ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. คือการรวมตัวของกลุ่มคนที่ต้องการแสดงออกซึ่งจุดยืนในการปกป้องสถาบันพระะมหากษัตริย์ ด้วยการจับตาการเคลื่อนไหวที่อาจเป็นอันตรายต่อสถาบันหลักของชาติโดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งการเคลื่อนไหวในพื้นที่การชุมนุมและการเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์
หนึ่งในสมาชิกกลุ่มศปปส.ที่ให้ข้อมูลระบุว่าศปปส.คือการรวมตัวกันของประชาชนที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ โดยทางกลุ่มต้องการสร้างพื้นที่ให้ประชาชนที่รักชาติ รักสถาบันได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมปกป้องสถาบันโดยไม่จำกัดอายุ ไม่ว่าจะจะเป็นคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นใหม่ที่มีความจงรักภักดีก็สามารถเข้าร่วมกับกลุ่มศปปส.ได้
การเคลื่อนไหวของกลุ่มศปปส.เริ่มต้นจากการติดตามการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มราษฎรที่ออกมาชุมนุมโดยเฉพาะการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศข้อเรียกร้อง 10 ข้อเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทางศปปส.เห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นสถาบันหลักของชาติ จึงมีความเห็นร่วมกันว่าต้องออกมาชุมนุมตอบโต้ทุกครั้งที่กลุ่มเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันฯออกมาชุมนุม
สมาชิกของกลุ่มศปปส.หลายคนเคยร่วมชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนและกปปส.มาก่อน ทำให้รู้จักคุ้นเคยกัน เมื่อรวบรวมสมาชิกได้จำนวนหนึ่ง ทางกลุ่มก็เริ่มใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางหลักในการชักชวนประชาชนให้ออกมาร่วมกันปกป้องสถาบันฯ ทางกลุ่มจัดการชุมนุมครั้งแรกที่ตึกไทยซัมมิทซึ่งเป็นที่ทำการของอดีตพรรคอนาคตใหม่เนื่องจากทางกลุ่มเห็นว่าธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งและมีการแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่อาจกระทบต่อสถาบันฯ เท่าที่ทางกลุ่มสังเกตเวลาที่ธนาธรออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมชนำคำพูดของธนาธรมาเป็นประเด็นในการเคลื่อนไหว
ผู้ให้ข้อมูลเล่าเพิ่มเติมด้วยว่าทางกลุ่มมีอุดมการณ์ตรงกับประชาชนส่วนใหญ่ ที่รู้สึกไม่เห็นด้วยกับการดูหมิ่นจาบจ้วงสถาบัน และต้องการคงไว้ซึ่งสามสถาบันหลักของชาติ เพราะเป็นอัตลักษณ์ของคนไทย รวมถึงเป็นมรดกและประเพณีของบรรพบุรุษไทย ที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน แต่ทุกวันนี้มีคนกลุ่มหนึ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน ทำให้ศปปส.และแนวร่วมจำเป็นต้องตอบโต้ โดยใช้กฎหมายต่างๆ เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112และมาตรา 116 ดำเนินคดีกับคนที่แสดงออกในลักษณะเข้าข่ายเป็นการดูหมิ่นจาบจ้วงสถาบัน หรือยุยงปลุกปั่นให้เกิดการดูหมิ่น โดยนับจนถึงเดือนเมษายน 2565 สมาชิกกลุ่มศปปส.เป็นผู้ริเริ่มให้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงความคิดเห็นในลักษระเข้าข่ายผิดกฎหมายแล้วอย่างน้อย 50 คดี
เมื่อถามถึงเหตุผลที่ใช้กฎหมายเป็นแนวทางการเคลื่อนไหวหลักของกลุ่ม ผู้ให้ข้อมูลระบุว่าจุดเริ่มต้นของการใช้กฎหมายคือการชุมนุมของคณะราษฎรในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่มีการชุมนุมขัดขวางขบวนเสด็จของสมเด็จพระราชินีบริเวณแยกนางเลิ้ง ในวันถัดมามีตัวแทนของกลุ่มศปปส.ไปกล่าวโทษให้มีการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 กับผู้ชุมนุมเป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ จากนั้นทางกลุ่มประเมินสถานการณ์ว่าควรใช้วิธีการนี้ต่อไป จึงเริ่มดำเนินการแจ้งความในมาตรา112 ซึ่งตอนแรกไม่สามารถใช้มาตรานี้ได้ จึงมีตัวแทนของทางกลุ่มไปยื่นคำร้องร้องต่อสำนักนายกรัฐมนตรี ให้นำกฎหมายมาตรา 112 มาใช้
ศปปส.มองว่าการกล่าวโทษคดีมาตรา 112 ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง เนื่องจากคดีมาตรา 112 เป็นคดีความมั่นคง ไม่ใช่คดีการเมือง ซึ่งในการกล่าวโทษแต่ละครั้งทางกลุ่มจะรวบรวมหลักฐานทั้งคำพูด และพฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลุ่มศปปส.ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรา112 แต่เห็นว่าควรจะแก้มาตรา112 ให้มีบทลงโทษเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากในปัจจุบันมาตรา112 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 - 15 ปี ทางกลุ่มเห็นว่าควรเพิ่มอัตราโทษจำคุกเป็นตั้งแต่ 5 - 20 ปี เพราหากข้อหานี้มีอัตราโทษจำคุกสูงขึ้นก็อาจทำให้ประชาชนไม่กล้าที่ทำความผิด
