Skip to main content

กลุ่มดาวดินคือกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาที่เกิดจากการวมตัวของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในบริเวณพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งในเวลาต่อมาเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองมีความเข้มข้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 กลุ่มดาวดินก็ยกระดับมาเคลื่อนไหวประเด็นทางการเมืองเชิงโครงสร้างด้วยเพราะเห็นว่าหากโครงสร้างทางการเมืองมีความเป็นเผด็จการ ก็ยากที่การขับเคลื่อนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรมจะประสบความสำเร็จ

จากวารสารสู่ขบวนการ

กรชนกหรือ ภพ อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มดาวดินเล่าว่า ดาวดิน ก่อตั้งขึ้นในปี 2547 โดยกลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น 11 คนที่ได้เข้าร่วมโครงการกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ลงพื้นที่ศึกษาประเด็นปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรในพื้นที่ต่างๆเป็นเวลาสองเดือน โดยนักศึกษาที่ร่วมก่อตั้งกลุ่มก็เป็นนักศึกษารุ่นแรกของคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วย เท่ากับว่าดาวดินถือกำเนิดมาพร้อมๆกับการก่อตั้งคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ภพเล่าว่าการมีโอกาสลงพื้นที่จริง ทำให้เขาและเพื่อนๆพบว่าประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสิทธิชุมชนและทรัพยากรยังไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง เนื่องจากสมัยนั้นเครือข่ายอินเทอร์เน็ตยังไม่กว้างขวางและพัฒนามากเท่ากับในปัจจุบัน เขาและเพื่อนจึงเริ่มตั้งกลุ่มชื่อว่า “กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม”และได้จัดทำวารสารเพื่อนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนต่างๆมาเผยแพร่ โดยตั้งชื่อวารสารว่า “ดาวดิน”ซึ่งต่อมาชื่อดาวดินได้ถูกคนภายนอกนำมาเรียกเป็นชื่อกลุ่มของพวกเขา

สำหรับวารสารดาวดิน ในช่วงเวลาหนึ่งจัดทำโดยได้รับทุนสนับสนุนจากคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นขอนแก่น เนื้อหาในวารสารนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิของประชาชนและประเด็นปัญหาด้านทรัพยากรและที่ดินในภาคอีสานที่ ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของหน่วยงานรัฐและเอกชน อย่างไรก็ตามในปัจจุบันไม่ได้มีการตีพิมพ์วารสารออกมาอีกแล้ว

การเคลื่อนไหวช่วงปี 2547 - 48

ภพเล่าว่าการเคลื่อนไหวของดาวดินตั้งแต่ยุคแรกตั้งคือการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรและที่ดินในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของภาครัฐและเอกชน เช่น โรงงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่ เขื่อน ในภาคอีสาน โดยการเข้าไปทำงานกับชาวบ้านของกลุ่มดาวดินจะแตกต่างไปตามเงื่อนไขของคนในแต่ละพื้นที่

หากเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านเข้มแข็งหรือมีการฟอร์มขบวนอยู่แล้วดาวดินก็จะไปหนุนเสริมในประเด็นความรู้ด้านกฎหมายหรือการรวบรวมเอกสารเพื่อต่อสู้คดีเป็นต้น แต่หากเป็นชุมชนที่ขบวนการชาวบ้านเพิ่งตั้งไข่ ดาวดินก็อาจจะเข้าไปช่วยวางยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวด้วย โดยในการทำงานแต่ละครั้งดาวดินจะเข้าไปใช้ชีวิตในพื้นที่ปัญหาร่วมกับชาวบ้านเพื่อให้เข้าใจปัญหาได้อย่างลึกซึ้งและสมาชิกในกลุ่มซึ่งเป็นนักศึกษาเองก็จะได้เติบโตไปพร้อมกับชาวบ้านในพื้นที่ด้วย ซึ่งภพและสมาชิกกลุ่มดาวดินส่วนหนึ่งยอมรับว่าเป็นวิธีการทำงานที่ทำให้การเรียนที่มหาวิทยาลัยของพวกเขาได้รับผลกระทบพอสมควร

นอกจากการทำงานกับชาวบ้านแล้วดาวดินยังทำงานกับ NGO ในพื้นที่ด้วย อาทิ สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ซึ่งทำงานกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่โปแตชที่จังหวัดอุดรธานี โดยในบางครั้งกลุ่ม NGO ก็จะเป็นคนเชื่อมให้ทางดาวดินได้ไปทำงานกับชาวบ้านในพื้นที่

