Skip to main content

สก๊อยปฏิวัติ คือกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองที่ใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือ มีสมาชิกกลุ่มเป็นวัยรุ่นหญิงสองคนได้แก่  แก้วและอังกอร์ ทั้งสองได้นำบทเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองโดยเฉพาะฝ่ายซ้ายและบทเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองอื่นๆ มาขับร้องใหม่และเผยแพร่ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อนำเสนอแนวคิดประชาธิปไตยและความเท่าเทียมโดยเลือกใช้วิธีการสื่อสารผ่านงานศิลปะ แก้วและอังกอร์เริ่มรวมตัวเล่นดนตรีในนาม “สก๊อยปฏิวัติ” อย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อช่วงกรกฏาคม 2563 

จุดเริ่มต้นของ “สก๊อยปฏิวัติ”

กชกร บัวล้ำล้ำ หรือแก้วนักศึกษาคณะครุศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด หนึ่งในสมาชิกวง  ซึ่งขณะให้ข้อมูล (กรกฎาคม 2565) เป็นครูฝึกสอนเด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนบ้านนาคูพัฒนา โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธ์ุระบุว่าหลังจากที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ได้เกิดกระแสประชาชนที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่หรือไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคออกมาประท้วงกันหลายกลุ่ม  โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ตัวเธอเองซึ่งขณะนั้นมีอายุราว 19 ปี ก็ถือเป็นหนึ่งในประชาชนกลุ่มดังกล่าวที่ต้องการแสดงจุดยืนของตัวเองจึงได้ก่อตั้งกลุ่มสก๊อยปฏิวัติขึ้นมาเล่นดนตรีโดยเหตุที่ทั้งสองเลือกแสดงออกด้วยการเล่นดนตรีเป็นเพราะเธอและอังกอร์คิดว่าการที่ผู้หญิงวัยรุ่นสองคนออกมาเล่นดนตรีด้วยเพลงการเมืองน่าจะเป็นสิ่งแปลกใหม่และดึงดูดความสนใจจากผู้คนได้และดนตรีแม้จะเป็นซอล์ฟพาวเวอร์แต่ก็มีความสำคัญและสามารถหนุนเสริมขุมพลังอื่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้

แก้ว เล่าว่าโดยส่วนตัว เธอเป็นคนที่ชอบฟังเพลงเก่าๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมือง หรือเพลงเพื่อมวลชน เช่น เพลงที่เขียนโดยวิสาคัญทัพ เพลงของจิต ภูมิศักดิ์ รวมถึงเพลงสมัยกลุ่มคนเสื้อแดง เพราะมีเนื้อหาที่ให้ความรู้สึกถึงความเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความต้องการจะพัฒนาสังคม นอกจากนั้นตัวเธอเองก็เป็นคนที่ชอบศึกษาประวัติศาสตร์ ทั้งบ้านเกิดของเธอก็อยู่ในจังหวัดสกลนครซึ่งเป็นจังหวัดที่มีบุคคลสำคัญทางการเมืองอย่างจิต ภูมิศักดิ์(เสียชีวิตขณะเข้าร่วมการปฏิวัติกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่นั่น)และ ครูครอง จันดาวงศ์ จึงทำให้เธอเกิดความรู้สึกประทับใจเพลงที่มีเนื้อหาทางการเมืองเป็นพิเศษ แต่เพลงเหล่านั้นก็เป็นเพลงเก่าและไม่ค่อยเป็นที่นิยม เธอจึงตั้งใจนำมาโคฟเวอร์ (cover) ใหม่ในสไตล์ฟอล์คซอง (Folksong) ร่วมกับอังกอร์ เพื่อนสนิทที่เรียนในคณะเดียวกัน เพื่อทำให้เพลงแนวการเมืองเป็นเพลงที่ฟังง่ายมากขึ้น

แก้ว ระบุว่าที่มาของชื่อ “สก๊อยปฎิวัติ” เกิดจากกระแสเหยียดสก๊อย หรือกลุ่มวัยรุ่นสาวที่มีพฤติกรรมซ้อนท้ายมอเตอร์ไซต์ผู้บ่าว (ผู้ชาย) กลุ่มเด็กแว๊น รวมถึงมีรูปแบบพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม เช่น แต่งหน้าขาวคอดำ ทาปากสีแดง เต้นท่าเต้นยั่วยวน โบกธงชาติอเมริกา ซึ่งเธอเล่าว่ากลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า“สก๊อย”ส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นสาวที่อยู่ตามชนบท มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำและมักจะถูกนิยามว่าเป็นสก๊อยโดยคนกลุ่มอื่นภายนอก 

