Skip to main content

4 มิถุนายน 2565 พิพิธภัณฑ์สามัญชนร่วมกับร้าน Abdul Book ขอนแก่นและ iLaw จัดงานเสวนาเปิดตัวนิทรรศการ 112 Tales เรื่องเล่าว่าด้วย 112 โดยวงเสวนานี้ทางพิพิธภัณฑ์เชิญ ’ครูใหญ่’ อรรถพล บัวพัฒน์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองจากจังหวัดขอนแก่นและจำเลยคดีมาตรา 112 และ ณัชปกร นามเมือง จาก iLaw มาร่วมสนทนาโดยมีวีรวรรธน์ สมนึก จากร้าน Abdul Book เป็นผู้ดำเนินรายการก่อนที่ในช่วงท้าย วีรนันท์ ฮวดศรี ทนายความอาสาของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนจากมุมมองของทนายความที่ว่าความให้จำเลยคดีมาตรา 112 หลายคดีด้วย

ทั้งนี้ก่อนเริ่มการเสวนา ทางพิพิธภัณฑ์สามัญชนได้เชิญ “เมฆ ครึ่งฟ้า” มาอ่านบทกวี และเชิญครูใหญ่ อรรถพลนำหมุดอากงจำลอง ไปวางในนิทรรศการเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการและเซ็นชื่อที่ม้วนรายชื่อผู้ต้องคดี 112 ผลงานสร้างสรรค์ของ iLaw ที่นำมาจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการด้วย

วีรวรรธน์กล่าวก่อนเริ่มชวนณัชปกรและครูใหญ่สนทนาว่า ตามข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ 18 กรกฏาคม 63 จนถึง 31 พฤษภาคม 65 พบว่ามีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 195 ราย จากจำนวน 211 คดี โดยในจำนวนดังกล่าวมีอย่างน้อยสี่คนที่ถูกคุมขังโดยที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาเป็นที่สุดให้ต้องโทษจำคุก ขณะที่ผู้ต้องหาและจำเลยบางส่วนแม้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแต่ศาลก็จะตั้งเงื่อนไขมาจำกัดการเคลื่อนไหว เช่นกำหนดเวลาห้ามออกนอกเคหะสถานหรือต้องติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว

ครูใหญ่: ชะตาชีวิตเมื่อถูกฟ้องมาตรา 112

เสรีภาพหล่นที่หายและความไม่แน่นอน

อรรถพล บัวพัฒน์หรือครูใหญ่ระบุว่าเขาถูกร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีมาตรา 112 ทั้งหมดสองคดี หนึ่งในนั้นเป็นคดีที่เกิดจากการที่เขาปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์บริษัทปูนแห่งหนึ่งว่าอาจทำธุรกิจในลักษณะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในตอนหนึ่งของการปราศรัยเขากล่าวทำนองว่า บริษัทดังกล่าวมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ถือหุ้นด้วย

ซึ่งในข้อเท็จจริงพระมหากษัตริย์ไทยทรงถือหุ้นบริษัทนั้นจริง แต่การถือหุ้นกับการดำเนินงานของบริษัทเป็นคนละส่วนกัน ทว่าในสำนวนคดีเจ้าหน้าที่กลับไปเชื่อมโยงว่าสิ่งที่เข้าพูดทำให้ประชาชนเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งที่โดยปกติประชาชนทั่วไปเองก็ซื้อหุ้นของบริษัทต่างๆเช่นกันแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนเหล่านั้นจะไปรู้เห็นเป็นใจกับการทำธุรกิจโดยไม่ชอบของบริษัทเหล่านั้นด้วย

ครูใหญ่กล่าวต่อไปว่า การถูกดำเนินคดีทำให้เขาได้รับผลกระทบในหลายๆด้าน การถูกดำเนินคดีทำให้เขาเสียเวลาและโอกาสในการประกอบอาชีพเพราะต้องไปพบตำรวจ อัยการ และศาล ขณะเดียวกันการถูกดำเนินคดีก็ยังน่าจะทำให้สถาบันการเงินบางแห่งไม่อนุมัติให้เขาทำธุรกรรมประเภทสินเชื่อหรือกู้ยืม คงเป็นเพราะเกรงว่าหากเขาถูกพิพากษาจำคุกก็จะชำระหนี้ไม่ได้ ทำให้เสียโอกาสในการทำธุรกิจ

ความไม่แน่นอนในชีวิตยังทำให้เขาไม่สามารถวางแผนเรื่องการมีครอบครัวได้ ขณะเดียวกัน ผลกระทบของการถูกดำเนินคดีก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตัวของเขาเพราะคนที่อยู่รอบตัวเขาก็พลอยระแวงไปด้วยว่าจะได้รับผลกระทบเพราะรู้จักกับเขาด้วยหรือไม่ ขณะที่ผู้ปกครองของนักเรียนที่เขาเคยเป็นติวเตอร์ให้ก็กลัวว่าเขาจะไปเปลี่ยนความคิดหรือ ‘ล้างสมอง’ ลูกหลานของตัวเอง