ผู้ให้ข้อมูลให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าที่ผ่านมาแกนนำกลุ่มราษฎรหลายคนถูกดำเนินคดีและบางส่วนเคยถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งหากคนกลุ่มดังกล่าวกระทำสิ่งที่น่าจะเข้าข่ายความผิดอีกทางกลุ่มศปปส.ก็จะดำเนินคดีเพิ่มเติมจนทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันฯลดลง
สำหรับการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดโดยเฉพาะการกระทำความผิดบนโลกออนไลน์ หากกลุ่มศปปส.พบเห็นการกระทำก็จะทำงานร่วมกับ ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) หรือกลุ่มประชาภักพิทักษ์สถาบัน ที่มีความถนัดในการดำเนินการเรื่องนี้
ทางกลุ่มศปปส.และแนวร่วม ยังมองว่าการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางสำคัญในการให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่ที่ยังเป็นกลาง หรือยังมีความสงสัยในสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้ว่าหลายคนจะไม่ได้อ่านทุกคำที่ทางกลุ่มสื่อสาร แต่ถ้าได้เห็นผ่านตา หรือได้ดูภาพประกอบ จะทำให้มีความเข้าใจมากขึ้น และสื่อสังคมออนไลน์ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะสู้กับสื่อของฝ่ายเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีข้อความขอบคุณตอบกลับมาในเพจศปปส. แม้จะมีส่วนน้อยที่เขียนคอมเมนท์ในลักษณะต่อว่าแต่ทางกลุ่มก็เห็นว่าเป็นเรื่องปกติของการสื่อสาร
นอกจากกิจกรรมที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีและการสื่อสารโดยใช้สื่อสังคมออนไลน์แล้ว กิจกรรมหลักของกลุ่มศปปส.คือการรอรับเสด็จและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ที่ผ่านมามีสมาชิกกลุ่มช่วยกันรวบรวมเงินและสิ่งของไปบริจาคเพื่อบรรเทาทุกข์เบื้องต้นให้ประชาชน ทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยหรือรวมถึงการไปจัดกิจกรรมตามโรงเรียนในพื้นที่ชนบท
ผู้ให้ข้อมูลระบุว่าเขารู้สึกยินดีและภูมิใจกับกิจกรรมที่ทำ เพราะได้เป็นพสกนิกรที่จงรักภักดีของในหลวง และภูมิใจที่ได้รักษาประเพณีอันดีงาม และได้ตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้ให้ข้อมูลระบุด้วยว่าทางกลุ่มศปปส.ออกมาทำกิจกรรมด้วยใจ ไม่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานใด
สำหรับสัญลักษณ์ของกลุ่มศปปส. ออกแบบรูปหัวใจ ด้านในมีลวดลายธงชาติ ซึ่งสมาชิกในกลุ่มตั้งใจสื่อสารถึงความรักชาติ และด้านล่างเป็นภาพกลุ่มคน แสดงถึงประชาชนที่รักชาติ สำหรับเสื้อที่ทางกลุ่มจัดทำมีสองสี คือเสื้อสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เสื้อตัวนี้จะใช้ในการใส่ทำกิจกรรม ส่วนเสื้อสีเหลืองซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ประจำพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่เก้า ทางกลุ่มจะสวมใส่ในวันที่ไปรับเสด็จหรือร่วมกิจกรรมในวันสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ให้ข้อมูลระบุด้วยว่าเวลาสวมใส่เสื้อของศปปส.จะรู้สึกมีพลัง เพราะได้ออกมาปกป้องสถาบันหลักของชาติด้วยความภาคภูมิใจ
ผู้ให้ข้อมูลระบุว่า กิจกรรมของทางกลุ่มที่เขาประทับใจสุด คือการชุมนุมเพื่อต่อต้าน Amnesty แม้ว่าจนถึงวันที่ให้สัมภาษณ์ในเดือนเมษายน 2565 จะยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลก็ตาม โดยเหตุผลที่มองว่าเป็นกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จเป็นเพราะสมาชิกกลุ่มเห็นว่าองค์กรนอกภาค รัฐเช่น Amnesty หรือ ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งภายในประเทศ เพราะเมื่อมีการแจ้งมาตรา112 หน่วยงานเหล่านี้จะออกมาเคลื่อนไหวและยื่นประกันตัวเป็นกลุ่มแรกๆ ทางกลุ่มศปปส.จึงต้องออกมาร้องเรียนกับรัฐบาล และจะตามเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยทุกเดือนจนกว่าจะมีความคืบหน้า โดยที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของทางกลุ่มจะได้รับการตอบรับจากรัฐบาล และมีนักการเมืองที่คอยติดตามประเด็นให้ ซึ่งเป็นกำลังใจในการจัดกิจกรรมและการดำเนินคดีผู้กระทำความผิดในครั้งต่อๆไป
ผู้ให้ข้อมูลทิ้งท้ายว่า เป้าหมายระยะสั้นของกลุ่มศปปส. คือติดตามกลุ่มเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันฯที่มีพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อดำเนินคดี ส่วนเป้าหมายในระยะยาว กลุ่มศปปส.ต้องการสร้างชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงและทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนในชุมชนต่างๆ เพื่อที่จะสอนหลักความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ และต้องการที่จะเล่าความจริงให้คนรุ่นหลังฟัง เพื่อให้เห็นตะหนักถึงคุณค่าของสถาบันหลักของชาติ
หมายเหตุ ภาพกิจกรรมและป้ายจากเฟซบุ๊กเพจอย่างเป็นทางการของกลุ่ม ศปปส.