Skip to main content

กลุ่มขอนแก่นพอกันที เป็นกลุ่มกิจกรรมที่เกิดจากการรวมตัวของนักศึกษาและประชาชนในจังหวัดขอนแก่น กิจกรรมแรกที่พวกเขาทำร่วมกันคือกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ซึ่งทางกลุ่มจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นในวันที่ 12 มกราคม 2563 พร้อมกับกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่จัดขึ้นในพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศ

การจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงทำให้กลุ่มกิจกรรมต่างๆในจังหวัดขอนแก่นได้มีโอกาสทำความรู้จักในครั้งนี้ทำให้กลุ่มกิจกรรมต่างๆในจังหวัดขอนแก่นได้เริ่มทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองกัน ต่อมาเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค นักกิจกรรมที่จังหวัดขอนแก่น เช่น จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่) อรรถพล บัวพัฒน์ (ครูใหญ่) และ วชิรวิชญ์ เทศศรีเมือง (เซฟ) จึงร่วมกันจัดการชุมนุม #มข.พอกันที ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 จากนั้นในวันที่ 14 มีนาคม 2563 ก็มีการจัดการชุมนุม #มขพอกันที ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกครั้ง 

ต่อมาเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ทวีความรุนแรงขึ้นและรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเพื่อควบคุมสถานการณ์ ทางกลุ่มนักกิจกรรมจึงพักการจัดกิจกรรมและเปลี่ยนชื่อกลุ่มจาก #มขพอกันที เป็น #ขอนแก่นพอกันที เนื่องจากกลุ่มคนที่ออกมารณรงค์และทำงานร่วมกันไม่ได้มีเพียงแค่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ยังมีกลุ่มคนทำงาน นักเรียน รวมถึงประชาชนในจังหวัดขอนแก่นอีกด้วย

วชิรวิชญ์หรือเซฟ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเล่าถึงจุดเริ่มต้นของกลุ่มว่า ก่อนที่จะตั้งกลุ่มขอนแก่นพอกันที นักศึกษา ประชาชน รวมถึงกลุ่ม NGO ในจังหวัดขอนแก่นได้มีการรณรงค์ทางการเมืองในประเด็นของตนเอง เช่น ประเด็นเชิงทรัพยากร เหมือง มาก่อนอยู่แล้ว 

เซฟเล่าเหตุที่ทำให้ทางกลุ่มตัดสินใจเปลี่ยนชื่อกลุ่มจาก #มขพอกัน มาเป็น #ขอนแก่นพอกันที ว่าพวกเขาต้องการให้ขอนแก่นพอกันทีเป็นกลุ่มที่ เปิดรับความหลากหลายมากขึ้น และต้องการเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานของกลุ่ม จากที่เคยเรียกร้องในประเด็นที่หลากหลาย มาเป็นการเรียกร้องในประเด็นด้านการเมืองที่ชัดเจนยิ่งขึ้นซึ่งรวมถึงการชู 3 ข้อเรียกร้องหลักของผู้ชุมนุมราษฎร 

หลังจากสถานการณ์การระบาดของCovid19 เริ่มบรรเทาลง กลุ่มขอนแก่นพอกันทีจึงเริ่มกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งโดยเน้นทำงานขยายแนวร่วมและจัดกิจกรรมการชุมนุมภายนอกมหาวิทยาลัย 

เซฟเล่าถึงการจัดกิจกรรมครั้งที่เขาประทับใจว่า การชุมนุมครั้งที่เขาและเพื่อนๆในกลุ่มประทับใจที่สุดน่าจะเป็นการชุมนุมในวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ครั้งนั้นเป็นการจัดการชุมนุมใหญ่ของทางกลุ่มครั้งแรกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น เซฟมองว่าอนุสาวรีย์มีความสำคัญต่อการเรียกร้องประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นมรดกของคณะราษฎร และเป็นครั้งแรกที่ทางกลุ่มขยายเพดานปราศรัยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

การชุมนุมในวันนั้นมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมากจนต้องปิดถนนทั้งสองฝั่งของอนุสาวรีย์ การชุมนุมครั้งนั้นยังได้รับความสนใจจากการติดตามของสื่อมวลชนด้วย

สำหรับบรรยากาศของการชุมนุมวันนั้น เซฟเล่าว่าเป็นไปด้วยความสนุกสนาน โดยมีกิจกรรมทั้งการปราศรัย กิจกรรมบนเวที นอกจากนั้นก็มีนักเรียนจากโรงเรียนในบริเวณใกล้เคียงมาร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วย ที่สำคัญคำปราศรัยของพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) ได้ถูกนำมารวมเป็นส่วนหนึ่งในหนังสือปรากฎการณ์สะท้านฟ้า ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดไปในวันที่ 19 กันยายน 2563 ด้วย 

เซฟเล่าต่อไปว่า นอกจากการจัดกิจกรรมในพื้นที่แล้ว กลุ่มขอนแก่นพอกันทียังร่วมมือกับกลุ่มกิจกรรมอื่นๆจัดกิจกรรมทั้งในจังหวัดขอนแก่นและพื้นที่อื่นๆด้วย  เช่น แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มดาวดิน กลุ่มพื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) รวมทั้งกลุ่มนักเรียนในจังหวัดขอนแก่น