คำว่าสก๊อยจึงเป็นคำที่มีความหมายในเชิงลบ เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงการกดทับวัยรุ่นผู้หญิงในชนบทที่ไม่ได้มีรสนิยมดีงาม หรือเป็นที่ยอมรับตามแบบค่านิยมที่สังคมเมืองกำหนด อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของ ‘การมองคนไม่เท่ากัน’ อันมีสาเหตุต้นตอมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายทรัพยากรในสังคมไทยที่ทำให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตแตกต่างกัน แก้วจึงตั้งชื่อวงว่า สก๊อยปฏิวัติ ด้วยเจตนาจะลบล้างภาพมุมมองในเชิงลบของสก๊อยให้ดีขึ้น โดยการเติมคำว่า ‘ปฏิวัติ’ ที่มีความหมายทรงพลังมาต่อท้าย เพื่อกระตุ้นให้สังคมได้เกิดการตั้งคำถามถึงการตีตรากลุ่มคนที่ถูกนิยามว่าเป็นสก๊อย และเพื่อจะสื่อว่ากลุ่มสก๊อยก็สามารถลุกขึ้นมาสร้างการปฏิวัติให้เกิดขึ้นในสังคมได้เช่นกัน

ตำแหน่งแห่งที่ของสก๊อยปฎิวัติ กับการเคลื่อนไหวในภาคอีสาน

แก้ว เล่าต่อไปว่า วงดนตรีสก๊อยปฏิวัติเริ่มอัดคลิปวิดีโอร้องเพลงเนื้อหาแนวการเมืองลงบนยูทูปช่อง ‘สก๊อยปฏิวัติ V.2 SkoiiZ Revolution’ ครั้งแรกในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 และได้ขึ้นแสดงเปิดตัวบนเวทีใหญ่ครั้งแรกที่การชุมนุมของสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอกในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม 2563 หลังจากนั้นสก๊อยปฏิวัติจึงกลายเป็นที่รู้จักในแวดวงนักกิจกรรมภาคอีสาน 

ครั้งหนึ่งช่องยูทูปของสก๊อยปฏิวัติเคยหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ แก้วจึงเปิดช่องขึ้นใหม่โดยใช้ชื่อเดิม นอกจากนั้นก็ยังเปิดเพจเฟซบุ๊ก “สก๊อยปฏิวัติ” ขึ้นมาเป็นช่องทางการสื่อสารอีกช่องทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2564 สก๊อยปฏิวัติไม่ค่อยได้อัพโหลดคลิปร้องเพลงบ่อยเท่าในปี 2563 เนื่องจากว่าทั้งเธอและอังกอร์ต่างต้องทำหน้าที่เป็นครูฝึกสอนจึงไม่ค่อยมีเวลาว่างมาทำคลิปด้วยกัน

แก้วระบุว่า นอกจากเพจสก๊อยปฏิวัติที่ทำขึ้นเพื่อขับเคลื่อนสังคมแล้ว เธอยังมี‘แก้วใส Daily Life story’ เพจเฟสบุ๊คส่วนตัวของเธอเองซึ่งเป็นเพจที่นำเสนอวิถีชีวิตของเธอในฐานะที่เป็นคนอีสานที่สอดแทรกเนื้อหาเรื่องราวความเป็นประชาธิปไตยให้กับผู้ชมทุกเพศ ทุกวัยสามารถรับชมและซึมซับเนื้อหาได้ทีละเล็กน้อยซึ่งนับว่าเป็นการขับเคลื่อนสังคมอีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นซอฟท์พาวเวอร์ที่ไม่หนักหนาเกินไป