พรมแดนความรู้ที่จำกัด

เกี่ยวกับประเด็นการศึกษา ครูใหญ่ให้ความเห็นว่าการศึกษาไทยในปัจจุบันมันไม่ใช่เรื่องที่เด็กไม่อยากเรียนหนังสือแต่เป็นเรื่องที่ระบบการศึกษาไทยไม่มีองค์ความรู้ที่ตอบโจทย์ให้กับผู้เรียนหรือไม่ให้สิ่งที่ผู้เรียนอยากเรียนรู้ ซึ่งหากกล่าวในเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ก็มีประเด็นอย่างเช่น

การสวรรคตของพระเจ้าตากและของรัชกาลที่แปดที่มีนักเรียนหลายคนอยากเรียนรู้แต่กลับหาไม่ได้ในหลักสูตร มันจึงไม่ใช่เรื่องที่ตัวเขาจะไปล้างสมองใคร แต่มันเป็นเรื่องที่ผู้เรียนอยากรู้ในสิ่งที่ผู้มีอำนาจไม่อยากให้เรียนรู้

แม้ชะตากรรมของครูใหญ่จะยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่เขาก็ยังมีความหวังถึงการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีอยู่บ้าง และเขายังเชื่อว่าในเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของชาติ การดำรงอยู่และการดำเนินการใดๆของสถาบันฯก็ย่อมมีผลกระทบต่อประเทศชาติในหลายๆมิติ หากชาติหมายถึงประชาชน ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นหรือตั้งคำถามต่อทุกสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขา

ณัชปกร: มาตรา 112 ปกป้องสถาบันหรือเป็นเพียงเกราะกำบังของอำนาจรัฐ

กลบฝังความผิดพลาดของรัฐด้วยมาตรา 112

ณัชปกร นามเมืองหรือ ‘ถา iLaw’ ระบุว่าในช่วงที่ผ่านมามีการนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาใช้ดำเนินคดีกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการแผ่นดินที่ผิดพลาดจนทำให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อน เช่น กรณีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องวัคซีนของธนาธร หรือการเขียนป้ายผ้าวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดสรรงบประมาณสถาบันฯเปรียบเทียบกับงบการซื้อวัคซีน รวมถึงกรณีการทำโพลสำรวจความเดือดร้อนผู้ได้รับผลกระทบจากขบวนเสด็จ

ทั้งสามกรณีเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐ การวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถามจึงเป็นการกระทำต่อรัฐบาล รัฐสภา รวมถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่ถวายความปลอดภัยที่เป็นผู้ปฏิบัติงาน บริหารหรือจัดสรรงบประมาณ ทว่ารัฐกลับนำมาตรา 112 มาดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์

นอกจากนั้นก็มีกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นผู้ป่วยจิตเภท ที่กระทำการไปโดยไม่มีเจตนาจะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และตามหลักน่าจะอยู่ในข่ายที่ไม่ต้องรับโทษเพราะกระทำการไปโดยไม่รู้ผิดชอบชั่วดี แต่เนื่องด้วยค่านิยมและความเชื่อเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย ทำให้ศาลดำเนินคดีและตัดสินว่าคนเหล่านั้นต้องรับโทษเฉกเช่นคนที่กระทำการโดยรู้ผิดชอบชั่วดี

ณัชปกรกล่าวต่อไปว่ามาตรา 112 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ที่ถูกดำเนินคดีหากแต่ยังส่งผลกระทบไปถึงคนในครอบครัวและคนรอบข้างของพวกเขาด้วย กรณีหนึ่งที่ตัวเขาสะเทือนใจคือคดีของจตุภัทร์หรือไผ่ ดาวดิน (คดีแชร์บทความเว็บไซต์บีบีซีไทยเรื่องพระราชประวัติรัชกาลที่สิบ) ที่คนในครอบครัวอย่างแม่และน้องสาวของเขาต้องเดินทางมาที่ศาลเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวให้ลูกชาย

ครั้งหนึ่งแม่ของไผ่เคยโขกศีรษะกับกำแพงห้องพิจารณาคดีเพื่อสื่อว่าเธอพร้อมแลกชีวิตของตัวเองกับชีวิตของลูกชายณัชปกรจึงเสนอว่าเวลาพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับมาตรา 112 ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวที่คนในสังคมอาจยังมีความเห็นแตกต่างกัน การสื่อสารโดยสร้างวัฒนธรรมการมองคนให้เป็นคนเหมือนกันอาจช่วยให้การพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับปัญหาของมาตรา 112 เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น

“เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณใช้หัวใจพยายามเข้าใจคนอื่น คุณจะถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ คุณจะพยายามหาคำตอบในการแก้ปัญหาร่วมกัน”