นอกจากการทำงานกับชาวบ้านและ NGO แล้ว ดาวดินยังนำกิจกรรมค่ายมาเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้สมาชิกและเพื่อนนักศึกษาที่สนใจปัญหาเรื่องชุมชนหรือทรัพยากรได้มีโอกาสเรียนรู้ในพื้นที่จริง ซึ่งถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับเพื่อนนักศึกษาแบบที่ไม่มีในห้องเรียน

ภพเล่าว่าการเคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนในสมัยนั้นเป็นถือว่ามีความเสี่ยงและอันตรายกว่าในปัจจุบัน โดยสมัยที่เขาไปลงพื้นที่ในอำเภอน้ำพอง จังหวัดเลย เขาเผชิญหน้ากับนักเลงในชุมชนและเคยถูกข่มขู่ด้วยอาวุธปืน โดยในช่วงเวลานั้นมักมีการป้ายสีคนที่เคลื่อนไหวในประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมนุมทั้งนักศึกษาและเอ็นจีโอว่าเป็นพวกขัดขวางการพัฒนา

ในส่วนของการขับเคลื่อนประเด็นการเมืองโครงสร้าง ในช่วงปี 47 - 48 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่นำโดยสนธิ ลิ้มทองกุลเริ่มเคลื่อนไหวในกรุงเทพ สมัยนั้นนักศึกษาในกลบุ่มดาวดินบางส่วนก็ไปร่วมเคลื่อนไหวด้วยแต่เป็นการไปร่วมในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามกลุ่มดาวดิน ภพเล่าด้วยว่าองค์การบริหารนักศึกษาในช่วงนั้นยังจัดรถบัสให้บริการรถรับส่งฟรีสำหรับนักศึกษาที่ประสงค์ไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรที่กรุงเทพด้วย

กรณีวังสะพุง หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของดาวดิน

ภพระบุว่าดาวดินมาเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นจากการเข้าไปร่วมเคลื่อนไหวกับชาวบ้านนาหนองบงที่คัดค้านการก่อสร้างโรงงานเหมืองแร่ทองคำในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นในปี 2556 ซึ่งภพสำเร็จการศึกษาไปหลายปีแล้ว

โครงการก่อสร้างเหมืองทองคำดังกล่าวมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นหลายครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่มักจัดที่ศาลากลางจังหวัดเลย การจัดรับฟังปัญหาดังกล่าวมีปัญหาตรงที่ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยมักถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

ในการรับฟังความคิดเห็นครั้งหนึ่งซึ่งจัดที่วัดแห่งหนึ่งในอำเภอนาด้วง ครั้งนั้นมีชาวบ้านเพียง 10 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เห็นด้วยกับโครงการเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น ขณะเดียวกันก็มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาล้อมวัดเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวบ้านนาหนองบงที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้าง ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งพันคนเข้าไปในวัด ขณะเดียวกันถนนที่เป็นเส้นทางไปวัดดังกล่าวก็มีการนำซากต้นไม้และซากรถยนต์เก่ามาวางขวางถนนในลักษระจงใจปิดกั้นเส้นทางสัญจร

เมื่อเห็นว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนั้นเป็นไปอย่างไม่ชอบธรรม กลุ่มดาวดินซึ่งครั้งนั้นมีจำนวนประมาณ 20-30 คนพร้อมกับชาวบ้านนาหนองบงกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการได้ฝ่าแนวกีดขวางเข้าไปถึงหน้าวัด ในวันนั้นมีฝนตกลงมาอย่างหนัก นักศึกษากลุ่มดาวดินกับชาวบ้านพยายามเจรจาและมีการยื้อกับตำรวจเพื่อจะเข้าไปในวัด แต่สุดท้ายพวกเขาและชาวบ้านก็ไม่สามารถเข้าไปในในสถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นได้และสุดท้ายโครงการก่อสร้างเหมืองทองคำก็ผ่านความเห็นชอบและมีการก่อสร้าง อย่างไรก็ตามภาพนักศึกษากลุ่มดาวดินในชุดเสื้อนักศึกษาสีขาวเปียกฝนยื้อกับแนวเจ้าหน้าที่ ก็ถูกเผยแพร่ออกไปโดยสื่อบางสำนักจนทำให้ชื่อของกลุ่มดาวดินเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

สัมภาษณ์โดย อานนท์ ชวาลาวัณย์

ถอดความและเรียบเรียงโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์