สำหรับตำแหน่งแห่งที่ของสก๊อยปฏิวัติในหมู่ขบวนการเคลื่อนไหวภาคอีสาน แก้วระบุว่าเธอและอังกอร์เป็นเพียงกลุ่มอิสระที่อยากใช้เสียงเพลงเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหว แม้สิ่งที่สก๊อยปฏิวัติทำจะไม่ใช่สิ่งใหญ่โต แต่ก็หวังว่าจะแสดงให้เห็นถึงพลังของเด็กอีสานที่อยากเคลื่อนไหวเพื่อบ้านเกิดและสังคม 

ส่วนภาพรวมของขบวนการเคลื่อนไหวในอีสาน แก้วระบุว่านอกจากกลุ่มดาวดินที่เคลื่อนไหวในภาคอีสานมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีกลุ่มอื่นๆที่น่าสนใจเกิดขึ้นอีกหลายกลุ่ม และกลุ่มกิจกรรมเหล่านั้นก็มีการประชุมร่วมกันเป็นระยะเพื่อให้การต่อสู้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวที่ส่วนกลาง ส่วนการเคลื่อนไหวประเด็นในพื้นที่ก็จะมีประเด็นการกระจายอำนาจเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ 

ถนอม ชาภักดีและสก๊อยปฏิวัติ

เมื่อถามถึงถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์และนักปฏิบัติการทางศิลปะชาวศรีสะเกษที่เพิ่งเสียชีวิตไปในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2565 แก้วเล่าว่าเธอเคยพบกับถนอมครั้งแรกประมาณปี 2563 ในงานอบรมการเขียนข่าวที่จังหวัดขอนแก่นซึ่งจัดโดยเดอะอีสานเรคคอร์ด สื่ออิสระที่ทำข่าวเกี่ยวกับการเมือง วัฒนธรรมและสิทธิมนุษยชนอาจารย์ถนอมเคยแชร์เนื้อหาที่เกี่ยวกับเพลงที่สก๊อยปฏิวัติเล่นทางเฟสบุ๊คด้วย และได้เคยพูดคุยกัน แก้วระบุว่าเท่าที่รู้จักถนอมเป็นหนึ่งในคนที่ขับเคลื่อนเรื่องประชาธิปไตยโดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ และถนอมยังเคลื่อนไหวเรื่องความทรงจำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สามัญชนในภูมิภาคอีสานด้วย

แก้วเล่าด้วยว่า ถนอมเคยแนะนำวงสก๊อยปฏิวัติด้วยว่า ให้ใช้คอนเซ็ปความเป็นอีสานในการต่อสู้กับการกดขี่ของรัฐไทยส่วนกลาง เพราะภาคอีสานมีเรื่องราวการต่อสู้จากการกดขี่ของรัฐไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยเหตุการณ์กบฏผีบุญ หรือบรรพบุรุษของคนอีสานที่ต่อสู้กับการกดขี่ของรัฐไทยตั้งแต่สมัยปฏิรูปการปกครองรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ภาคอีสานถูกแช่แข็งการพัฒนามาโดยตลอด ภาคอีสานจึงมีเรื่องราวการต่อสู้ที่มีพลังในตัวเองและควรที่จะนำมาเป็นประเด็นในการขับเคลื่อนสังคมไทย

แก้วระบุด้วยว่า ถนอมเคยพูดกับกลุ่มสก๊อยปฏิวัติด้วยว่าให้ลองตั้งเป็นวงดนตรี หาเพลงหรือลองแต่งเพลงเป็นของตัวเองไปด้วย เพราะหากมีโอกาสในอนาคต ถนอมตั้งใจว่าจะพาวงสก๊อยปฏิวัติไปแสดงที่ต่างประเทศ แต่น่าเสียดายและน่าเศร้าที่สุดท้ายแล้วถนอมได้จากไปเสียก่อน

แก้วพบกับถนอมครั้งล่าสุดในงานกบฏผีบุญ ซึ่งถนอมเป็นเจ้าภาพร่วมกับเดอะอีสานเรคคอร์ด

สก๊อยปฏิวัติกับการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ

อรพิชญ์ คำมุงคุณ หรือ อังกอร์ สมาชิกวงอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นนักศึกษาคณะครุศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด   และเป็นครูฝึกสอนนักเรียนระดับชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนเดียวกันกับแก้วระบุว่า 

ช่วงกระแสการชุมนุมขึ้นสูงและมีการชุมนุมในหลายพื้นที่ เธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุกคามหลายครั้งตั้งแต่ช่วงก่อนและหลังจากขึ้นแสดงบนเวทีการชุมนุมของสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก 