ณัชปกรณระบุด้วยว่า ครั้งหนึ่งมีผู้พิพากษาท่านเคยให้เหตุผลกับจำเลยคดี 112 ทำนองว่า “อย่าสู้เลย สู้ไปก็ไม่ชนะหรอก” ซึ่งข้อนี้ทำให้เห็นว่า ศาลเองอาจมีคำตัดสินในใจอยู่แล้ว นอกจากนั้นในระยะหลังศาลยังออกเงื่อนไขประกอบสัญญาประกันตัวทำนองว่า ห้ามกระทำการใดๆที่กระทบกับศาล ซึ่งข้อนี้ณัชปกรตั้งคำถามว่า เหมือนกับศาลกำลังสถาปนาตัวเองเป็นผู้ออกกฎหมาย ออกกฎห้ามคนทำอะไรที่กระทบกับศาลอยู่หรือไม่

ทางออกที่เป็นไปได้

ณัชปกรระบุว่าที่ผ่านมามีข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรา 112 สองแนวทางหลักๆ แนวทางแรกคือให้ยกเลิกมาตรา 112 และกำหนดลักษณะความผิดทางอาญาหมวดใหม่คือหมวดคุ้มครองพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ขึ้นมาแทน รวมทั้งให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 330 ของประมวลกฎหมายอาญาที่ว่าด้วยการยกเว้นโทษแก่ผู้ที่แสดงความคิดเห็นอย่างสุจริต หรือติชมเพื่อประโยชน์สาธารณะมาใช้เพื่อให้กฏหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์มีขอบเขตที่ชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็คุ้มครองผู้ที่แสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริตด้วย

ส่วนอีกหนึ่งแนวทางคือการไปแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหมิ่นประมาทในประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้ดำเนินคดีกับประชาชนทั่วไป โดยอาจจะมีการเพิ่มมาตราและกำหนดโทษให้สูงกว่าการหมิ่นประมาทคนธรรมดา แต่ไม่ใช่โทษที่สูงแบบมาตรา 112 นอกจากนั้นก็ให้มีบทยกเว้นโทษในกรณีที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือติชมโดยสุจริต ขณะเดียวกันก็ให้มีการกำหนดตัวบุคคลหรือหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการร้องทุกข์กล่าวโทษให้ชัดเจน ไม่ใช่ผู้ใดจะริเริ่มคดีก็ได้ดังที่เป็นอยู่

วีรนันท์: การตีความที่ผิดเพี้ยนนำไปสู่ความหวาดกลัวในสังคม

วีรนันท์ ฮวดศรีซึ่งเป็นทนายความที่เคยว่าความให้จำเลยคดีมาตรา 112 หลายคดี ได้ร่วมแลกเปลี่ยนด้วยว่า มาตรา 112 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในลักษณะของการใส่ร้าย ป้ายสีบุคคลที่คาดว่ามีความคิดเห็นต่างทางการเมือง จากการที่บุคคลใดก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้อย่างง่ายดาย จึงทำให้เกิดกรณีที่มีคนที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกันนำมาใช้จัดการกับคนเห็นต่าง ซึ่งในบางกรณีผู้ที่ถูกกล่าวหาก็กล่าวโทษก็เป็นคนที่เทิดทูลสถาบันฯด้วย

เมื่อถูกฟ้องคดี จำเลยต้องไปหาวิธีแก้ต่างเองซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่จำเลยไม่ได้รับการประกันตัว นอกจากนั้นการต่อสู้คดีก็เป็นไปได้อย่างไม่เต็มที่ เพราะมีบางคดีที่ศาลไม่ยอมออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญให้ ทั้งๆที่เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องอำนวยการสู้คดีตามหลักกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้น

วีรนันท์ยังยกตัวอย่างด้วยว่ามีกรณีที่มาตรา 112 ถูกทำให้น่ากลัวด้วยการนำมาใช้อย่างผิดเพี้ยน ในคำฟ้องของหลายๆคดีมีการเขียนทำนองว่า จำเลยกระทำความผิดต่อ “สถาบันพระมหากษัตริย์” อันหมายรวมถึงองคาพยพทั้งหมดของสถาบัน ทั้งที่ในประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้ใช้คำนี้แต่เขียนอย่างชัดเจนคุ้มครองเฉพาะ 4 ตำแหน่งเท่านั้น คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ความปกติที่ไม่ปกติ

วีรนันท์ระบุด้วยว่า การกล่าวอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยกลายเป็นเรื่องต้องห้ามในวงสนทนา โดยเฉพาะบทสนทนาระหว่างคู่สนทนาที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน เพราะคนที่ร่วมสนทนาอาจกลัวว่าตัวเองจะถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ได้ กลายเป็นวัฒนธรรมการพูดปกติที่ไม่ปกติในสังคมไทย

วีรนันท์มองว่าการพูดถึงสถาบันฯควรจะสามารถกระทำได้ด้วยเจตนาที่สุจริต เพื่อให้สถาบันฯดำรงอยู่อย่างถูกที่ ถูกทาง และไม่ถูกกล่าวร้ายจาบจ้วง

“ผมยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเสรีภาพ และควรจะพูดในที่สาธารณะได้โดยเจตนาที่เราสุจริต”

ถอดความและเรียบเรียงโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์