Skip to main content

กลุ่มดาวดินคือกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาที่เกิดจากการวมตัวของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในบริเวณพื้นที่ชุมชนภาคอีสาน ซึ่งในเวลาต่อมาเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองมีความเข้มข้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 กลุ่มดาวดินก็ยกระดับมาเคลื่อนไหวประเด็นทางการเมืองเชิงโครงสร้างด้วยเพราะเห็นว่าหากการเมืองโครงสร้างในภาพใหญ่มีความเป็นเผด็จการก็ยากที่การขับเคลื่อนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรมจะประสบความสำเร็จ

ดาวดินกับการเคลื่อนไหวประเด็นการเมืองโครงสร้าง

ไปรเวท สมาชิกกลุ่มดาวดินรุ่น 8 ซึ่งเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นในปี 2554 เล่าว่า ในช่วงปี 2556 - 2557 ที่มีวิกฤตทางการเมือง ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็มีการจัดการชุมนุมของกลุ่มกปปส ทางกลุ่มดาวดินก็ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแต่ยังไม่ได้กำหนดท่าทีใดๆ จนกระทั่งมีการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทางกลุ่มจึงออกมาร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร 

ขณะที่บี๋ สมาชิกกลุ่มดาวดินรุ่น 10 ซึ่งเข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นในปี 2556 เล่าว่า ในวันครบบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2558 มีสมาชิกกลุ่มดาวดิน 7 คน ไปชุมนุมชูป้ายที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น ครั้งนั้นสมาชิกทั้ง 7 คน ได้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวไป ในวันนั้นเธอได้ไปอยู่ที่อนุสาวรีย์ด้วยโดยเป็นคนคอยถ่ายภาพและบันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้น หลังจากเพื่อนทั้ง 7 คน ถูกจับบี๋กับเพื่อนอีกจำนวนหนึ่งก็ได้ไปติดตามสถานการณ์ที่สถานีตำรวจและรอจนกระทั่งเพื่อนของเธอได้รับการปล่อยตัว 

ในเวลาต่อมาเธอกับเพื่อนอีกสองคนตั้งใจจะทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการนำภาพนักกิจกรรมของกลุ่มทั้ง 7 คนที่เคยถูกจับจากการชูป้ายไปวางที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น แต่เมื่อไปถึงและขี่วนรอบอนุสาวรีย์ก็พบว่ามีตำรวจอยู่มาก จึงตัดสินใจล้มเลิกแผนและจะขี่รถจักรยานยนต์กลับ ทว่าเมื่อขับไปถึงหน้าเซ็นทรัลขอนแก่นก็มีเจ้าหน้าที่มาล้อมหน้าล้อมหลังแล้วพาเธอกับเพื่อนไปควบคุมตัวในค่ายทหาร

บี๋เล่าว่าเธอถูกควบคุมตัวไม่นานเพราะเมื่อรุ่นพี่ติดต่อพวกเธอไม่ได้ก็พยายามประสานขอความช่วยเหลือจนสุดท้ายเรื่องน่าจะไปถึงเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติประจำประเทศไทยสุดท้ายเธอกับเพื่อนจึงได้รับการปล่อยตัว ครั้งนั้นแม้ว่าเธอจะไม่ต้องเซ็นชื่อใน MOU ที่นักกิจกรรมมักถูก ”ร้องขอ” ให้เซ็นยอมรับว่าจะหยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ทหารก็เก็บประวัติข้อมูลการติดต่อและรูปพรรณสัณฐานของเธอกับเพื่อนไป

สิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน แยกไม่ออกจากการเมือง

แม้ดาวดินจะเริ่มออกมาเคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังหลังการรัฐประหาร 2557 แต่ทางกลุ่มก็ไม่ได้ละเลยการเคลื่อนไหวในประเด็นทรัพยากรและสิทธิชุมชนที่เป็นภารกิจหลักของทางกลุ่ม ที่สำคัญการรัฐประหารยิ่งทำให้ทางกลุ่มเห็นภาพร่วมกันอย่างชัดเจนว่าประเด็นสิทธิชุมชนแยกไม่ออกจากประเด็นการเมืองโครงสร้าง บี๋ระบุว่าเมื่อครั้งที่เธอกับเพื่อนไปลงพื้นที่ในเมืองเลยซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีข้อพิพาทระหว่างบริษัทเหมืองแร่กับชาวบ้านที่คัดค้านการก่อสร้างเหมือง เธอพบว่ามีทหารอยู่ในพื้นที่ด้วยและเวลานักศึกษากลุ่มดาวดินไปนอนที่ไหนก็จะมีทหารคอยติดตามไปเฝ้าที่หน้าบ้านหลังนั้นด้วยซึ่งข้อนี้ทำให้เห็นว่าฝ่ายความมั่นคงและทหารให้ความสนใจคนที่ทำงานเคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาพื้นที่ด้วย ไม่ใช่แค่สนใจเฉพาะกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร 

เพราะกฎหมายไม่ได้อยู่แค่ในตำรา

ทั้งบี๋และไปเวทระบุในทำนองเดียวกันว่า การที่พวกเขาได้มาร่วมกลุ่มดาวดิน ทำให้มีโอกาสได้มองเห็นกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างจากคนที่เรียนนิติศาสตร์ทั่วไป เพราะได้เห็นว่าสิ่งที่ดูสวยหรูในชั้นเรียนกลับมีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยปัญหาในพื้นที่จริง

บี๋ระบุว่า ตอนที่เรียนเกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม ในตัวกฎหมายจะเขียนไว้อย่างสวยหรูในทำนองว่า ประชาชนต้องมีส่วนรู้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่ในความเป็นจริงเธอพบว่าเอกสารการขออนุญาตดำเนินโครงการต่างๆในพื้นที่ชุมชนที่นำมาเสนอให้กับคนในพื้นที่มักใช้ถ้อยคำบางอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนในอนาคต

ขณะที่ไปรเวทกล่าวถึงกรณีที่ บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมบางส่วนใช้กฎหมายโดยไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริงว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนที่เป็นผู้พิพากษาและอัยการมักต้องมุ่งกับการอ่านหนังสือเพื่อสอบทำให้ในช่วงที่เรียนหนังสืออาจไม่ได้เห็นว่ากฎหมายมีปัญหากับคนยากคนจนเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามก็คงไม่ใช่ทุกกรณีเพราะในความเป็นจริงบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมส่วนหนึ่งก็น่าจะเคยได้พบเห็นความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายมาบ้าง ทั้งจากประสบการณ์ตรงหรือเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนในชุมชนแวดล้อม ทว่าสิ่งที่พวกเขาเลือกทำคือการเรียนกฎหมายเพื่อเอาตัวรวด เพื่อหนีไป แต่ไม่ได้เรียนเพื่อนำมาสู้กับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น