ช่วงก่อนขึ้นเวทีชุมนุมที่จังหวัดร้อยเอ็ด เคยมีตำรวจและทหารเดินทางไปที่บ้านเกิดของเธอในจังหวัดมุกดาหารซึ่งเป็นที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์ เจ้าหน้าที่ได้ถ่ายรูปบ้าน ถ่ายรูปคุณตา คุณยายและสมาชิกในบ้านของเธอ ซึ่งอังกอร์คาดว่าเจ้าหน้าที่ทำเช่นนั้นเพื่อให้ครอบครัวของเธอตกใจและหวาดกลัวว่าลูกหลานไปทำอะไรผิดมา 

หลังจากนั้นความสัมพันธ์ภายในบ้านของเธอก็แย่ลง รวมถึงความสัมพันธ์กับคุณครูสมัยมัธยมที่อังกอร์เคยพักอาศัยอยู่ก็แย่ลงไปด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้อังกอร์รู้สึกคับแค้นใจกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอย่างมาก เพราะเธอเป็นคนที่มีประวัติดีมาโดยตลอด จนผ่านมาถึงปี 2565 เธอไม่ได้ติดต่อพูดคุยกับครูที่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับจุดยืนและการแสดงออกทางการเมืองของเธออีกเลย

หลังจากที่สก๊อยปฏิวัติขึ้นแสดงบนเวทีการชุมนุมใหญ่ของสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก  อังกอร์ก็ถูกเจ้าหน้าที่มาคุกคามอีกครั้งในประมาณสองวันก่อนที่จะมีพิธีเปิดหอโหวต สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งกรมสมเด็จพระเทพฯทรงเสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีดังกล่าว 

อังกอร์เล่าว่าในวันที่เกิดเรื่อง เธอกำลังพักผ่อนอยู่ในหอพัก ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนมากเธอจึงเปิดประตูห้องทิ้งไว้เพื่อระบายความร้อนจนกระทั่งได้ยินเสียงผู้ชายที่เคาะประตูเรียกชื่อของเธอตามห้องต่างๆ ตอนแรกเธอได้ยินไม่ชัดเจนว่าเป็นชื่อใคร จนเสียงนั้นเริ่มใกล้เข้ามาเรื่อยๆ และรู้ว่าเป็นชื่อของเธอ เจ้าหน้าที่ผู้มาเยือนแจ้งกับอังกอร์ว่าไม่ได้จะมาทำอะไรมาก เพียงแค่จะมาตรวจเช็คว่าเธอพักอาศัยอยู่ที่ไหนตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเท่านั้น เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวยังได้ถ่ายภาพห้องพักของเธอไปด้วย

อังกอร์เล่าว่าเจ้าหน้าที่รัฐมักจะมาคุกคามเธอกับแก้ว รวมถึงนักกิจกรรมในพื้นที่คนอื่นๆ ในช่วงที่พระเจ้าอยู่หัวหรือพระบรมวงศานุวงศ์จะเสด็จมาประกอบพระราชกรณียกิจในพื้นที่

อังกอร์เล่าต่อไปว่า เคยมีตำรวจมาคุกคามเธอถึงสองครั้งเมื่อในช่วงที่พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จมาประกอบพระราชกรณียกิจที่วัดเจดีย์ชัยมงคล จังหวัดร้อยเอ็ด โดยที่ในขณะนั้นเธอกำลังฝึกสอนอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์ อังกอร์เล่าว่ารอบแรกมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเช็คชื่อ และตรวจดูว่าเธออยู่ในโรงเรียนที่จังหวัดกาฬสินธุ์หรือไม่ พร้อมกับถ่ายรูปของเธอ ซึ่งเธอก็ถ่ายรูปตำรวจนายนั้นกลับไปด้วย 

ส่วนรอบสองก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยมาเฝ้ารอเธอที่บริเวณหน้าโรงเรียน โดยนั่งกินข้าวรอเธอทั้งวันจนถึงเวลาที่โรงเรียนเลิก ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ครูที่โรงเรียนหลายคนแตกตื่น เพราะบังเอิญรูปที่เธอถ่ายตำรวจนั้นได้ถ่ายติดภาพใบหน้าของครูบางคนด้วย ครูบางคนจึงรู้สึกไม่พอใจและสั่งให้เธอลบรูปดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงที่เธอกำลังฝึกสอนใกล้จบพอดี  เธอจึงตัดสินใจเปลี่ยนโรงเรียนและไม่ฝึกสอนต่อที่โรงเรียนแห่งนั้นเพราะเกรงว่าครูในโรงเรียนจะมองเธอไม่ดี