เซฟระบุว่าประชาชนในจังหวัดขอนแก่นค่อนข้างตื่นตัวในประเด็นทางการเมือง บรรยากาศของการชุมนุมก็สนุกสนาน ขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง เพราะเมื่อสังเกตบรรยากาศของกิจกรรมชุมนุมที่อื่น เช่น กรุงเทพมหานคร หรือเชียงใหม่ จะมีความรู้สึกว่าการชุมนุมจะต้องกดดัน หนักแน่น หรือมีความเครียดสูง แต่การชุมนุมในจังหวัดขอนแก่นจะต่างจากที่อื่นเนื่องจากจะมีการแทรกกิจกรรมที่ทำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมสนุกสนานและผ่อนคลาย ที่สำคัญในการชุมนุมทุกๆครั้งจะต้องมีการแสดงพื้นบ้าน หรือการแสดงที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นของจังหวัด ซึ่งข้อนี้เซฟเห็นว่าเป็นอัตลักษณ์ร่วมของการชุมนุมในพื้นที่ภาคอีสานที่บรรยากาศของการชุมนุมจะต้องสนุกสนาน ผู้ชุมนุมจะต้องไม่ออกมาประท้วงแบบสิ้นหวังหรือหดหู่

เซฟเล่าเพิ่มเติมว่าการจัดกิจกรรมทางการเมือง ทำให้สมาชิกในกลุ่มขอนแก่นพอกันทีถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน เนื่องจากจัดกิจกรรมใกล้กับสถานที่ราชการ ในบางครั้งที่การชุมนุมเข้มข้น ก็มีรถฉีดน้ำเข้ามาประจำการในพื้นที่การชุมนุม นอกจากนั้นสมาชิกในกลุ่มขอนแก่นพอกันทียังถูกดำเนินคดีพรก.ฉุกเฉินฯ และถูกดำเนินคดีจากการชักธงดำในมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ขณะที่อรรถพล บัวพัฒน์ (ครูใหญ่) ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มยังถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และ 116 จากการขึ้นปราศรัยที่กรุงเทพและที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิอีกด้วย

สำหรับการเคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาอื่นๆที่ไม่ใช่ประเด็นการเมืองเรื่องโครงสร้าง เซฟอธิบายว่าทางกลุ่มขอนแก่นพอกันทียังเคลื่อนไหวในประเด็นพื้นที่ร่วมกับกลุ่มกิจกรรมในจังหวัดขอนแก่นด้วย อาทิ ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มปฏิวัติมอดินแดง ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น

เกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ของการเคลื่อนไหวของทางกลุ่ม เซฟเล่าว่าทางกลุ่มได้มีการประชุมเพื่อสรุปบทเรียนร่วมกัน และได้ข้อสรุปว่า การชุมนุมหรือการเคลื่อนไหวทุกครั้งไม่สามามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างฉับพลันทันที สิ่งที่ผู้จัดการชุมนุมควรคาดหวังคือการต่อสู้ระยะยาว และมองการชุมนุมในฐานะกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันที่สมาชิกในกลุ่มจะได้เรียนรู้จากการทำงานทางความคิดร่วมกับประชาชน 

อย่างไรก็ตามทางกลุ่มก็ประเมินว่ากลุ่มยังไม่สามารถทำงานณรงค์ทางความคิด รวมถึงงานวิชาการ ได้ดีเท่าที่ควร ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นหนึ่งในความท้าทายเพราะถ้าการชุมนุมไม่ได้ขับเคลื่อนไปพร้อมกับการทำงานทางความคิด ประชาชนก็จะไม่มีความเข้าใจในบางประเด็น ทางกลุ่มจึงสรุปบทเรียนกันว่าในอนาคตจะต้องทำงานทางวิชาการและทำงานทางความคิดให้หนักขึ้น

สำหรับเป้าหมายของกลุ่มขอนแก่นพอกันที เซฟระบุว่าเป้าหมายระยะสั้นคือต้องทำให้รัฐบาลยุบสภาโดยเร็วที่สุด ส่วนเป้าหมายระยะยาวทางกลุ่มหวังจะขยายเครือข่ายและออกมาเป็นส่วนหนึ่งในการชุมนุมผลักดันสามข้อเรียกร้องของราษฎร 

เซฟระบุด้วยว่าทางกลุ่มต้องการทำให้พื้นที่จังหวัดขอนแก่นเป็นพื้นที่ทางการเมือง เนื่องจากการชุมนุมหรือการทำงานทางการเมืองไม่จำเป็นต้องอยู่กรุงเทพอย่างเดียว การเมืองในต่างจังหวัดรวมถึงในภูมิภาคก็มีความสำคัญเช่นกัน

สำหรับแนวคิดในการออกแบบเสื้อยืดขอนแก่นพอกันที เซฟระบุว่าเสื้อรุ่นแรกที่กลุ่มขอนแก่นพอกันทีจัดทำขึ้นมา ด้านหน้ามีภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวางไว้กลางอก เปรียบกับการมีแนวคิดประชาธิปไตยเป็นแกนหลักที่สำคัญ เป็นความหนักแน่นและจิตวิญญาณของกลุ่ม ส่วนการออกแบบลายเสื้อด้านหลังจะมีคำว่าขอนแก่นพอกันที โดยตัวอักษรดัดแปลงจากภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น เพื่อสื่อว่าเมืองขอนแก่นเป็นเมืองของประชาธิปไตย 

เซฟเล่าว่าสามารถมองตัวอักษรให้มีลักษณะคล้ายแคนได้ด้วย เนื่องจากอัตลักษณ์ของขอนแก่นเป็นเมืองหมอแคน การเป่าแคนเป็นวัฒนธรรม และศิลปะที่ใช้ในงานรื่นเริงของคนอีสาน และทุกครั้งที่มีการชุมนุมกลุ่มขอนแก่นพอกันทีก็จะเชิญวงหมอลำที่มีหมอแคนมาร่วมกิจกรรมด้วย ส่วนคำว่าพอกันทีจะออกแบบเป็นรูปนกพิราบ หมายถึงความเป็นอิสระ และมีเสรีภาพในการเคลื่อนไหวทางความคิด 

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย วรกมล องค์วานิชย์

ภาพกิจกรรมจากเพจ ขอนแก่นพอกันที