Skip to main content

31 พฤษภาคม 2504 ครอง จันดาวงศ์ ครูประชาบาลและสมาชิกเสรีไทยสายอีสานถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์สั่งประหารชีวิตด้วยอำนาจตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 โดยไม่ผ่านการพิจารณาคดีของศาล ข้อกล่าวหาที่ครองถูกตั้งคือเป็นกบฏต่อความมั่นคง และมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

"ครูครอง" ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าที่อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนครซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของเขา

มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าก่อนที่เพชรฆาตจะลั่นไกประโยคสุดท้ายจากปากครูครองคือ "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" และที่เหลือก็เป็นตำนาน

ป้ายกระดาษแผ่นนี้เป็นหลักฐานในคดีอาญา

ลุงสามารถ ชาวจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้จัดทำป้ายกระดาษแผ่นนี้ขึ้นมาและนำไปแจกจ่ายก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญในปี 2559 ลุงสามารถแจกจ่ายป่ายนี้โดยถ่ายเอกสารและนำไปสอดไว้กับที่ปัดน้ำฝนของรถที่จอดอยู่ในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ วัตถุประสงค์คือเพื่อรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยคณะผู็ร่างที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร คสช.

ลุงสามารถถูกจับและถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติฯแต่ท้ายที่สุดศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง 

--------------------------สรุปคำพิพากษาจากฐานข้อมูล iLaw ----------------------------------------

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำอันจะถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อยสี่ประการ คือ 1) ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การลงประชามติไม่เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย 2) ตามวรรคสอง ระบุว่า ต้องมีการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ซึ่งข้อความที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ 3) ผู้กระทำต้องมีเจตนาตามธรรมดาที่จะเผยแพร่ข้อความนั้น 4) ผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษ มุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง

เมื่อพิจารณาจากข้อความในใบปลิว คำว่า "เผด็จการ" ตามพจนานุกรม หมายถึง การใช้อำนาจบริหารเด็ดขาด โดยผู้นำคนเดียว คำว่า "พินาศ" หมายถึง เสียหายโดยสิ้นเชิง ซึ่งข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นนามธรรม เป็นการระบุถึงเรื่องทั่วๆ ไป ไม่ได้หมายถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ หากจะตีความให้หมายถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็ไม่อาจโยงไปถึงร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ บุคคลธรรมดาเมื่ออ่านข้อความในใบปลิวแล้วไม่อาจโยงไปถึงการออกเสียงประชามติได้ และบุคคลที่จะมีสิทธิออกเสียงประชามติต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ มีวุฒิภาวะพอที่จะตัดสินใจเองได้ ข้อความในใบปลิวจึงไม่อาจชักจูงใจให้ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือไปออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งได้
 
คำว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ยังเป็นคำที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และใช้กันทั่วไปในหมู่ผู้รักประชาธิปไตย ก่อนที่จำเลยจะนำมาใช้ในใบปลิว
 
พ.ร.บ.ประชามติฯ เป็นกฎหมายที่มุ่งให้เกิดความเที่ยงธรรมในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มุ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังที่มาตรา 7 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ ก็ยังระบุไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงไม่อาจตีความกฎหมายให้เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินกว่าที่จำเป็น
 
พ.ร.บ.ประชามติฯ เป็นกฎหมายอาญา ต้องตีความโดยเคร่งครัด ไม่อาจตีความว่าข้อความในใบปลิวมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ ได้ แม้โจทก์จะมีพยานเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เบิกความยืนยันว่า ข้อความดังกล่าวมีลักษณะรุนแรง เป็นการปลุกระดมทางการเมือง ก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว โจทก์ไม่มีกรรมการการเลือกตั้ง กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามาเบิกความยืนยันในประเด็นนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด ศาลพิพากษายกฟ้อง
 
กระดาษใบปลิวของกลางในคดีนี้จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เป็นความผิด เห็นสมควรให้คืนแก่จำเลย