อังกอร์ระบุด้วยว่าเมื่อกระแสการชุมนุมเริ่มซาลง สก๊อยปฏิวัติจึงเปลี่ยนมาทำงานขับเคลื่อนประเด็นปัญหาชุมชนในภาคอีสานร่วมกับองค์กรพัฒนาสังคม (NGO) เช่น ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาเขื่อนและประเด็นสิทธิชุมชนในจังหวัดภาคอีสานเท่าที่จะสามารถทำได้ และในฐานะครูฝึกสอน ทั้งอังกอร์และแก้วยังมีความตั้งใจใช้ความรู้ของตัวเองสร้างประโยชน์ให้กับนักเรียนให้มากที่สุด นอกจากนั้นแก้วยังทำงานเขียนข่าวให้กับเดอะอีสานเรคคอร์ดภายใต้โครงการ Citizen Reporter ด้วย

แม้ในช่วงหลังสก๊อยปฏิวัติจะไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมทางดนตรีทั้งด้วยเหตุผลด้านเวลาที่ทั้งแก้วและอังกอร์ต่างมีภารกิจมากขึ้นและไม่มีพื้นที่โดยเฉพาะเมื่อในเวลานี้ไม่ค่อยมีการจัดการชุมนุมเหมือนในปี 2563 แต่เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันสุนธรภู่ สก๊อยปฏิวัติได้มีโอกาสขึ้นเวทีไปร้องเพลงในงานภาษาไทย ที่โรงเรียนที่พวกเธอทั้งสองทำการฝึกสอนอยู่ด้วย ในการเล่นเพลงบนเวทีครั้งนั้นทั้งสองคนได้นำเพลงสติงทั่วไปมาขับร้องควบคู่ไปกับบทเพลงการเมืองและได้พูดถึงคณะราษฎรด้วยเนื่องจากวันสุนทรภู่ห่างจากวันครบรอบ 90 ปี อภิวัฒน์สยามเพียงสองวัน แม้จะมีครูที่โรงเรียนบางคนเปรยว่าทั้งสองอาจจะพูดการเมืองแรงไปหน่อยแต่สำหรับเด็กพวกเขาดูจะสนุกสนานที่ได้ชมลีลาของสองสาวสก๊อยปฏิวัติ

บทบาทของครูกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ในฐานะที่แก้วและอังกอร์เป็นครู ทั้งสองมีความคิดเห็นเช่นเดียวกันว่าการเป็นครูมีสิทธิพิเศษอย่างหนึ่ง คือการได้อยู่และทำงานกับเด็กและเยาวชน ครูจึงมีหน้าที่กระตุ้นให้เยาวชนตั้งคำถาม หรือมีความตื่นรู้กับเรื่องที่จะส่งผลต่อวิธีคิดหรือชีวิตของพวกเขาในอนาคต  

อังกอร์ระบุว่าอาชีพครูสามารถหล่อหลอมให้คนเป็นคนแบบใดก็ได้ ถ้าครูมีคุณลักษณะเช่นใด เด็กก็มักจะมีคุณลักษณะเช่นนั้นในช่วงเวลานั้น  หากในโรงเรียนมีครูที่มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมเป็นจำนวนมากก็จะทำให้เด็กมีบุคลิกแบบหนึ่ง แต่ถ้าในโรงเรียนมีครูที่เปิดกว้างหรือหัวก้าวหน้าอยู่มากนักเรียนก็อาจจะมีทัศนคติอีกแบบหนึ่ง  ซึ่งในฐานะที่เธอเป็นครูที่มีแนวคิดเปิดกว้าง อังกอร์จะไม่ได้สอนเนื้อหาตามตำราเพียงอย่างเดียว แต่จะบอกนักเรียนของเธอด้วยว่าเรื่องแต่ละเรื่องสามารถมองได้จากหลายแง่มุม และพยายามทำให้นักเรียนรู้จักตั้งคำถาม ต่อยอด ไม่ใช่ให้นั่งฟังเพียงอย่างเดียว ซึ่งเธอหวังว่านักเรียนของเธอจะเติบโตกลายเป็นพลเมืองที่มีแนวคิดก้าวหน้าต่อไป 

