Skip to main content

กลุ่มดาวดินคือกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาที่เกิดจากการวมตัวของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในบริเวณพื้นที่ชุมชนภาคอีสาน ซึ่งในเวลาต่อมาเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองมีความเข้มข้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 กลุ่มดาวดินก็ยกระดับมาเคลื่อนไหวประเด็นทางการเมืองเชิงโครงสร้างด้วยเพราะเห็นว่าหากการเมืองโครงสร้างในภาพใหญ่มีความเป็นเผด็จการก็ยากที่การขับเคลื่อนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรมจะประสบความสำเร็จ

การเคลื่อนไหวช่วงปี 2552 - 2555

นิติกร ค้ำชู หรือ ตอง อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นและสมาชิกดาวดินรุ่น 6 ซึ่งเข้าเรียนและเป็นสมาชิกกลุ่มดาวดินในปี 2552 เล่าว่า ในช่วงที่เขาเป็นนักศึกษาและเป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน

กิจกรรมส่วนใหญ่ของทางกลุ่มยังคงเป็นการทำงานในประเด็นปัญหาด้านทรัพยากร ที่ดิน และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคอีสาน โดยมีกรณีปัญหาที่สำคัญในขณะนั้นได้แก่  กรณีปัญหาเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดเลย กรณีปัญหาเหมืองแร่โปแตซที่จังหวัดอุดรธานี และ ประเด็นปัญหาโรงงานแป้งมันสัมปะหลังที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น
ตองระบุว่าหนึ่งในปัญหาที่สำคัญในขณะนั้นคือการที่คนในชุมชนที่จะมีการก่อสร้างโครงการพัฒนาต่างๆไม่ทราบถึงสิทธิตามกฎหมายหรือช่องทางในการคัดค้านโครงการที่มีผลกระทบต่อตัวเอง กลุ่มดาวดินจึงเข้าไปช่วยให้คำแนะนำทางด้านกฎหมาย ช่วยงานด้านการเตรียมเอกสารกรณีที่ชาวบ้านต่อสู้คดีกับเจ้าของโครงการ รวมถึงเข้าไปช่วยวางยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวในบางกรณี โดยตองระบุว่าในช่วงที่เขาร่วมเคลื่อนไหวในฐานะสมาชิกกลุ่มดาวดิน หากการเคลื่อนไหวของคนในพื้นที่มีการสอดประสานกับกลุ่ม NGO และนักศึกษาที่ไปลงพื้นที่ก็จะทำให้ขบวนมีพลังมากขึ้นและดึงความสนใจให้คนในสังคมหันมาตั้งคำถามถึงประเด็นปัญหาของพวกเขาได้ 

นอกเหนือจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มดาวดินยังร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบด้วยซึ่งเป็นปัญหาที่นักศึกษาจะได้รับผลกระทบโดยตรง ตองระบุว่าความพยายามผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นประเด็นที่ทำให้นักศึกษาในยุคของเขามีความตื่นตัวและมีการเคลื่อนไหวในลักษณะข้ามสถาบัน ทำให้ขบวนการนักศึกษาในขณะนั้นมีความตื่นตัวในระดับหนึ่ง (มหาวิทยาลัยขอนแก่นถูกนำออกนอกระบบเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐอย่างเป็นทางการในปี 2558) 

ในของการเคลื่อนไหวในประเด็นการเมืองภาพใหญ่ ตองระบุว่าในช่วงที่เขาเรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญได้แก่การชุมนุมและการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่เกิดขึ้นสองครั้ง ทั้งในปี 2552 และ 2553 ซึ่งทางกลุ่มดาวดินได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ก็ยังไม่ได้มีการกำหนดท่าทีใดๆในนามองค์กร มีเพียงสมาชิกบางคนที่ไปร่วมชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่นหลังการปราบปรามคนเสื้อแดงที่กรุงเทพในนามส่วนตัวเท่านั้น 

ยุติโครงการก่อสร้างโรงงานแป้งมันที่อำเภอน้ำพอง หนึ่งในความสำเร็จที่ต้องบันทึกไว้ความสำเร็จที่น่าประทับใจ


