Skip to main content

สมาพันธ์ ศรีเทพ หรือเฌอ คือชื่อของเด็กหนุ่มอายุ 17 ปี ที่เสียชีวิตในช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2553 ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย. - พ.ค. 53 http://www.pic2010.org/smapan/ ระบุว่าเฌอเสียชีวิตวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ในเวลาประมาณ 8.30 น. ที่บริเวณใกล้ๆซอยรางน้ำ

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของเฌอให้ข้อมูลว่าในคืนวันที่ 14 พฤษภาคม เฌอขออนุญาตที่บ้านไปช่วยจัดกิจกรรมที่สวนเงินมีมา ย่านเจริญนครแต่ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลกลใดเฌอจึงมาอยู่ในที่เกิดเหตุและกลายเป็นอีกหนึ่งชีวิตที่ต้องสังเวยให้กับความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง แม้ว่าตัวของเฌอจะไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มนปช. ซึ่งเป็นเป้าของการสลายการชุมนุมครั้งนั้นเลยก็ตาม

หลังบุตรชายเสียชีวิต พันธ์ศักดิ์ซึ่งมีพื้นเพเป็นนักกิจกรรมทางสังคมก็มีความคิดที่จะจัดกิจกรรมบางอย่างเพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิตของลูกชาย โดยพันธ์ศักดิ์เห็นว่า

"ประวัติศาสตร์จะถูกจดจำก็ต่อเมื่อมันถูกทำให้เป็นที่จดจำ"

เนื่องจากเหตุการณ์เสียชีวิตของเฌอเป็นความทรงจำของครอบครัวโดยตรงพันธ์ศักดิ์จึงมองว่าหากทางครอบครัวไม่ทำเรื่องราวของเฌอให้เป็นที่จดจำก็คงไม่มีใครหน้าไหนมาทำให้ พันธ์ศักดิ์จึงบอกเล่าเรื่องราวของเฌอต่อสาธารณะในทุกช่องทางที่เขาพอจะทำได้ ทั้งบนเฟซบุ๊กและตามรายการทีวีต่างๆที่ได้รับเชิญไปออก

อย่างไรก็ในการจัดงานรำลึกครบรอบหนึ่งปีตรงสถานที่ที่เฌอเสียชีวิตก็ยังไม่ได้มีการฝังหมุดแต่อย่างใด มีเพียงการจัดงานรำลึกเชิงวัฒนธรรม ฌ สถานที่ที่เฌออยู่กับลมหายใจสุดท้ายในวัยเพียง 17 ปีของเขาเท่านั้น

แนวคิดเรื่องการฝังหมุดมาเป็นรูปเป็นร่างในช่วงก่อนการจัดงานรำลึกครบรอบสองปีการเสียชีวิตในวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 แม้ว่าการฝังหมุดราบไปกับพื้นจะทำให้ยากต่อการมองเห็น แต่ตัวของพันธ์ศักดิ์กลับรู้สึกว่าการฝังหมุดน่าจะสื่อความหมายได้ดีกว่าการทำอนุสาวรีย์ปูนปั้นเพราะมันเสียดสีสภาพความเป็นไปในสังคมไทยได้ดีที่สุด คือมันสะท้อนว่าแม้จะมีการสังหารประชาชนกลางเมืองหลวงก็ไม่มีใครสนใจเช่นเดียวกับหมุดที่คนอาจจะไม่เคยมองเห็น ไม่รับรู้ถึงการมีอยู่จนกว่าจะเดินมาเหยียบ หรือบางคนก็เดินเหยียบแล้วผ่านไปโดยไม่รู้สึกอะไร

หมุดเฌอ เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมจตุรัสบาง ขนาดเกือบเท่าแผ่นกระเบื้องที่ใช้ปูทางเท้าบนถนนราชปรารภฝั่งตรงข้ามซอยรางน้ำ 1 แผ่น ทำด้วยทองเหลืองผสม หน้าหมุดพิมพ์ภาพของเฌอโดยใช้วิธีกัดให้เป็นลาย ภาพบนหมุดเป็นภาพเฌอในชุดนักเรียนกำลังส่งยิ้มแบบ กวนๆ เหนือภาพมีข้อความ Cher laid down his life here. (เฌอเสียชีวิตตรงนี้) ใต้ภาพของเฌอเขียนวันที่เสียชีวิต 15.05.2010 และข้อความภาษาไทย "เฌอถูกทหารยิงเสียชีวิตที่นี่" จุดหมุดถูกฝังคือจุดเดียวกับที่ศีรษะของเฌอเคยทับอยู่ในวันที่เขาเสียชีวิต

ทางครอบครัวของเฌอเคยคิดว่าจะจัดงานครบรอบการเสียชีวิตสามปีเป็นครั้งสุดท้าย https://www.youtube.com/watch?v=H7ueeeEEv2c เพราะดูเหมือนว่าไม่ว่าจะจัดงานรำลึกต่อไปอีกกี่ปีก็เป็นเรื่องยากที่จะได้รับความยุติธรรมหรือได้รู้ความจริง

แต่สุดท้ายเมื่อใกล้ถึงวันครบรอบในปีต่อๆมา เพื่อนๆของครอบครัวศรีเทพก็จะสอบถามถึงการจัดงาน ทางครอบครัวจึงตัดสินใจจัดงานรำลึกมาตลอดทุกปี พันธ์ศักดิ์เล่าปิดท้ายแบบติดตลกว่าเจ้าของบ้านที่อยู่ตรงจุดเกิดเหตุรู้สึกแปลกใจว่าทำไมงานรำลึกของเฌอจึงเป็นงานรำลึกที่เต็มไปด้วยเสียงอึกทึก โวยวาย และเสียงหัวเราะแทนที่จะเป็นงานรำลึกไว้อาลัยแบบเงียบๆตามความเข้าใจของคนทั่วไป

ดูเหมือนว่าในความเศร้า และความสูญเสีย ความตายของเฌอได้กลายเป็นตัวเชื่อมให้ครอบครัวของเขาได้เจอกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์และเพื่อนใหม่ๆ

ทางพิพิธภัณฑ์สามัญชนขอขอบคุณคุณพันธ์ศักดิ์ที่สละเวลาบอกเล่าเรื่องราวของเฌอและให้โอกาสพิพิธภัณฑ์ของเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเฉลิมฉลองและบันทึกชีวิตของสามัญชนอีกคนหนึ่ง

หมายเหตุ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 คุณธีระพงษ์ เงินลม ศิลปินผู้สร้างสรรค์หมุดเฌอได้มอบไฟล์ต้นฉบับหมุดเฌอให้ทางพิพิธภัณฑ์เพื่อทำการเก็บรักษาและนำออกแสดงตามโอกาส หากท่านใดประสงค์จะนำไฟล์ต้นฉบับไปใช้หรือต่อยอดกรุณติดต่อทางพิพิธภัณฑ์เพื่อที่เราจะประสานงานกับทางศิลปินเจ้าของผลงาน และเรายินดีส่งไฟล์ต้นฉบับให้เมื่อได้รับความยินยอมจากศิลปิน