อังกอร์เล่าด้วยว่าเท่าที่สัมผัส นักเรียนของเธอมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นเมื่อเทียบกับเธอสมัยที่อยู่ในช่วงวัยเดียวกับนักเรียน นักเรียนยุคนี้เริ่มมีความรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว พวกเขาสนใจการเมืองทั้งในประเทศ และนอกประเทศ อีกทั้งเธอยังสังเกตว่าเด็กส่วนใหญ่มักจะชอบพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงเรื่องสิทธิ เช่น มีการตั้งคำถามกับการถูกตัดผม ถูกหักคะแนน  นอกจากนี้ ก็ยังพบว่าเมื่อมีการประกวดหรือแข่งขันเรียงความภาษาไทย เด็กระดับชั้นมัธยมปลายก็จะมักจะชอบมีการสอดแทรกแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ และความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งเธอในฐานะครูรู้สึกภูมิใจมาก 

กิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย และมุมมองต่อมายาคติ "เด็กราชภัฏไม่สนใจการเมือง"

อังกอร์เล่าว่าสมัยเรียนอยู่ชั้นปีที่สามเมื่อปี 2563-64 เธอเคยร่วมเปิด ‘ชมรมพลังนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด’  จัดกิจกรรมที่เน้นไปในทางขับเคลื่อนสังคม และพูดถึงประเด็นการกดขี่ ระบบโซตัสในมหาวิทยาลัย ตลอดจนการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาหรือเหตุการณ์ทางการเมืองอื่นๆ 

อังกอร์เล่าต่อไปว่าในอดีต เธอเคยเป็น ‘กะทิน้อย’ หรือเป็นคนที่ค่อยไม่ตื่นรู้ทางการเมืองมาก่อน เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมที่เธออยู่อาศัยค่อนข้างห่างไกลจากความเจริญ ประกอบกับคนที่อยู่แวดล้อมเธอก็เป็นที่ค่อนข้างมีอายุ ยังคิดและเชื่ออะไรแบบเดิมๆ ตัวเธอเพิ่งจะมีความคิดทางการเมืองที่เปลี่ยนไปและ ‘ตาสว่าง’ มากขึ้นในช่วงที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยและได้มารู้จักกับแก้ว 


อังกอร์ และแก้วมีความคิดเห็นในทำนองเดียวกันว่า การพูดว่าเด็กราชภัฎไม่สนใจการเมืองเป็นการมองด้วยสายตาเหยียดหยามและเจือด้วยอคติ และหากผู้พูดเรียกตัวเองว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” และ เรียกร้องความเท่าเทียมเหมือนกันก็ถือเป็นเรื่องน่าเสียใจ 

แม้ทั้งสองจะยอมรับว่าปริมาณของนักศึกษาราชภัฎที่มีความตื่นตัวทางการเมืองอาจจะไม่มากเท่ากับนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชื่อดัง แต่การพูดเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม  เนื่องจากต้นทุนชีวิตของแต่ละคนต่างกัน การเข้าถึงทรัพยากรด้านการศึกษาที่ดีจึงต่างกันไปด้วย และส่งผลให้ความตื่นตัวตื่นรู้ทางการเมืองของแต่ละคนไม่เท่ากัน ซึ่งสาเหตุก็มาจากปัญหาการกระจายอำนาจและความเจริญที่ไม่ทั่ว แต่นักศึกษาราชภัฎหลายๆคนเองก็สนใจและมีความตื่นตัวไม่แพ้เพื่อนนักศึกษาในส่วนกลาง เพียงแต่เสียงและความเคลื่อนไหวของพวกนักศึกษาราชภัฎโดยเฉพาะในต่างจังหวัดอาจเบาเกินไปที่จะส่งถึงสื่อกระแสหลักจนทำให้สังคมไม่ได้ยินเสียงของพวกเขา

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์ 
ขอขอบคุณภาพถ่ายจาก แก้ว กชกร บัวล้ำล้ำ