563
สำหรับทิศทางการเคลื่อนไหวในอนาคตจตุพรระบุว่าตอนนี้ยังไม่มีแผนที่แน่ชัด แต่จะยังไม่จัดการชุมนุมเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับมวลชนอีกฝ่ายหนึ่ง พร้อมระบุว่าในภาพรวมของพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ก็ต้องถือว่ายังมีบรรยากาศของความกลัวอยู่มาก
เรื่องโดย รดารัตน์ ศุภศรี
ภาพกิจกรรมที่จังหวัดบุรีรัมย์มาจากเพจ บุรีรัมย์ปลดแอก