ตองกล่าวต่อไปว่า ในช่วงปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงปลายของชีวิตนักศึกษาของเขา คนในชุมชนที่คัดค้านการก่อสร้างโรงงานแป้งมันในพื้นที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่นประสานผ่านทางอาจารย์ท่านหนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีที่ดำรงตำแหน่งเป็นอนุกรรมการในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ขอให้นักศึกษาเข้าไปช่วยลงพื้นที่ อาจารย์ท่านนั้นจึงได้ประสานให้กลุ่มดาวดินไปลงพื้นที่ที่น้ำพองเพื่อช่วยจัดการระบบและวางแผนการเคลื่อนไหวให้กับคนในพื้นที่ควบคู่ไปกับการให้ความรู้เรื่องกลไกการใช้สิทธิตามกฎหมาย เมื่อตองเรียนจบจึงได้เข้าไปทำงานในพื้นที่อย่างเต็มตัวร่วมกับรุ่นน้องในกลุ่มดาวดินที่สลับกันไปลงพื้นที่และจัดกิจกรรมกับคนในพื้นที่ในหลายๆโอกาส 

การเคลื่อนไหวร่วมกันระหว่างคนในพื้นที่กับกลุ่มดาวดินในครั้งนั้น ทำให้โครงการก่อสร้างโรงงานแป้งมันสัมปะต้องยุติไป 2558  ส่งผลให้กลุ่มดาวดินได้รับการยอมรับมากขึ้น ตองระบุด้วยว่าตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่เขาสัมผัสได้ว่าชาวบ้านรู้สึกเอ็นดูและมองพวกเขาเสมือนเป็นลูกหลาน ส่วนตัวตองเองมองว่าสิ่งที่ประสบความสำเร็จที่สุดจากการทำงานในพื้นที่อำเภอน้ำพอง คือระหว่างการต่อสู้คนในพื้นที่ได้เรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงปัญหาของตัวเองเข้ากับปัญหาโครงสร้างของประเทศ ซึ่งส่งให้พวกเขาสามารถมองปัญหาในพื้นที่ได้อย่างเป็นระบบและวางยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวได้อย่างมีความแหลมคมมากขึ้น

บ้านดาวดินและวัฒนธรรมรวมหมู่

วัฒนธรรมการพักอาศัยแบบรวมหมู่ของนักกิจกรรมอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้วัฒนธรรมการพักอาศัยรวมหมู่ของกลุ่มดาวดินมีความพิเศษน่าจะอยู่ที่การส่งผ่าน “บ้านดาวดิน” บ้านเช่าที่ตั้งอยู่หลังมหาวิทยาลัยขอนแก่นในหมู่สมาชิกกลุ่มแบบรุ่นต่อรุ่น โดยสมาชิกกลุ่มเช่าบ้านหลังเดิมอยู่ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน (2565)
ในฐานะหนึ่งในสมาชิกกลุ่มดาวดิน ตองเองก็เคยผ่านการพักอาศัยแบบรวมหมู่ที่บ้านดาวดินมาเช่นกัน โดยตองระบุว่าบ้านดาวดินไม่เพียงเป็นสถานที่พักผ่อนของสมาชิกหากแต่ยังเป็นเสมือนพื้นที่ปลอดภัยที่สมาชิกจะได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวและประสบการณ์ต่างๆที่ได้เรียนรู้ระหว่างทำกิจกรรม รวมถึงยังเป็นที่ที่ใช้ประชุมวางแผนการทำงานด้วย โดยในบางช่วงเคยมีสมาชิกกลุ่มพักอาศัยอยู่พร้อมกันสิบถึง 20 คน

นอกจากใช้เป็นที่พักผ่อนและประชุมงานแล้ว บ้านดาวดินยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของสมาชิกกลุ่มด้วย อย่างเช่นในสมัยที่เขาเป็นนักศึกษา หากไปเช่าหอพักเองเขาอาจต้องเสียค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท แต่เมื่อมาพักที่บ้านดาวดินเขาสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้เดือนละ 1,300 - 1,400 บาท รวมทั้งอยังช่วยแบ่งเบาภาระเรื่องอาหารการกินด้วยเพราะพวกเขามักทำอาหารและแบ่งปันกันซึ่งก็ช่วยลดรายจ่ายของสมาชิกแต่ละคนได้อีกทางหนึ่ง 

ตองระบุด้วยว่าหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ ”บ้านดาวดิน” ยังคงอยู่ในฐานะบ้านพักของสมาชิกกลุ่มมาได้จนถึงทุกวันนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรุ่นพี่บางส่วนก็มักแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนสมาชิกรุ่นหลังที่บ้านรวมทั้งช่วยประคับประคองโดยเฉพาะเรื่องค่าเช่าในบางโอกาสเพื่อให้พื้นที่นี้ยังคงดำรงอยู่ในฐานะพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการวางแผน ทำกิจกรรมและสานสัมพันธ์ในหมู่
สมาชิกต่อไป 

สัมภาษณ์โดย อานนท์ ชวาลาวัณย์

ถอดความและเรียบเรียงโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์